SHARE
SCB EIC ARTICLE
08 มกราคม 2018

เศรษฐกิจยูโรโซน: เติบโตดีเกินคาดต่อเนื่อง แนะจับตาความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาค

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 3 ปี 2017 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 0.6%QOQSA2 หรือ 2.6%YOY จากการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคการผลิต ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 60.1 ในเดือนพฤศจิกายน สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 8.8% ในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานที่เริ่มฟื้นตัวยังไม่ส่งผ่านไปยังค่าจ้างและราคาสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าในประเทศถูกกดดันจากเงินยูโรที่แข็งค่าซึ่งส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.5% ในเดือนพฤศจิกายน ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ 2%

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจใน ปี 2018 ยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง แม้มีความเสี่ยงจากความวุ่นวายทางการเมืองในภูมิภาค อีไอซีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 2017 และ 2018 อยู่ที่ 2.3% และ 2.1% จากเดิมที่ 1.9% และ 1.7% ตามลำดับ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ขยายตัวดีเกินคาดต่อเนื่อง ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่ยังคงต้องติดตามประกอบด้วย 1) ประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลร่วมของ Angela Merkel ที่ไม่ราบรื่นอาจกระทบเสถียรภาพของ EU 2) ความเสี่ยงต่อการแยกตัวเป็นเอกราชของคาตาโลเนียออกจากสเปน (catalexit) 3) การเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม 2018 และ 4) การเจรจา Brexit ที่ล่าช้าและยืดเยื้อ อาจทำให้ UK จำเป็นต้องออกจาก EU ด้วยความสัมพันธ์ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งนับเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด

 

อีไอซีมองว่าความวุ่นวายทางการเมืองในแคว้นคาตาโลเนียจะไม่นำไปสู่การแยกตัวเป็นเอกราช (catalexit) แต่จะสร้างความยืดเยื้อและความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจ การที่พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวออกจากสเปนของแคว้นคาตาลันได้รับเสียงข้างมาก และเป็นฝ่ายได้จัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลว่าจะมีการผลักดันให้เกิดการเรียกร้องเอกราชขึ้นอีก อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่ารัฐบาลสเปนจะไม่ยอมให้เกิดการแบ่งแยกแคว้นคาตาโลเนียออกจากสเปน เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของสเปนอย่างมาก โดยรัฐบาลสเปนสามารถประกาศใช้มาตรา 155 ตามรัฐธรรมนูญเพื่อยึดอำนาจการปกครองตนเองจากแคว้นคาตาโลเนียคืนสู่รัฐบาลกลางได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะกระทบเศรษฐกิจคาตาโลเนีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของสเปน (ขณะที่เศรษฐกิจสเปนมีสัดส่วน 7.5% ต่อเศรษฐกิจยูโรโซนทั้งหมด) ทั้งในด้าน ภาคการผลิตที่ต้องปิดตัวชั่วคราวจากการประท้วง ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองบาเซโลนา และความเสี่ยงที่สินค้าจากคาตาโลเนียจะถูกคว่ำบาตรจากสเปน

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • เศรษฐกิจยูโรโซนที่เติบโตแข็งแกร่ง ประกอบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก ส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นกว่า 11.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.6% เมื่อเทียบกับบาท3 โดยอีไอซีคาดว่าเงินยูโรจะทรงตัวอยู่ที่ราว 1.18 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อยูโรในไตรมาสแรกของปี 2018 จาก
    แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่อง แม้ว่ายังมีความเสี่ยงทางการเมืองอยู่

  • บริษัทแอร์บัสเตรียมเม็ดเงินลงทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนในกิจการศูนย์ซ่อมอากาศยานบริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยแผนการลงทุนในครั้งนี้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนทางตรงจากยูโรโซนสู่ไทย เนื่องจากเม็ดเงินมีขนาดใหญ่ โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 18% ของการลงทุนทางตรงจากยูโรโซนสู่ไทยต่อปี

  • การส่งออกจากไทยไปยูโรโซนขยายตัว 8.2% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี ทั้งนี้ หากภาคการผลิตในยูโรโซนที่เติบโตได้ดีต่อเนื่องจะมีส่วนสำคัญให้ความต้องการสินค้าจากไทยซึ่งนำโดยคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ เติบโตต่อไปได้

2 อัตราการเติบโตเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (แบบปรับฤดูกาล)
3 อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินยูโร ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2017 เทียบกับสิ้นปี 2016


Outlook_TH_Q1_2018s_Page_14.jpg

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ