เจาะลึกเศรษฐกิจไทย ปี 2017 (ไตรมาส 1/2018)
เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม
สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2017
อีไอซีปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2017 เป็น 4.0%YOY จาก 3.6%YOY ในครั้งก่อนจากการส่งออกสินค้าที่เติบโตดีกว่าคาด ภาคการส่งออกของไทยฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในเกือบทุกหมวดสินค้า ซึ่งส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มขยับฟื้นตัวหลังจากหดตัวโดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ไม่ทั่วถึง มีเพียงสินค้าและบริการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป เช่น รถยนต์นั่งที่ยังเติบโตได้ดี ขณะที่สินค้าจำเป็นซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อของครัวเรือนส่วนใหญ่กลับชะลอตัว สาเหตุมาจากตลาดแรงงานที่ยังซบเซาทั้งจำนวนการจ้างงานและค่าแรงกลับลดลงสวนทางกับการส่งออกที่ฟื้นตัว
สรุปแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2018
เศรษฐกิจไทยในปี 2018 จะเติบโตต่อเนื่องที่ 4.0%YOY ดาวเด่นอย่างการส่งออกสินค้าและธุรกิจการท่องเที่ยวยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากหลายปัจจัยประกอบกัน อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ดี แนวโน้มการใช้จ่ายด้านไอทีของโลกที่กำลังเติบโต และการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยของหลายบริษัทในเอเชีย ในภาพรวมอีไอซีประเมินว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จะเติบโตที่ 5.0%YOY ในด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นหลังผ่านพ้นช่วงไว้อาลัย อุทกภัยในหลายจังหวัด และการพ้นโทษแบนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยอีไอซีคาดว่าในปี 2018 จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาราว 38 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัว 7.9%YOY
อีไอซีมองว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2018 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีโอกาสฟื้นตัวตามแนวโน้มการส่งออก นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณของการขยายการลงทุนในด้านอื่นๆ อีก ได้แก่ การขยายสาขาของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ การเริ่มกลับมาเปิดโครงการของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ตามโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และการลงทุนในเทคโนโลยีของบริษัทใหญ่เพื่อปรับธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตสูงก็มีแนวโน้มนำไปสู่การลงทุนในหลายด้าน อีไอซีประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเร่งอัตราการเติบโตขึ้นเป็น 3.0%YOY ในปี 2018 จาก 1.7%YOY ในปี 2017 ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2018 เติบโตได้สูงกว่าคาดคือการลงทุนของบริษัทต่างชาติในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ดี การขยายการลงทุนมีความเสี่ยงด้านการขาดแคลนแรงงาน จากการเพิ่มบทลงโทษต่อการจ้างงานแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายใน พรก. แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ซึ่งจะกระทบกับการก่อสร้างและการผลิตทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนด้านเทคโนโลยีอาจไม่สามารถหาแรงงานที่มีทักษะระดับสูง เช่น Data Scientist มาเติมเต็มความต้องการได้ นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งในประเทศ และความเสี่ยงทางการเมืองในหลายๆ ประเทศในยุโรปและในคาบสมุทรเกาหลี
ตลาดผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นเพียงบางกลุ่ม สภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซา ทำให้กำลังซื้อในปัจจุบันของครัวเรือนยังไม่พร้อมสำหรับการเพิ่มรายจ่ายด้านการบริโภคในระยะต่อไป อีกทั้งภาระหนี้ต่อรายได้ที่มีอยู่แม้จะลดลงบ้างแต่ยังถือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริโภค การบริโภคฐานรากที่ไม่แข็งแรงถือเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะรายกลางและเล็ก อย่างไรก็ตาม อีไอซีประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2018 จะสามารถเติบโตได้ที่ 3.0%YOY ถือเป็นการรักษาระดับการเติบโตได้ใกล้เคียงกับปี 2017 จากปัจจัยหนุนเฉพาะในบางกลุ่ม อาทิ การใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูง และการหมดภาระรถคันแรกที่จะช่วยสนับสนุนยอดขายรถยนต์นั่ง และ/หรือ การใช้จ่ายอื่นๆ ของกลุ่มชนชั้นกลาง การหมดช่วงไว้อาลัยก็จะทำให้กิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการตามปกติ เช่น การจัดงานรื่นเริง กิจกรรมและสื่อด้านความบันเทิง อีกทั้งรัฐยังออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
อีไอซีมองดอกเบี้ยนโยบายนิ่ง - เงินบาททรงตัวอยู่ในโซนแข็งค่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความเป็นไปได้ที่จะยังอยู่ในระดับเดิมที่ 1.50% แม้เศรษฐกิจเติบโตได้ดี ทั้งนี้เพราะครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาด้านรายได้และหนี้สิน นอกจากนี้ แรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอีไอซีมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นเพียงช้าๆ เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.1% ในด้านค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อีไอซีปรับมุมมองแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 32.0-33.0 ในช่วงปลายปี 2018 จากคาดการณ์เดิมที่ 33.5-34.5 ตามแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยก็มีความแข็งแกร่งมากขึ้นทั้งอัตราการขยายตัวและเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทำให้โดยเปรียบเทียบค่าเงินบาทมีแนวโน้มอยู่ในช่วงแข็งค่าต่อไป