SHARE
SCB EIC ARTICLE
04 มกราคม 2018

จับตาตลาดส่งออกไม้และวัสดุในเวียดนาม เติบโตสดใสไปอีก 2-3 ปี

ผลิตภัณฑ์แผ่นไม้สับ (Particle Board: PB) และแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง (Medium Density Fiber board: MDF) เป็นวัสดุทดแทนไม้จริงประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการนำเอาท่อนไม้ขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 6 นิ้ว กิ่งไม้ หรือเศษไม้ มาผ่านกระบวนการสับ บด และอัดด้วยกาวสังเคราะห์ยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์ (urea-formaldehyde) จากนั้นจึงจะนำไปขึ้นรูปเพื่อให้เป็นแผ่น โดยไม้ยางพาราถือเป็นวัตถุดิบหลักที่ผู้ประกอบการหลายๆ รายเลือกใช้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่สามารถจัดหาได้ง่าย ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ และราคาที่ไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ PB และ MDF เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมในการใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงงานปูพื้นบุผนังบ้านและอาคาร เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าไม้จริงถึง 3-4 เท่า จึงไม่แปลกที่มูลค่าตลาด PB และ MDF ของไทยจะมีอัตราการเติบโตสะสมโดยเฉลี่ยสูงถึง 8% CAGR ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนขึ้นมาแตะระดับ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2016 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดปูนซีเมนต์ โดยกว่า 80% ของมูลค่าตลาด PB และ MDF เป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ และส่วนที่เหลือเป็นการใช้ภายในประเทศ

ผู้เขียน: กณิศ อ่ำสกุล

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 มกราคม 2017

 

iStock-613869410.jpg

 

ผลิตภัณฑ์แผ่นไม้สับ (Particle Board: PB) และแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง (Medium Density Fiber board: MDF) เป็นวัสดุทดแทนไม้จริงประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการนำเอาท่อนไม้ขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 6 นิ้ว กิ่งไม้ หรือเศษไม้ มาผ่านกระบวนการสับ บด และอัดด้วยกาวสังเคราะห์ยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์ (urea-formaldehyde) จากนั้นจึงจะนำไปขึ้นรูปเพื่อให้เป็นแผ่น โดยไม้ยางพาราถือเป็นวัตถุดิบหลักที่ผู้ประกอบการหลายๆ รายเลือกใช้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่สามารถจัดหาได้ง่าย ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ และราคาที่ไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ PB และ MDF เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมในการใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงงานปูพื้นบุผนังบ้านและอาคาร เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าไม้จริงถึง 3-4 เท่า จึงไม่แปลกที่มูลค่าตลาด PB และ MDF ของไทยจะมีอัตราการเติบโตสะสมโดยเฉลี่ยสูงถึง 8% CAGR ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนขึ้นมาแตะระดับ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2016 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดปูนซีเมนต์ โดยกว่า 80% ของมูลค่าตลาด PB และ MDF เป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ และส่วนที่เหลือเป็นการใช้ภายในประเทศ

  

เมื่อพิจารณาเฉพาะตลาดส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมการผลิต PB และ MDF ไทย พบว่า มูลค่าการส่งออก PB และ MDF ของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องราว 10% ต่อปี จาก 1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2012 เป็น 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2016 และคาดว่าจะขยายตัวขึ้นไปในระดับ 3 หมื่นล้านบาท ได้ในปี 2017 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย อาทิ เกาหลีใต้, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และจีน ที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 20%, 15% และ 10% ของมูลค่าการส่งออก PB และ MDF ทั้งหมดของไทย ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตลาดอื่นๆ ที่มีขนาดรองลงมา อีไอซีพบว่าการส่งออกไปยังเวียดนามนั้นเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความน่าสนใจเนื่องจากอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออก PB และ MDF จากไทยไปยังเวียดนามนั้นสูงกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าส่งออก PB และ MDF รวมถึง 2 เท่า หรือเติบโตเฉลี่ยราว 20%CAGR ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออก PB และ MDF ไปยังเวียดนาม ในปี 2017 จะไปแตะระดับ 3 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออก PB และ MDF ทั้งหมดของไทย

 

ในอนาคต ปริมาณความต้องการบริโภค PB และ MDF ของเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับ 10% ต่อปี ไปอย่างน้อยอีก 2-3 ปี และเติบโตขึ้นไปถึง 1,100,000 ลบ.ม. ภายในปี 2020 โดยมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางสภาพเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากเวียดนาม อาทิ สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และแคนาดา เป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความสามารถในการผลิตของเวียดนามจากข้อมูลของ Food and Agriculture Organization (FAO) กลับพบว่าเวียดนามมีกำลังการผลิต PB และ MDF อยู่เพียง 400,000-500,000 แสนลบ.ม.ต่อปี ซึ่งสามารถตอบสนองได้เพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการบริโภคในประเทศเท่านั้น ภายใต้สถานการณ์ที่ความต้องการบริโภคของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่กำลังการผลิตในประเทศนั้นค่อนข้างจำกัด จะส่งผลให้ความต้องการนำเข้า PB และ MDF ของเวียดนามขยายตัวขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเวียดนามมากนักอย่าง ไทย และมาเลเซีย ที่ในปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดถึงราว 50% และ 20% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม ตามลำดับ

 

แม้เวียดนามจะเป็นที่น่าสนใจและมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคตแต่ในปัจจุบันกลับมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยเพียงไม่กี่รายที่มีการส่งออก PB และ MDF ไปยังเวียดนาม และยังไม่พบการทำตลาดของผู้ประกอบการที่มีขนาดรองลงมามากนัก ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการรุกตลาดเวียดนามที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยนั้น ได้แก่ 1) กลยุทธ์การตั้งราคาขายโดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านการควบคุมต้นทุนการผลิต (cost advantage) ที่สามารถทำได้ดีกว่าคู่แข่งหลักอย่างมาเลเซีย สะท้อนจากต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทยที่โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 70% ของยอดขาย ต่ำกว่าผู้ประกอบการมาเลเซียราว 5-10% ซึ่งมีสาเหตุมาจากความพร้อมของวัตถุดิบหลักอย่างไม้ยางพาราขนาดเล็กในไทยที่มีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้ในการผลิต PB และ MDF โดยเฉลี่ยถึงราว 2.4 แสนตันต่อปี ตรงข้ามกับปริมาณไม้ยางพาราของมาเลเซียที่มีปริมาณอยู่ค่อนข้างพอดีกับความต้องการใช้งาน ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกับปริมาณการผลิต PB และ MDF ของผู้ประกอบการไทยที่โดยเฉลี่ยจะทำการผลิตถึงปีละ 4.2 ล้านลบ.ม. สูงกว่ามาเลเซียถึง 0.7 เท่า ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จาก economies of scales ในระดับที่สูงกว่าผู้ประกอบการมาเลเซีย และ 2) กลยุทธ์ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย (distribution channels) โดยการขายผ่านนายหน้าหรือตัวแทนขาย (agents) จะเป็นตัวเลือกเหมาะสำหรับการเริ่มทำตลาดในระยะแรก เนื่องจากนายหน้าหรือตัวแทนขายสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงความต้องการของลูกค้า สามารถแนะนำลูกค้า และรวบรวมข้อมูลด้านสภาพตลาดและสภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้ ขณะที่เมื่อผู้ประกอบการเริ่มมีความรู้ ความเข้าใจในตลาดเวียดนามแล้ว ผู้ประกอบการควรพิจารณาเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านการขายตรง (direct sales) ไปยังโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าไปในตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงอย่างเวียดนามให้ทั่วถึงมากที่สุด

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ