SHARE
SCB EIC ARTICLE
18 ธันวาคม 2017

Xi Jinping Thought อุดมการณ์ สี จิ้นผิง กับการขยายอิทธิพลจีนในเวทีโลก

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ The National Congress of Communist Party of Chia ถือเป็นวาระแห่งชาติที่จัดขึ้นทุก 5 ปีในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน โดยมีสาระสำคัญคือการเลือกผู้นำประเทศและกลุ่มผู้บริหารพรรคชุดใหม่พร้อมทั้งกำหนดทิศทางปกครองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า สำหรับการประชุมครั้งที่ 19 นี้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 18 – 24 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับจ้องมาที่จีนเนื่องจากผลการประชุมมีความน่าสนใจในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุชื่อและความคิดของนายสี จิ้นผิงในรัฐธรรมนูญพรรค และคณะกรรมการถาวรโปลิตบูโรชุดใหม่ที่เหนือความคาดหมาย รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่เน้น “คุณภาพ”

ผู้เขียน: จิรามน สุธีรชาติ

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2017

 

iStock-651448234.jpg

 

 

“The Chinese nation… has stood up, grown rich, and become strong – and it now embraces the brilliant prospects of rejuvenation… It will be an era that sees China moving closer to centre stage and making greater contributions to mankind.” Xi Jinping, President of the People’s Republic of Chia

 
Source: 19th National Congress of the Communist Party of China 

 

 

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสำคัญอย่างไร?

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ The National Congress of Communist Party of Chia ถือเป็นวาระแห่งชาติที่จัดขึ้นทุก 5 ปีในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน โดยมีสาระสำคัญคือการเลือกผู้นำประเทศและกลุ่มผู้บริหารพรรคชุดใหม่พร้อมทั้งกำหนดทิศทางปกครองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า สำหรับการประชุมครั้งที่ 19 นี้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 18 – 24 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างจับจ้องมาที่จีนเนื่องจากผลการประชุมมีความน่าสนใจในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุชื่อและความคิดของนายสี จิ้นผิงในรัฐธรรมนูญพรรค และคณะกรรมการถาวรโปลิตบูโรชุดใหม่ที่เหนือความคาดหมาย รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจที่เน้น “คุณภาพ”

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการประชุมครั้งที่ 19 นี้มีอะไรบ้าง?

 

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ของนายสี จิ้นผิงเป็นไปตามความคาดหมาย พร้อมกับคณะกรรมการโปลิตบูโร (Politburo Standing Committee) ชุดใหม่ 7 คนประกอบด้วย 1) นายสี จิ้นผิง ที่ควบตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ 2) นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี 3) นายหลี จ้านซู ผู้อำนวยการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 4) นายหวาง หยาง รองนายกรัฐมนตรีสายปฏิรูป 5) นายหวัง ฮู่หนิง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ 6) นายจ๋าว เหลอจี้ เลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลาง และ 7) นายหาน เจิ้ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาเซี่ยงไฮ้ แม้ว่าคณะกรรมการถาวรโปลิตบูโรชุดใหม่จะเป็นพันธมิตรกับนายสี จิ้นผิงทั้งหมด แต่รายชื่อดังกล่าวกลับไร้เงาตัวเต็งผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำในอนาคตอย่างนายหู ชุนหัว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขากวางตุ้ง และนายเฉิน หมิ่นเอ๋อ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาฉงชิ่ง ซึ่งการขัดธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในครั้งนี้ อาจเป็นการปูทางอำนาจให้แก่นายสี จิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือการบรรจุ “อุดมการณ์สี จิ้นผิง” ว่าด้วยแนวคิดสังคมนิยมอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะสำหรับชาวจีนยุคใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญพรรค ซึ่งในประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีแค่ “แนวความคิดเหมา เจ๋อตุง” เท่านั้นที่ “ชื่อ” ของผู้นำถูกจารึกพร้อมกับแนวคิดของเขาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น นายสี จิ้นผิงจึงกลายเป็นผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลสูงสุดแห่งยุค และการต่อต้านการตัดสินใจของนายสี จิ้นผิงหมายถึงการท้าทายอำนาจรัฐธรรมนูญพรรคด้วยเช่นกัน 

 

“อุดมการณ์สี จิ้นผิง” คืออะไร?

 

อุดมการณ์สี จิ้นผิงคือหลักปฏิบัติสำหรับประชาชน เพื่อยกระดับจีนไปสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมยุคใหม่ โดยหลักปฏิบัติทั้ง 14 ข้อนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 2 ด้าน คือ 1) ด้านเศรษฐกิจ เดินหน้าให้เกิด “การปฏิรูปที่ลึกซึ้งและสมบูรณ์” และปรับใช้ “แนวคิดใหม่เพื่อการพัฒนา” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวจีนทั้งประเทศ พร้อมกับการขยายอิทธิพลของจีนในเวทีโลกภายใต้วิสัยทัศน์การสนับสนุนการสร้างอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ และ 2) ด้านการเมือง มุ่งเน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง โดยระบุให้พรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจ บังคับใช้กฎหมาย และกำกับดูแลหน่วยงานของพรรค รวมทั้งอำนาจบริหารเหนือกองทัพประชาชน นอกจากนี้ ยังตอกย้ำความสำคัญของนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งหมายถึงระบบการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า และ “หลักการจีนเดียว” ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน

 

 

Box: “อุดมการณ์สี จิ้นผิง” ว่าด้วยแนวคิดสังคมนิยมอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะสำหรับชาวจีนยุคใหม่

1. ให้อำนาจพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำในการทำงานทั้งหมด

2. ดำเนินงานโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง

3. ดำเนินการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งและสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง

4. ปรับใช้วิสัยทัศน์ใหม่เพื่อการพัฒนา

5. ส่งเสริมให้คนเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนประเทศ

6. เน้นการกำกับดูแลในทุกมิติให้เป็นไปตามกฎหมาย

7. เชิดชูค่านิยมหลักของสังคมนิยม

8. ให้ความสำคัญและยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการพัฒนา

9. สนับสนุนให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

10. แสวงหาแนวทางแบบองค์รวมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ

11. เน้นอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือกองทัพประชาชน

12. เน้นหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และสนับสนุนการรวมชาติ

13. สนับสนุนการสร้างอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ

14. ใช้การกำกับดูแลอย่างเต็มรูปแบบและเข้มงวดในการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์

 

ทิศทางนโยบายของจีนในอีก 5 ปีข้างหน้าภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิงจะเป็นอย่างไร?

 

ในช่วง 2013-2016 เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งคิดเป็นปัจจัยสนับสนุนกว่า 30% ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกัน จีนประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้อัตราความยากจนลดลงจาก 10% เหลือราว 4% เท่านั้น อีไอซีคาดว่านโยบายเศรษฐกิจของนายสี จิ้นผิงมีแนวโน้มต่อยอดความสำเร็จจากในวาระแรก และการดำเนินโยบายจะมีความรวดเร็วราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่ออำนาจตัดสินใจส่วนใหญ่อยู่ในมือของนายสี จิ้นผิง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมแทนการกำหนดตัวเลขเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนอย่างที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะเริ่มชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า แต่จะเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้
อีไอซีมองว่าจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศสังคมนิยมบนพื้นฐานพอกินพอใช้ในปี 2020 ได้อย่างไม่ยากเย็นแม้จะเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงก็ตาม นอกจากนี้ จีนยังวางเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาวที่เรียกว่า “Two Centenary Goals” เพื่อเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยในปี 2035 และต่อมาเป็นประเทศทรงอิทธิพลภายในปี 2050

 

โดยภายในประเทศ จีนจะเร่งแก้ปัญหาอุปทานส่วนเกินและจัดการรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน จีนสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมภายใต้แผน “Made in China 2025” ให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักแทนที่อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและการผลิตสินค้าเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้ง นายสี จิ้นผิงกล่าวถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบทเป็นครั้งแรก เพื่อกระจายความเจริญและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวจีนทั่วประเทศ โดยส่งเสริมภาคการเกษตรให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชนบท พร้อมเตรียมปรับปรุงระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

ในส่วนนโยบายต่างประเทศ จีนเดินหน้าเปิดเสรีทั้งด้านการค้า การลงทุน และการเงิน โดยมี Belt and Road Initiatives เป็นโครงการสำคัญสนับสนุนการขยายอิทธิพลของจีนในเวทีโลก โดยในช่วงแรกจะเป็นการสร้างเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำเชื่อมต่อจีนและต่างประเทศและการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละพื้นที่ ซึ่งต่อมาจะก่อให้เกิดโอกาสการลงทุนจำนวนมาก  โดยจีนเตรียมปรับแก้กฎหมายส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีระหว่างนักลงทุนชาวต่างชาติและนักลงทุนชาวจีน พร้อมทั้งสนับสนุนให้บริษัทเอกชนมีบทบาทในการลงทุนภายนอกประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกันจีนเริ่มเปิดเสรีภาคการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการ Belt and Road Initiatives ในอีกทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นค่าเงินหยวนและการส่งเสริมการใช้เงินหยวนในตลาดโลก หรือการเปิดตลาดหุ้นและพันธบัตรจีนภายใต้โครงการ Stock Connect และ Bond Connect

 

ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของจีนมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และเป็นผู้ลงทุนอันดับ 2 ของไทยในปี 2016 การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมทั่วประเทศจีนจะทำให้กำลังซื้อของชาวจีนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย-จีนอย่างชัดเจน และการลงทุนโดยตรงจากจีนและต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายใต้โครงการ Belt and Road Initiatives เนื่องจากไทยและภูมิภาคอาเซียนอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางสายไหมยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคต ไทยอาจได้รับการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ผ่านการค้าและการลงทุน รวมถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะดึงดูดการลงทุนไฮเทคจากจีนเข้ามาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นอกจากนี้ นักลงทุนชาวไทยจะมีบทบาทในจีนมากขึ้นจากการเปิดเสรีภาคการเงินของจีน ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการอื่นตามมาในอนาคตต่อยอดจาก Stock Connect และ Bond Connect

 

อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้ในประเทศสูง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง จากการดำเนินนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่องของจีนส่งผลให้ระดับหนี้ภายในประเทศสูงถึง 260% ของ GDP ในปี 2016 ซึ่งอยู่ในรูปของการลงทุนภาคอสังหาฯกว่า 32% ของ GDP หากเกิดภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาฯของจีน ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจภายในประเทศจีนอาจขยายวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจโลกได้ 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ