เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทยมากน้อยเพียงใด
คาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการเกิดคลื่นสึนามิที่ญี่ปุ่น เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ สูง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นน้อยลงอย่างต่อเนื่องและเริ่มพึ่งพิงตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากที่อื่นๆ มากขึ้น
ผู้เขียน: ภารดี วิวัฒนะประเสริฐ
คาดว่าการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการเกิดคลื่นสึนามิที่ญี่ปุ่น เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ สูง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นน้อยลงอย่างต่อเนื่องและเริ่มพึ่งพิงตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากที่อื่นๆ มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจะมีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ ค่อนข้างมาก โดยจากช่วงเหตุการณ์ที่กระทบการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรค SARS การเกิดสึนามิในภาคใต้ของไทย และวิกฤติเศรษฐกิจโลก จะเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าชาติอื่นๆ ทั้งในเชิงจำนวนที่ลดลงมากกว่าและมีการฟื้นตัวช้ากว่า (รูปที่ 1) โดยพฤติกรรมดังกล่าวของนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นประกอบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในไทยมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของไทยที่ฟื้นตัวจากเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นครั้งนี้มีแนวโน้มส่งผลต่อเศรษฐกิจและรายได้ของชาวญี่ปุ่นโดยตรง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องถึงการเดินทางท่องเที่ยวของชาวญี่ปุ่นในขณะเดียวกัน ในกรณีเลวร้ายที่สุด หากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นหายไปตลอดทั้งปีนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมประมาณ - 5% (contribution to growth) ทั้งนี้ เราคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2011 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 4-6% ดังนั้น หากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นไม่เดินทางมาเที่ยวไทยตลอดทั้งปีที่เหลือ จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทยในปี 2011 ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2010 มากนัก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทที่มีจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะโรงแรมและรีสอร์ทในกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่และพัทยาซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ชาวญี่ปุ่นนิยม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการท่องเที่ยวไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวญี่ปุ่นน้อยลง และเริ่มกระจายตลาดไปยังนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ มากขึ้น ผลกระทบจึงน้อยลงกว่าช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมีจำนวนเป็นอันดับสามของการท่องเที่ยวไทย จากที่เคยมีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในช่วงปี 1997-2000 โดยสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่องโดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ยังทรงตัวประกอบกับความอ่อนไหวต่อปัจจัยและเหตุการณ์ต่างๆ มากกว่าชาติอื่นๆ ดังที่กล่าวในข้างต้น ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมีสัดส่วน 6% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลดลงจาก 13% ในปี 2000 (รูปที่ 2) |
![]() |
|
|||
|