SHARE
IN FOCUS
01 พฤศจิกายน 2017

สี จิ้นผิงสานต่อความฝันจีนก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” ขึ้นแท่นผู้นำทรงอิทธิพลสูงสุด

มติเอกฉันท์แต่งตั้งนายสี จิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่ 2 พร้อมทั้งบรรจุ “อุดมการณ์สี จิ้นผิง” แนวคิดสังคมนิยมว่าด้วยคุณลักษณะเฉพาะสำหรับชาวจีนยุคใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญพรรค ส่งผลให้นายสี จิ้นผิงกลายเป็นผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลสูงสุดเทียบเท่าประธานเหมา เจ๋อตุงผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศจีนและการเดินหน้าเปิดเสรีด้านการค้า การลงทุน และการเงินกับต่างชาติจะเร่งความเร็วและความเข้มข้นขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

ผู้เขียน: จิรามน สุธีรชาติ

 

iStock-862557404.jpg

 

Highlight

  • มติเอกฉันท์แต่งตั้งนายสี จิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่ 2 พร้อมทั้งบรรจุ “อุดมการณ์สี จิ้นผิง” แนวคิดสังคมนิยมว่าด้วยคุณลักษณะเฉพาะสำหรับชาวจีนยุคใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญพรรค ส่งผลให้นายสี จิ้นผิงกลายเป็นผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลสูงสุดเทียบเท่าประธานเหมา เจ๋อตุงผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์

  • การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศจีนและการเดินหน้าเปิดเสรีด้านการค้า การลงทุน และการเงินกับต่างชาติจะเร่งความเร็วและความเข้มข้นขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

 

ปิดฉากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 18-24 ตุลาคมลง นายสี จิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่ 2 พร้อมคณะกรรมการถาวรโปลิตบูโรชุดใหม่อีก 7 คน โดยนอกจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่ควบตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงแล้ว ยังมีคณะกรรมการถาวรอีก 5 คน ซึ่งเป็นหน้าใหม่ทั้งหมด ได้แก่ 1) นายหลี จ้านซู ผู้อำนวยการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 2) นายหวาง หยาง รองนายกรัฐมนตรีสายปฏิรูป 3) นายหวัง ฮู่หนิง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ 4)นายจ๋าว เหลอจี้ เลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลาง และ 5) นายหาน เจิ้ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาเซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ตาม ตัวเต็ง ผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำในอนาคตอย่าง นายหู ชุนหัว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สาขากวางตุ้ง และนายเฉิน หมิ่นเอ๋อ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สาขาฉงชิ่ง กลับไม่ได้รับเลือกเข้ามานั่งในคณะกรรมการถาวร จึงมีการคาดการณ์ว่านายสี จิ้นผิงเตรียมดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3

 

อุดมการณ์สี จิ้นผิง 14 ข้อที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญพรรคเป็นหลักปฏิบัติเพื่อนำจีนไปสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ที่เจริญรุ่งเรือง แข็งแกร่ง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยมีประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจคือ การเรียกร้อง “การปฏิรูปที่ลึกซึ้งและสมบูรณ์” พร้อมปรับใช้ “แนวคิดใหม่ๆ เพื่อการพัฒนา” การกำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวจีนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และการขยายอิทธิพลของจีนในเวทีโลกภายใต้วิสัยทัศน์สนับสนุนการสร้างอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ในขณะที่สาระสำคัญทางการเมืองมุ่งรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง โดยเน้นอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในการตัดสินใจ บังคับใช้กฎหมาย และกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ รวมถึงอำนาจของพรรคเหนือกองทัพประชาชน ตอกย้ำความสำคัญของนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งหมายถึงจีนแผ่นดินใหญ่และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า และ “หลักการจีนเดียว” ตรึงความสัมพันธ์จีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน

 

5 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง จีนได้ก้าวเข้าสู่ “ยุคใหม่” นำมาซึ่งความสำเร็จที่สำคัญหลายประการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เศรษฐกิจจีนเร่งตัวอย่างรวดเร็วส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นเป็น 80 ล้านล้านหยวน ซึ่งคิดเป็นปัจจัยสนับสนุนราว 30% ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 2013-2016 โดยโครงสร้างเศรษฐกิจจีนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่สำคัญคือเศรษฐกิจดิจิทัล และผลงานด้านเทคโนโลยีอีกมากมาย เช่น รถไฟความเร็วสูง โดรนส่งสินค้า รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ผลประกอบการการค้าและการลงทุนกับต่างชาติของจีนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก โดยเฉพาะโครงการ Belt and Road Initiatives ในเวลาเดียวกันโครงการช่วยเหลือคนยากจนในจีนก็ประสบผลสำเร็จ ทำให้ประชากรกว่า 60 ล้านคนพ้นขีดความยากจน ส่งผลให้อัตราความยากจนของจีนลดลงจากราว 10% เหลือต่ำกว่า 4% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ความสำเร็จที่เด่นชัดที่สุดของนายสี จิ้นผิงคือ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันและการปรับโครงสร้างการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มที่นั่งให้แก่พันธมิตร ส่งผลให้อำนาจของนายสี จิ้นผิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

สี จิ้นผิงกลายเป็นผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุค คาดการณ์ว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองจีนใน 5 ปีข้างหน้าจะเป็นไปอย่างราบรื่น ใน 5 ปีที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิงให้ความสำคัญในการกวาดล้างคอร์รัปชันอย่างมาก ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ในประเทศที่สูงถึง 260% ของ GDP การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพและ zombie companies ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ความสำเร็จในการรวมอำนาจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกอบกับคณะกรรมการถาวรโปลิตบูโรชุดใหม่ที่มีแนวคิดทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองในทิศทางเดียวกับเขา จะส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นไปอย่างราบรื่นรวดเร็ว นอกจากนี้ การบรรจุชื่อของนายสี จิ้นผิงไว้ในรัฐธรรมนูญของพรรค ยังส่งสัญญาณเตือนใครก็ตามที่ท้าทายอำนาจตัดสินใจของนายสี จิ้นผิง ถือเป็นภัยคุกคามต่อการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

 

จีนเดินหน้าเปิดประเทศ ให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ชูการพัฒนาชนบทเป็นครั้งแรก มุ่งสู่การเป็นประเทศทรงอิทธิพลภายในปี 2050 นายสี จิ้นผิงไม่ได้กล่าวถึงเป้าหมายตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้เหมือนที่ผ่านมา แต่มุ่งเน้นประเด็นสำคัญไปที่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพ เป็นนัยสำคัญว่าอัตราการเจริญเติบโตของ GDP จีนจะค่อยๆ ชะลอลงในระยะต่อไป แต่เป็นไปเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว

 

  • จีนเดินหน้าเปิดประเทศ ส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเสมอภาค เตรียมปรับแก้กฎหมายกีดกันทางการค้า สนับสนุนการพัฒนาของบริษัทเอกชน และผ่อนคลายมาตรการการเข้าตลาดของธุรกิจและบริการ โดยได้เริ่มเปิดเสรีภาคการเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศแล้ว

  • Belt and Road Initiatives เมกะโปรเจกต์ส่งเสริมการเปิดประเทศและความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับต่างชาติ ที่ผ่านมาโครงการเน้นพัฒนาการเชื่อมต่อทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างจีนและต่างประเทศ โดยจีนมีความตั้งใจจะใช้นโยบายสนับสนุนการค้าและการลงทุนแบบเสรีให้นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองจีน พร้อมเน้นย้ำว่าโครงการ Belt and Road Initiatives มอบประโยชน์แก่ทุกฝ่าย หากจีนสามารถผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นกับนานาประเทศภายใต้โครงการ Belt and Road Initiatives ได้สำเร็จ อิทธิพลของจีนในเวทีโลกจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

  • เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง เท่าเทียมทั้งในเมืองและชนบทเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวจีนทั้งประเทศ โดยแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่สมดุลด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาชนบท ครอบคลุมการปฏิรูประบบบริหารเขตเมืองและชนบทให้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น สนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรรมทันสมัยและธุรกิจส่วนตัวที่เพิ่มรายได้ให้แก่คนในชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ จีนยังยกให้การศึกษามีความสำคัญอันดับหนึ่ง ผลักดันการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศและสร้างแรงงานที่มีความรู้ระดับอุดมศึกษาให้มากขึ้น พร้อมกันนี้จีนจะเร่งสร้างระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง เตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุอย่างแข็งขัน โดยนายสี จิ้นผิงกล่าวว่า จีนจะต้องบรรลุการเป็นประเทศสังคมนิยมบนพื้นฐานพอกินพอใช้ในปี 2020 เป็นสังคมนิยมที่ทันสมัยในปี 2035 และกลายเป็นประเทศทรงอิทธิพลภายในปี 2050

  • เร่งการพัฒนานวัตกรรมภายใต้แผน “Made in China 2025” นับตั้งแต่ปี 2015 จีนมีแผนการที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศทั้งหมดให้เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค โดยให้การสนับสนุนด้านนโยบายและการเงิน การออกกฎหมายคุ้มครอง การจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการอัดฉีดเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จของแผน Made in China 2025 ทำให้จีนมีผลงานด้านเทคโนโลยีมากมาย อาทิ ห้องทดลองอวกาศเทียนกง ยานดำน้ำสำรวจทะเลลึกพร้อมมนุษย์เจียวหลง กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ จีนยังได้สร้างบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Baidu, Alibaba และ Tencent ซึ่งเทียบได้กับ Google, eBay และ Facebook ของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันบริษัทจีนเหล่านี้ก็รับนโยบายจากรัฐบาลให้ร่วมกันทำวิจัยด้านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทั้งนี้ การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมของโลกก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของจีนภายในปี 2050 อีกด้วย 

 

Implication.png

Implication.gif

  • อีไอซีมองว่านโยบายเศรษฐกิจจีนของสี จิ้นผิงมีแนวโน้มต่อยอดความสำเร็จจาก 5 ปีแรก การได้ดำรงตำแหน่งผู้นำจีนเป็นสมัยที่ 2 ของนายสี จิ้นผิงทำให้การดำเนินนโยบายมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศและการขยายอิทธิพลและผลประโยชน์ของจีนนอกประเทศ และด้วยอำนาจการตัดสินใจที่เด็ดขาดมากขึ้น อีไอซีคาดว่าโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเปิดประเทศ และโครงการ Belt and Road จะเห็นผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนกว่า 12% ของการส่งออกทั้งหมด และเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ของไทยราว 16% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติทั้งหมดในปี 2016 การเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็งขึ้นและประชากรจีนมีกำลังซื้อมากขึ้น ภาคการส่งออกของไทยได้รับอานิสงส์โดยตรง เห็นได้จากการส่งออกของไทยไปจีนที่ขยายตัวถึง 28% ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2017 จากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวและความต้องการสินค้าไทยที่เพิ่มขึ้นของจีน ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวไทยจะคึกคักยิ่งขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและรายได้ของชาวจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของการขยายอิทธิพลในต่างประเทศของจีนผ่านโครงการ Belt and Road Initiatives และการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนกับต่างชาติ จะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนจากจีนไหลเข้าสู่ภูมิภาคและไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี อีไอซีคาดว่าในอนาคตเมื่อจีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านไฮเทคไทยจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีจากจีนผ่านการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ การเริ่มเปิดเสรีทางการเงินของจีนยังเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในภาคการเงินของจีนมากขึ้น เช่น นโยบาย Bond Connect ที่เริ่มในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

รูปที่ 1: โครงสร้างพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 19

 

new_pic_china01.jpg

 

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Goldman Sachs Global Investment Research

 

 

 

รูปที่ 2: อุดมการณ์สี จิ้นผิง แนวคิดสังคมนิยมว่าด้วยคุณลักษณะเฉพาะสำหรับชาวจีนยุคใหม่

pic02.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Chinadaily

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ