SHARE
IN FOCUS
20 กันยายน 2017

นวัตกรรมข้าวไทย โอกาสในอุตสาหกรรมการแพทย์และความงาม

ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย ที่ปัจจุบันสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์และความงามได้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูง จากการที่ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพและความงามมากขึ้น โดยข้าวสามารถแปรรูปได้เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านทันตกรรมและการผ่าตัดได้ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ มีความปลอดภัยและมีราคาที่ถูกกว่า ซึ่งนวัตกรรมข้าวไทยนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย นอกจากนี้ จะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศและทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวได้ในอนาคต

ผู้เขียน: ธันยาพร เล้าโสภาภิรมย์

 

 

 iStock-624355714.jpg

 

 

Highlight

  • ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย ที่ปัจจุบันสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์และความงามได้ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูง จากการที่ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพและความงามมากขึ้น โดยข้าวสามารถแปรรูปได้เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านทันตกรรมและการผ่าตัดได้ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ มีความปลอดภัยและมีราคาที่ถูกกว่า ซึ่งนวัตกรรมข้าวไทยนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย นอกจากนี้ จะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศและทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวได้ในอนาคต

     

  • อีไอซีมองว่าการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและการขยายช่องทางการทำการตลาดจะเป็นความท้าทายสำคัญในการลงทุนและยกระดับผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และความงามจากข้าวไทย โดยภาครัฐและภาคเอกชนควรส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากข้าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาคเอกชนควรหาพันธมิตรจากทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ การขยายช่องทางการตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และความต้องการของผู้บริโภค จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และความงามจากข้าวไทยเป็นที่รู้จักและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

 

การใช้นวัตกรรมในการแปรรูปข้าวไปเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และความงามสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าข้าวไทยได้ ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย โดยนอกจากจะนำมาบริโภคเป็นหลักแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และความงามได้อีกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคในทุกช่วงวัยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความงามมากขึ้น จากการสำรวจของอีไอซีพบว่าคนทุกช่วงวัยเริ่มหันมาสนใจสุขภาพและความงาม โดยกลุ่มวัย 41-60 ปี มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ความงามมากถึง 66% และจะมีความกังวลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และความงามจากข้าวสามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับข้าวไทยได้ โดยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นได้ในอนาคต จากที่ปัจจุบันข้าวมีความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนของราคาและความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศและราคาส่งออกลดลงถึง 4% ต่อปี (รูปที่ 1) ในช่วงปี 2011-2016

ผลิตภัณฑ์ความงามจากข้าวมีแนวโน้มเติบโตสูง ตามการเติบโตของมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ความงามของไทยที่เพิ่มขึ้นถึง 8% ต่อปีในช่วงปี 2011-2016 และจะมีมูลค่าสูงถึงราว 1.3 แสนล้านบาทในปี 2020 โดยมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีสัดส่วนสูงถึง 75% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ความงามทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่มเครื่องสำอาง 22% ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับใบหน้าในกลุ่มเครื่องสำอาง โดยเฉพาะแป้งมีมูลค่าตลาดสูงถึง 4.4 พันล้านบาทในปี 2016 ปัจจุบันไทยสามารถผลิตแป้งฝุ่นและแป้งอัดแข็งจากแป้งข้าวเจ้าได้ มีความปลอดภัย สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติปลอดสารเคมีมากขึ้น จากผลสำรวจของอีไอซีพบว่ากลุ่มคนวัย 41-60 ปี มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากที่สุดถึง 51% (รูปที่ 2) รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้ถึง 46% นอกจากนี้ ไทยยังสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากการพัฒนาสเต็มเซลล์จากข้าวหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดริ้วรอยและมีราคาถูกกว่าครีมสเต็มเซลล์จากต่างประเทศราว 7 เท่า อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและยุโรป ตามเทรนด์การชะลอวัยที่เป็นที่นิยมมากขึ้น

นอกจากนี้ ข้าวยังสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมการแพทย์ได้ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้าน  ทันตกรรมและการผ่าตัด อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่รัฐบาลส่งเสริม ซึ่งปัจจุบันไทยนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศสูงถึงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยเครื่องมือแพทย์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งมีอัตราการเติบโตของการนำเข้าสูงที่สุดราว 10% ต่อปี ในช่วงปี 2011-2015 (รูปที่ 3) แผ่นฟองน้ำห้ามเลือดจากข้าวเป็นนวัตกรรมทดแทนแผ่นห้ามเลือดจากเจลาตินนำเข้า มีราคาถูกกว่าถึง 3 เท่าและสามารถช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทห้ามเลือดและทำแผลที่มีสัดส่วนการนำเข้าราว 19% ของผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งทั้งหมดในอนาคตได้ เนื่องจากแผ่นห้ามเลือดเป็นสิ่งที่จำเป็นในการผ่าตัด มีการใช้สูงถึง 2 แสนชิ้นต่อปี นอกจากนี้ การผลิตเจลยาชาจากข้าวเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดในการรักษาทางทันตกรรมบางอย่าง ยังเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมทันตกรรมของไทยซึ่งเป็นประเทศจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวเชิงทันตกรรมอันดับ 2 ของโลกอย่างมาก โดยจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเจลยาชาได้ถึง 10 เท่า ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากข้าวเริ่มมีการใช้ในประเทศแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้ได้ พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของการลงทุนและยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวคือการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและการทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมการแพทย์และความงามจากข้าวในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้รับการรับรองมาตรฐานในด้านประสิทธิภาพและคุณภาพเทียบเท่าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งร่วมวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก นอกจากนี้ การทำการตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ความงาม ที่พบว่าผู้บริโภคกว่า 57% เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ความงามผ่านทั้งทางร้านและอินเทอร์เน็ต การที่มีช่องทางการขายสินค้ามากกว่าช่องทางเดียวจะช่วยให้ผู้บริโภคมีช่องทางใหม่ๆ ในการเลือกซื้อสินค้าและยังทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในตลาดมากยิ่งขึ้น

 

Implication.png

Implication.gif

  • ภาครัฐและภาคเอกชนควรส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากข้าวอย่างต่อเนื่อง อีไอซีมองว่าอุตสาหกรรมการแพทย์และความงามจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยได้อย่างมาก หากภาครัฐและภาคเอกชนช่วยส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาคเอกชนควรหาพันธมิตรจากทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะยกระดับผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และความงามจากข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

  • ผู้ประกอบการควรหาช่องทางการทำการตลาดที่เหมาะสมและมุ่งเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยผู้ประกอบการควรวางแผนการลงทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายและวางเป้าหมายขยายช่องทางการทำการตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และความต้องการในแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้น

 

รูปที่ 1: ราคาข้าวเปลือกเจ้า 15% และราคาส่งออกข้าวขาว 5%
หน่วย: บาทต่อตัน

 

 

 1.png

 

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 

 
รูปที่ 2: ผลสำรวจความต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติปลอดสารเคมี

หน่วย: % ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดในแต่ละช่วงวัย

 

 

 2.png

 

 


ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC

 

 

รูปที่ 3: มูลค่าการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ของไทย
หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

3.png

 

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BMI

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ