SHARE
IN FOCUS
03 ธันวาคม 2012

รถไฟความเร็วสูง ใครได้ ใครเสีย?

ภายใต้กรอบแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง ปี 2013-2020 มูลค่า 2 ล้านล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สาย มีมูลค่าการลงทุนรวมสูงที่สุดถึง 4.81 แสนล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สายเร่งรัดที่รัฐประกาศว่าจะเริ่มเปิดใช้บริการประมาณปี 2018 ระยะทาง 745 กิโลเมตร รถไฟวิ่งด้วยความเร็ว 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง สู่ใจกลางเมือง ประมาณราคาค่าโดยสารไว้ที่ 1,200 บาทต่อเที่ยว ใครมีแนวโน้มได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ จากรถไฟความเร็วสูงสายนี้บ้าง?

ผู้เขียน:  ดร.ศิวาลัย ขันธะชวนะ

186993222.jpg

ภายใต้กรอบแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง ปี 2013-2020 มูลค่า 2 ล้านล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สาย มีมูลค่าการลงทุนรวมสูงที่สุดถึง 4.81 แสนล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สายเร่งรัดที่รัฐประกาศว่าจะเริ่มเปิดใช้บริการประมาณปี 2018 ระยะทาง 745 กิโลเมตร รถไฟวิ่งด้วยความเร็ว 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง สู่ใจกลางเมือง ประมาณราคาค่าโดยสารไว้ที่ 1,200 บาทต่อเที่ยว ใครมีแนวโน้มได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ จากรถไฟความเร็วสูงสายนี้บ้าง?

ราคาค่าโดยสาร 1 ,200 บาทต่อเที่ยว ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ค่าโดยสาร 1,200 บาท หรือ 1.6 บาท/กิโลเมตร เป็นราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่มีรถไฟความเร็วสูงให้บริการแล้ว เช่น จีน มีค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 บาท/กิโลเมตร ส่วนญี่ปุ่น มีราคาแพงที่สุด เฉลี่ย 9.5 บาท/กิโลเมตร ในขณะที่ เกาหลี และไต้หวัน ค่าโดยสารเฉลี่ย 3.4 และ 5 บาท/กิโลเมตร ตามลำดับ ซึ่งความแตกต่างของราคา ขึ้นอยู่กับระดับค่าครองชีพและการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ในส่วนของไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้ร่างกำหนดค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ 1,200 บาทต่อเที่ยว ไว้เบื้องต้น ซึ่งเมื่อโครงการเป็นรูปธรรมมากขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า ค่าโดยสารอาจเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นกับค่าครองชีพในขณะนั้น และนโยบายของภาครัฐ ที่อาจยอมแบกรับภาระต้นทุนค่าโดยสาร โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในด้านอื่นมากกว่า เช่น การเติบโตของพื้นที่ ทั้งนี้ การวิเคราะห์ถึงผู้ได้รับประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ ในส่วนต่อจากนี้ จะใช้สมมติฐานของราคาค่าโดยสาร 1,200 บาท เป็นหลัก 

ผู้โดยสารบางส่วนจากการเดินทางทางรถไฟ และถนน มีแนวโน้มหันมาใช้รถไฟความเร็วสูง เพราะได้ประโยชน์จากการประหยัดเวลาในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้โดยสารเดิมที่เดินทางโดยรถไฟแบบด่วนพิเศษ รถโดยสารปรับอากาศชนิด VIP หรือ 1st Class และรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งการเดินทางที่ใช้เวลาสั้นลงจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาส จากการใช้เวลาไปทำกิจกรรมอื่นที่สร้างรายได้หรือให้ประโยชน์สูงกว่า ทั้งนี้ รถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่แบบด่วนพิเศษ ใช้เวลาในการเดินทางสูงถึง 12 ชั่วโมง ค่าตั๋วโดยสารตู้นอนปรับอากาศชั้น 1 และ 2 มีราคา 800 - 1,450 บาทต่อเที่ยว เมื่อเปรียบเทียบกับค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงที่ 1,200 บาท ผู้โดยสารรถไฟด่วนพิเศษน่าจะยอมจ่ายแพงกว่าเล็กน้อย เพื่อให้สามารถเดินทางได้รวดเร็วขึ้นจาก 12 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนผู้ที่เคยจ่ายตู้นอนปรับอากาศที่มีราคาสูงถึง 1,450 บาท คงเปลี่ยนไปนั่งรถไฟความเร็วสูงอย่างแน่นอน ยกเว้นผู้ที่ต้องการนอนในรถไฟเพื่อประหยัดค่าที่พัก

เช่นเดียวกับผู้โดยสารรถปรับอากาศชนิด VIP ซึ่งมีราคาค่าโดยสาร 876 บาท ใช้เวลาเดินทาง 9 ชั่วโมงครึ่ง หากเปลี่ยนมาใช้รถไฟความเร็วสูงจะต้องจ่ายค่าโดยสารที่แพงขึ้น แต่สามารถประหยัดเวลาในการเดินทางได้ถึง 6 ชั่วโมง ส่วนการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ปกติจะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง คาดว่าผู้โดยสารส่วนหนึ่งจะหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพราะประหยัดเวลา และน้ำมัน ซึ่งการลดจำนวนรถโดยสารและรถยนต์ในท้องถนน จะช่วยแก้ปัญหาการจราจร และลดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ อุบัติเหตุทางถนนบริเวณพื้นที่เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ไม่รวมอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ) ปี 2011 เกิดขึ้นราว 1 หมื่นครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินเกือบ 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ปริมาณการเดินทางทางถนนที่ลดลงยังช่วยลดปัญหามลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะรถไฟความเร็วสูงปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่ารถยนต์ถึง 10 เท่า

ผู้โดยสารเครื่องบินส่วนหนึ่งจะหันมาใช้รถไฟความเร็วสูง จากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ด้วยระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ปัจจุบัน ตั๋วเครื่องบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีราคาประมาณ 2,500 บาทต่อเที่ยว สายการบิน Low cost ราคา 1,650 - 2,000 บาทต่อเที่ยว ใช้ระยะเวลาบิน 1 ชั่วโมง 15 นาที หากรวมเวลาที่ต้องไปสนามบินก่อน 1 ชั่วโมง และเวลาเดินทางจากสนามบินเข้าตัวเมือง เทียบแล้วการเดินทางโดยเครื่องบินยังเร็วกว่าเกือบ 1 ชั่วโมง  ดังนั้น คนที่มีมูลค่าเวลาสูง เช่น นักธุรกิจ อาจยังคงเลือกเดินทางโดยเครื่องบินและยอมจ่ายแพงกว่า ในขณะที่ผู้โดยสารที่ไม่เร่งรีบ น่าจะพึ่งรถไฟความเร็วสูงเพราะมีราคาค่าโดยสารถูกกว่าเครื่องบิน นอกจากนี้ ปัญหาเที่ยวบินดีเลย์ เช่น ในท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่มีอัตราความล่าช้าของเที่ยวบินขาเข้าและขาออก คิดเป็น 26% และ 13% ตามลำดับโดยเฉลี่ย 1 จะเป็นอีกแรงจูงใจที่ทำให้ผู้โดยสารเปลี่ยนมาใช้บริการรถไฟความเร็วสูงซึ่งตรงต่อเวลามากกว่า ซึ่งอัตราความล่าช้าของรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 1% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะที่เที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ตารางเวลารถไฟความเร็วสูงที่มีความเหมาะสม เช่น ความถี่ของขบวน ช่วงเวลาในการออกเดินทางและถึงที่หมาย จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้โดยสารเช่นกัน

สินค้าน้ำหนักเบาที่มีมูลค่าสูง และสินค้าเน่าเสียง่าย จะได้ประโยชน์จากการขนส่งทางรถไฟความเร็วสูง ภาคเหนือมีแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ซึ่งห่างจากเชียงใหม่เพียง 25 กิโลเมตร มีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่มีมูลค่าสูง เช่น ชิ้นส่วนจอ Navigator ในรถยนต์ ส่วนประกอบใน Tablet, Smartphone และ GPS รวมทั้ง Sensor ในยานยนต์ และคอมพิวเตอร์ ดังนั้น หากจัดให้มีพื้นที่ตู้สินค้าในขบวนรถไฟ คาดว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ จะมีการขนส่งโดยรถไฟความเร็วสูงจากเชียงใหม่ ลงมากรุงเทพฯ เพื่อกระจายต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ หรือเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของภาคเหนือปี 2011 มีมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และช่วงปี 2003-2011 มีการเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี นอกจากนี้ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงสินค้าเน่าเสียง่ายที่ต้องอาศัยความรวดเร็วในการขนส่ง เช่น ดอกไม้เมืองหนาว สตรอเบอรี่ จะได้รับประโยชน์ด้วย ส่วนการขนส่งจากภาคกลางขึ้นไปภาคเหนือโดยใช้รถไฟความเร็วสูง เพื่อส่งต่อไปยังจีนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยแผงวงจรไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักไปจีนน่าจะได้รับประโยชน์ เพราะมีการเติบโตกว่า 16% ต่อปี ในช่วง 2003-2011 นอกจากนี้ การขนส่งทางราง มีต้นทุนพลังงานที่น้อยกว่าทางถนน และทางอากาศถึง 3.5 และ 55 เท่า ตามลำดับ ดังนั้น การเปลี่ยนรูปแบบขนส่งมาเป็นทางรางมากขึ้น จะช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศมีแนวโน้มลดลง

การเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่แนวรถไฟความเร็วสูง สร้างโอกาสทางธุรกิจ รถไฟความเร็วสูงสามารถสร้างความเจริญ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มการจ้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมหาศาล  ดังเช่นรถไฟ Shinkansen ของญี่ปุ่น สาย Kyushu ที่วิ่งจาก Hakata - Kagoshima - Chuo หลังจากเริ่มให้บริการตลอดเส้นทางในเดือนมีนาคม 2011 ทำให้มีนักท่องเที่ยวใน Kagoshima เพิ่มขึ้นถึง 24.5% จากปีก่อนหน้า ส่งผลให้มีเงินสะพัดมากถึง 460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2 นอกจากนี้ ยังเกิดการย้ายถิ่นฐานและแรงงาน เช่น ปรากฏการณ์ Paris-on-Thames ที่คนฝรั่งเศสก่อร่างสร้างตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในกรุง London หลังจากที่มีรถไฟ Eurostar ระหว่าง London - Paris ดังนั้น จังหวัดที่เป็นสถานีหลักของเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่  เช่น อยุธยา นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ การเติบโตมีแนวโน้มสูงมากขึ้นในอนาคต จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปทำธุรกิจในพื้นที่จังหวัดเหล่านี้ โดยธุรกิจที่มีศักยภาพได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าส่งค้าปลีก โลจิสติกส์ รถเช่า โรงแรม และร้านอาหาร เพื่อรองรับการท่องเที่ยว การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ธุรกิจสายการบินจะโดนผลกระทบมาก เนื่องจากเสียส่วนแบ่งการตลาด ปริมาณผู้โดยสารเครื่องบินมีแนวโน้มลดลงอย่างมากในเส้นทางที่มีรถไฟความเร็วสูงไปถึง โดยเฉพาะเส้นทางการบินระยะใกล้ (short haul) ไม่เกิน 800 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ผู้โดยสารมีแนวโน้มจะเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางระหว่างเครื่องบินและรถไฟความเร็วสูง ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น เส้นทาง Madrid-Seville ของเสปน ระยะทาง 540 กิโลเมตร ผู้โดยสารเครื่องบินต่อรถไฟ ก่อนที่จะมีรถไฟความเร็วสูงบนเส้นทางนี้ มีสัดส่วน 71%:29% และเปลี่ยนเป็น 11%:89% หลังจากที่รถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการ เป็นต้น สายการบินต่างๆจึงต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เช่น ลดความถี่ของเที่ยวบิน และลดขนาดเครื่องบินในเส้นทางหลักของยุโรป เช่น London - Paris, London - Brussels, Barcelona - Madrid, Paris - Lyons ส่วนใต้หวัน เส้นทาง Taipei - Kaohsiung จำนวนเที่ยวบินลดลง 50% ภายใน 3 ปีหลังจากเริ่มมีรถไฟความเร็วสูง ในจีน สายการบินต้องลดค่าโดยสารลงถึง 80% ในเส้นทาง Guangzhou - Changsha หลังจากที่รถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการ ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจการบินของจีนจะมีรายได้ลดลง 3-4% หรือ 1.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2012 จากการลดจำนวนเที่ยวบินและค่าโดยสารอันเนื่องมาจากรถไฟความเร็วสูง


1  ข้อมูลจาก Flightstats 
2  ข้อมูลจาก Kagoshima Regional Economic Research Institute

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • ผู้ประกอบการมองลู่ทางธุรกิจบนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานีรถไฟความเร็วสูงตั้งอยู่ จะมีนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และแรงงานหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก เกิดการขยายตัวของเมือง และการเติบโตของการบริโภค และเศรษฐกิจในพื้นที่ จึงเป็นโอกาสที่จะจับจองพื้นที่ทางธุรกิจแต่เนิ่นๆ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าส่งค้าปลีก ร้านอาหาร หรือธุรกิจบริการท่องเที่ยว ของที่ระลึก โรงแรม รถเช่า ในจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว เช่น อยุธยา เชียงใหม่ ธุรกิจโลจิสติกส์ในพิษณุโลก ซึ่งเป็นจุดตัดของเส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมไปประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง ธุรกิจรถบรรทุกขนส่งระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง กับสนามบิน และท่าเรือ
  • สายการบินเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยง เช่น ลดจำนวนเที่ยวบิน ลดราคาค่าโดยสาร หรือจัดโปรโมชั่นแพคเกจทัวร์ร่วมกับบริษัทท่องเที่ยว ในเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกับรถไฟความเร็วสูง เพื่อดึงดูดลูกค้าและรักษาส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ อาจขยายเส้นทางการบินไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ที่มีระยะทางไกล (long haul) มากขึ้น รวมถึงขยายเส้นทางการบินจากจังหวัดหลักที่มีสถานีรถไฟความเร็วสูง ไปยังเมืองศูนย์กลางการค้าการลงทุนที่สำคัญในต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางรางเข้ากับทางอากาศ ทำให้มีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal transport)

 3771_20121203114548.jpg

 

3772_20121203114609.jpg

 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ