SHARE
IN FOCUS
06 กันยายน 2013

ราคายางพาราผ่าน “จุดต่ำสุด” แล้วหรือยัง?

ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี EIC มองว่า ราคายางพาราได้ผ่านพ้น "จุดต่ำสุด" ไปแล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ผู้เขียน:  เกียรติศักดิ์ คำสี

Rubber_152497960.jpg

ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี EIC มองว่า ราคายางพาราได้ผ่านพ้น "จุดต่ำสุด" ไปแล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่รายได้ ( GDP) การจ้างงาน และการส่งออก โดยรายได้จากยางพาราคิดเป็นสัดส่วนราว 3.3% ของ GDP การจ้างงานคิดเป็น 15% ของกำลังแรงงานรวม ส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 5.9% ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยในปี 2012 ยางพาราเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกราว   8,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของการส่งออกสินค้าเกษตร และมากเป็นอันดับ 5 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย

ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาส่งออกยางพาราไทยได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี ราคาส่งออกยางแท่งของไทยในเดือนกรกฎาคม 2013 อยู่ที่ 69 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนับเป็นระดับราคาที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 4 (ไทยมีปริมาณการส่งออกยางแท่งคิดเป็น 39% ของปริมาณการส่งออกยางพารารวม)  โดยราคาส่งออกที่ปรับลดลงดังกล่าว ส่งผลให้ราคายางก้อนถ้วย(วัตถุดิบต้นน้ำที่ใช้ผลิตยางแท่ง) ที่เกษตรกรได้รับปรับตัวลดลงตามไปด้วย จาก  81 บาทต่อกิโลกรัมในเดือน ม.ค. มาอยู่ที่ 64 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือน ก.ค. หรือปรับตัวลดลงราว 21% (ดูรูป 1)

ราคาที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจโลก และการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นหลัก เนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้นำเข้าและผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2012 จีนมีการนำเข้ายางพาราราว 2.5 ล้านตัน โดยพบว่าเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 1.2 ล้านตัน เป็นการนำเข้ายางพาราจากไทย ในขณะที่จีนมีปริมาณการบริโภคยางพาราราว 3.9 ล้านตัน กว่า 83% นำไปใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งความต้องการบริโภคยางพาราในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจจีน ภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากผลผลิตยางล้อของจีนกว่า 50% เป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดโลก ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบจะสะท้อนถึงต้นทุนในการผลิตยางสังเคราะห์ (synthetic rubber) ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนยางธรรมชาติ (ยางพารา) ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จาก GDP growth ในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวเพียง 7.5% ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 7.7% ซึ่งถือเป็นการชะลอตัว 2 ไตรมาสติตต่อกัน ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่นมีการเติบโตในระดับต่ำ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ในเดือน ก.ค. ปรับตัวลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี (ดูรูป 2) ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราในจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยางล้อปรับตัวลดลงและกดดันให้ราคายางพาราลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ สต็อกยางพาราของจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูง (เดือน ก.ค. สต็อกยางพาราจีนอยู่ที่ราว 1.8 แสนตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 6 เท่า) ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา (ดูรูป 3)  

EIC มองว่า ราคายางพาราไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และน่าจะเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ยางพาราในจีนและราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น   จากข้อมูลพบว่า ภาคการผลิตของจีนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (HSBC PMI) ของจีนล่าสุดในเดือน ส.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ 47.7 ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยูโรโซนก็เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น (ดูรูป 4) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคยางพาราของจีนและโลกปรับตัวดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง (ล่าสุดราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 7.8% จากเดือน ก.ค.) ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญของโลก และความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ น่าจะช่วยเอื้อให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป  ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เราจะพบว่า ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาส่งออกยางแท่งอยู่ที่ 79 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. 14% ในขณะที่ราคายางก้อนถ้วยที่เกษตรกรได้รับอยู่ที่ 71 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. 20%

อย่างไรก็ดี EIC มองว่าราคาส่งออกยางพาราของไทยไม่น่าจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ชาวสวนยางเรียกร้อง EIC มองว่าราคาส่งออกยางแท่งของไทยน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 105-110 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงปลายปี ซึ่งจะทำให้ราคายางก้อนถ้วยที่เกษตกรได้รับอยู่ที่ราว 97-102 บาทต่อกิโลกรัม(ราคาที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกการเก็บเงินสงเคราะห์ยางพารา (Cess)) สาเหตุสำคัญที่ทำให้ EIC มองว่าราคายางพาราไม่น่าจะสามารถปรับตัวไปอยู่ที่ระดับ 120 บาทต่อกิโลกรัม คือ ปริมาณผลผลิตยางพาราโลกที่มีมากกว่าความต้องการบริโภค  โดยปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคกลางของไทยที่มีการขยายตัวอย่างมากในปี 2007 สามารถเริ่มเปิดกรีดได้  ประกอบกับผลผลิตยางพาราของอินโดนีเซียและมาเลเซียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจากข้อมูลของ International Rubber Study Group (IRSG) พบว่า ในปี 2013 ผลผลิตยางพาราโลกมีมากกว่าการบริโภคอยู่ราว 3 แสนตัน แต่อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง และภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ ราคายางพาราก็อาจจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามที่เราได้คาดการณ์ไว้


 

รูปที่ 1: ราคาส่งออกและราคายางพาราที่เกษตรกรได้รับปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2013

 6255_20130906112038.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากสถาบันวิจัยยาง

 

รูปที่ 2: ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ราคาส่งออกยางพาราของไทยปรับตัวลดลงตามไปด้วย  

6244_20130906093654.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

 

รูปที่ 3: สต็อกยางพาราของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2013

 6254_20130906112029.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ International Rubber Study Group (IRSG)

 

รูปที่ 4: เศรษฐกิจจีนและโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

6242_20130906093633.jpg

ที่มา: ประมาณการของสำนักวิจัยต่างประเทศ (Goldman Sachs, J.P. Morgan, Deutsche Bank, Bank of America)

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • ราคาที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รายได้ของชาวสวนยางปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลให้รายได้ของชาวสวนยางปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลให้การบริโภคของชาวสวนยางที่มีอยู่ราว 6 ล้านคน ปรับตัวลดลงตามไปด้วย ในทำนองเดียวกัน ราคายางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้นก็จะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนยาง มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
  • อกชนไทยควรพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราขั้นสูงขึ้นในประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคายางพาราแปรรูปขั้นต้น ผลผลิตยางพาราของไทยกว่า 90% เป็นการส่งออกในรูปของยางพาราแปรรูปขั้นต้น ซึ่งราคามีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกไปราว 30,000 ล้านบาท ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางพารา เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง มีความผันผวนในระดับต่ำ เห็นได้จากราคาส่งออกยางยานพาหนะของไทยในช่วง 7 เดือนแรกที่ปรับตัวลดลงเพียง 5% ในขณะที่ราคาส่งออกยางพาราแปรรูปขั้นต้นปรับตัวลดลงถึง 21% ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตยางพาราไทยและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคายางพารา ภาครัฐและเอกชนไทยควรร่วมมือกันเพื่อที่จะเร่งส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปยางพาราขั้นสูงขึ้นในประเทศและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเหล่านั้น ทดแทนการส่งออกยางพาราแปรรูปขึ้นต้น

 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ