SHARE
SCB EIC ARTICLE
03 สิงหาคม 2017

จับกระแส Co-Working space ในอาเซียน

หากกล่าวถึงโมเดลการทำธุรกิจให้เช่าสถานที่อย่าง Co-Working space เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ผู้ไม่ชอบความจำเจของการทำงานในออฟฟิศ รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ซึ่งต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่าและอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานที่มองหาสถานที่ทำงานหรือสถานที่จัดประชุมที่เสมือนเป็นออฟฟิศในราคาที่จับต้องได้ ดังนั้น Co-Working space จึงเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพ ฟรีแลนซ์ และนักศึกษา ที่ต้องการใช้บริการสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับการทำงาน เช่น สัญญาณ WIFI, projector, printer และห้องประชุม เป็นต้น ธุรกิจ Co-Working space เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2005 ที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และขยายความนิยมมาสู่ประเทศในแถบเอเชียโดยมีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2016 ที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการราว 8.35 แสนรายทั่วโลก ขยายตัวเฉลี่ยจากปี 2011 ถึง 81% ต่อปี และคาดว่าจะสูงถึง 1.18 ล้านรายในปี 2017 จากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้จึงส่งผลให้จำนวน Co-Working space มีการขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนราว 1.13 หมื่นแห่งในปี 2016 เติบโตเฉลี่ยจากปี 2011 ราว 58% ต่อปี และคาดว่าจะมีจำนวน 1.38 หมื่นแห่งภายในปี 2017

ผู้เขียน: กานต์ชนก บุญสุภาพร

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์  วันที่ 3 สิงหาคม 2017

 

GettyImages-614223374_s.jpg 

 

 

หากกล่าวถึงโมเดลการทำธุรกิจให้เช่าสถานที่อย่าง Co-Working space เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ผู้ไม่ชอบความจำเจของการทำงานในออฟฟิศ รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ซึ่งต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งค่าเช่าและอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานที่มองหาสถานที่ทำงานหรือสถานที่จัดประชุมที่เสมือนเป็นออฟฟิศในราคาที่จับต้องได้ ดังนั้น Co-Working space จึงเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพ ฟรีแลนซ์ และนักศึกษา ที่ต้องการใช้บริการสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันสำหรับการทำงาน เช่น สัญญาณ WIFI, projector, printer และห้องประชุม เป็นต้น ธุรกิจ Co-Working space เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2005 ที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และขยายความนิยมมาสู่ประเทศในแถบเอเชียโดยมีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2016 ที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการราว 8.35 แสนรายทั่วโลก ขยายตัวเฉลี่ยจากปี 2011 ถึง 81% ต่อปี และคาดว่าจะสูงถึง 1.18 ล้านรายในปี 2017 จากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้จึงส่งผลให้จำนวน Co-Working space มีการขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนราว 1.13 หมื่นแห่งในปี 2016 เติบโตเฉลี่ยจากปี 2011 ราว 58% ต่อปี และคาดว่าจะมีจำนวน 1.38 หมื่นแห่งภายในปี 2017

 

ในกลุ่มประเทศอาเซียนกระแสความนิยมในการดำเนินธุรกิจ Co-Working space ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วไม่แพ้ภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความท้าทายในการทำธุรกิจที่เป็นผลจากการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นตามโอกาสเช่นกัน โดยจะเห็นได้จากความหลากหลายของผู้เล่นไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นในท้องถิ่น หรือการเข้ามาบุกตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลกอย่างเช่น WeWork ที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจ Co-Working space อันดับหนึ่งของโลกที่มีสาขากระจายอยู่ถึง 16 ประเทศ ก็เลือกที่จะเข้ามาบุกตลาดในประเทศแถบเอเชียโดยได้เปิดสาขาในเซียงไฮ้ เกาหลีใต้ และฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่ผู้เล่นท้องถิ่น เช่น สิงคโปร์ที่มี JustCo เป็นผู้เล่นรายใหญ่โดยมีสาขามากถึง 4 แห่งโดยมีจุดเด่นในเรื่องของทำเล และพื้นที่ให้บริการขนาดใหญ่ ในส่วนของไทย Hubba ที่ชูจุดขาย Startup Incubator ที่ให้คำปรึกษาและจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จก็มีแผนที่จะขยายสาขาไปต่างประเทศในอนาคตเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่หันมาลงทุนทำธุรกิจนี้ เช่น CapitaLand ของสิงคโปร์ที่นอกจากเปิดสาขา Co-working space ในสิงคโปร์แล้ว ยังก้าวเข้าไปร่วมทุนกับ UrWork ในจีนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นแต่มีความสนใจที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพจึงสร้างอีโคซิสเต็มอย่าง Co-Working space เพิ่มเติม เช่น AIS ร่วมมือกับ TCDC เปิดให้บริการ AIS D.C. เป็นต้น นอกเหนือจากภาคเอกชนที่กล่าวมาข้างต้น ภาครัฐในบางประเทศที่ให้ความสำคัญในสร้างอีโคซิสเต็มแก่สตาร์ทอัพก็ได้ลงทุนในส่วนนี้เช่นกัน เช่น โครงการ MaGIC โดยรัฐบาลมาเลเซีย

 

สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่หันมาเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ Co-Working space เพิ่มขึ้นนี้ พบว่าผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการประสบกับภาวะขาดทุนในช่วงปีแรก โดยจากการสำรวจของ The Global Co-working Survey พบว่ามี Co-Working space เพียง 40% เท่านั้นที่สามารถสร้างกำไรจากการดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มีอุปสรรคในการเข้าตลาดต่ำ นั่นคือผู้ประกอบการหน้าใหม่สามารถเริ่มต้นดำเนินธุรกิจนี้ได้ไม่ยากนัก ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลให้ผู้ประกอบการล้มเลิกการดำเนินธุรกิจไปก่อน ดังนั้น กว่าครึ่งของผู้เล่นในอุตสาหกรรมจึงดำเนินธุรกิจด้วยระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม หากสามารถดำเนินธุรกิจจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 และ 3 ได้ จะมีธุรกิจในสัดส่วนถึง 72% และ 87% ที่สามารถทำกำไรได้ตามลำดับ โดยความสามารถในการทำกำไรมาจาก 3 ปัจจัย คือ ระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ จำนวนผู้เข้ามาใช้บริการ และการมีรายได้อื่นนอกเหนือจากรายได้จาก hot desk เช่น ห้องประชุม และบริการพิเศษต่าง ๆ

 

จากความท้าทายข้างต้น อีไอซีแนะผู้ประกอบการควรคำนึงถึง 3 กลยุทธ์เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จโดย 1) เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ถูกต้องควบคู่กับการหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เนื่องจากการมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้สามารถเสนอบริการได้ตรงใจ รวมถึงหาพาร์ทเนอร์ที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนและยืนยาว 2) หาทำเลที่มีศักยภาพ โดยสรรหาทำเลที่ตั้งที่มีความเหมาะสมด้านความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และ 3) สร้างความแตกต่าง โดยสร้างจุดขายที่มีความแตกต่างโดดเด่นเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ใน Co-Working space เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถสร้างคอนเนคชั่นและเกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย การจัดกิจกรรมที่ดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การมีบริการพิเศษ เช่น Studio ถ่ายภาพ ห้องสมุด บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ฟิตเนส บริการอาหารและเครื่องดื่ม บริการรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น ส่วนการดีไซน์และตกแต่งภายในให้สวยงามและโดดเด่นแปลกตายังสามารถสร้างความแตกต่างได้เช่นกัน พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการควรมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพโดยสามารถใช้บริการแพลตฟอร์มที่ช่วยในการบริหารจัดการ เช่น Nexudus และ Essensys เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ