SHARE
SCB EIC ARTICLE
17 กรกฏาคม 2017

การลงทุนภาคเอกชน: บริษัทไทยปันใจไป M&A

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

Thump_Outlook_M&A.jpg

 

ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนใน GDP ที่หดตัวลง อาจไม่ได้สะท้อนว่าบริษัทไทยใช้เงินในการลงทุนน้อยลงเสมอไป โดยบริษัทไทยจำนวนมากยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่คำถามที่สำคัญก็คือเงินลงทุนของบริษัทไทยไปอยู่ที่ไหน ทำไมถึงไม่สะท้อนออกมาใน GDP? นอกเหนือจากบทวิเคราะห์ในฉบับก่อนหน้าที่แสดงให้เห็นว่านักลงทุนไทยหันออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแล้ว (อ่านเพิ่มเติมที่ Outlook Quarter 2/2017) สำหรับในฉบับนี้ ได้เจาะลึกลงไปในพฤติกรรมการลงทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (บริษัทจดทะเบียนไทย) จากตัวเลขในงบการเงิน พบว่าเม็ดเงินที่ใช้ในการลงทุนระยะยาวโดยรวมยังเพิ่มขึ้น แต่องค์ประกอบหรือประเภทของกิจกรรมการลงทุนนั้นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ทั้งนี้ การตัดสินใจลงทุนของบริษัทสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคร่าวๆ ได้แก่

 

 

1) การลงทุนซื้อสินทรัพย์ถาวรใหม่ เช่น การลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่ การลงทุนซื้อที่ดิน อาคาร เครื่องจักร หรืออุปกรณ์การผลิตใหม่ และรวมไปถึงสินทรัพย์ถาวรที่ไม่มีตัวตน เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น


2) การลงทุนผ่านการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) เช่น การเข้าซื้อกิจการอื่นทั้งหมด หรือเข้าซื้อหุ้นของบริษัทอื่นในสัดส่วนที่ทำให้มีอำนาจในการควบคุมกิจการนั้น รวมไปถึงการลงทุนในบริษัทร่วมหรือกิจการร่วมค้า (Associate/Joint Venture)

 

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือการให้กู้ยืมแก่กิจการอื่น เป็นต้น ทั้งนี้ หากพูดถึงเฉพาะการลงทุน 2 ประเภทข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโดยตรงแล้ว ถึงแม้จะเป็นการลงทุนด้านธุรกิจเพื่อหาผลตอบแทนให้บริษัทเหมือนกัน แต่ก็เป็นการลงทุนที่มีรูปแบบและมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่ต่างกัน กล่าวคือ การลงทุนซื้อสินทรัพย์ถาวรใหม่ (ประเภทที่ 1) ก่อให้เกิดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้าง การซื้อขายอุปกรณ์ การจ้างงาน และช่องทางอื่นๆ เป็นต้น ขณะที่การลงทุนผ่านการควบรวมกิจการนั้น (ประเภทที่ 2) เป็นการลงทุนในกิจการเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนมือของผู้ถือหุ้นหรือเปลี่ยนเจ้าของสินทรัพย์เท่านั้น อาจไม่ได้มีการซื้อสินทรัพย์ใหม่ๆ มากนัก การลงทุนประเภทนี้จึงไม่ได้ทำให้ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนใน GDP เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับการศึกษาของ Doytch and Cakan (2011)9 พบว่า การทำ M&A ไม่ได้ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกผลกระทบเป็นอุตสาหกรรมแล้วพบว่าการทำ M&A มีผลบวกต่อการขยายตัวของภาคบริการ แต่มีผลลบต่อภาคการผลิตจากการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตและการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตน้อยลง

 

บริษัทจดทะเบียนไทยใช้เงินเพื่อควบรวมกิจการ (M&A) เพิ่มขึ้น จากงบกระแสเงินสดของบริษัทจดทะเบียนไทย (ไม่รวมภาคการเงิน) พบว่าสัดส่วนของเงินลงทุนที่ใช้ในการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 11% ของเงินลงทุนระยะยาวทั้งหมดเมื่อ 10 ปีก่อนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับกว่า 42% ในช่วงปี 2014-2016 (รูปที่ 5) สะท้อนว่าบริษัทจดทะเบียนไทยเลือกใช้เงินที่มีอยู่ในมือจัดสรรเพื่อลงทุนใน M&A เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเม็ดเงินที่ใช้ในการทำ M&A ดังกล่าวถูกเลือกนำมาใช้ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่ ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนใน GDP อาจไม่ได้ซบเซาเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

บริษัทในธุรกิจการผลิตใช้เงินเพื่อลงทุน M&A เกินกว่าครึ่งของเงินลงทุนระยะยาวทั้งหมด โดยหากแยกพฤติกรรมการลงทุนของบริษัทในแต่ละสาขา พบว่าบริษัทในธุรกิจพลังงานมีการลงทุน M&A ในสัดส่วนที่ค่อนข้างคงที่และสม่ำเสมอ ขณะที่บริษัทในธุรกิจบริการและธุรกิจการผลิตปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาลงทุนผ่าน M&A มากขึ้นในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริษัทในธุรกิจการผลิตมีสัดส่วนเงินลงทุนใน M&A สูงถึง 63% ของเงินลงทุนทั้งหมด ในช่วงปี 2014-2016 สำหรับในภาคบริการก็มีสัดส่วนการลงทุนใน M&A เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนดังกล่าวอาจไม่สูงเท่าบริษัทในภาคการผลิต เนื่องจากบริษัทในภาคบริการยังมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่ เช่น การขยายสาขาร้านขายปลีก การก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนของธุรกิจโทรคมนาคม ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากดูเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรใหม่จะเห็นได้ว่าธุรกิจบริการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ในภาคการผลิตกลับทรงตัว 

 

อ่านต่อ

 

 

 

 

 

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ