SHARE
SCB EIC ARTICLE
17 กรกฏาคม 2017

การบริโภคภาคเอกชน: เศรษฐกิจกำลังฟื้น แล้วแรงงานไทยเมื่อไหร่จะฟื้น?

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

Thump_Outlook_employment.jpg

  

เศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัว แต่ตลาดแรงงานกลับซบเซา เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการฟื้นตัวทั้งในภาคการส่งออกสินค้าและการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการเติบโตในระดับสูงของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ในฝั่งของการผลิตก็ส่งสัญญาณฟื้นตัว เช่นกัน โดยกิจกรรมในภาคการผลิต (เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม) ขยายตัวได้ที่ 2.4%YOY ในไตรมาสแรกของปี 2017 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ  4 ปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการสะสมสินค้าคงคลังในช่วงเดียวกัน จะพบว่าแม้ภาคเอกชนจะยังคงลดสินค้าคงคลังลง แต่การเปลี่ยนแปลงในไตรมาสแรกที่ผ่านมาได้บ่งชี้การผ่านพ้นจุดต่ำสุดของวัฏจักรสินค้าคงคลัง ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับช่วงการฟื้นตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจในอดีตที่มีวิกฤติเกิดขึ้น (รูปที่ 3) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในด้านตลาดแรงงานกลับพบว่ายังคงซบเซา โดยยอดการจ้างงานในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2017 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนการจ้างงานลดลงราว 2.1 แสนคน หรือคิดเป็น -0.6%YOY เมื่อความต้องการแรงงานลดน้อยลงจึงส่งผลให้ค่าจ้างโดยเฉลี่ยในช่วงเดียวกันลดลงเช่นกันที่ราว -0.7%YOY เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยว่าทำไมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงไม่นำไปสู่การขยายตัวของตลาดแรงงาน?

อีไอซีมองว่าการฟื้นตัวแบบไร้การจ้างงาน (jobless recovery) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี มีสาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในส่วนที่ไม่ได้ใช้แรงงานมากนัก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและไม่ได้ใช้แรงงานในการผลิตมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนโดยมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึง 10%YOY ในช่วง 4 เดือนแรกของปี ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization rate) ในสาขาดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 11%YOY หรือ 3%QOQSA แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้แรงงานจากข้อมูลตารางปัจจัยการผลิตปี 2010 (Input-Output table) พบว่าการผลิตสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมเพียงราว 4% เท่านั้น เช่นเดียวกันกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มพลังงาน และกลุ่มเคมีภัณฑ์ที่ก็มีการขยายตัวด้านการส่งออกในระดับสูงที่ 62%YOY 40%YOY และ 12%YOY ตามลำดับ แต่กลับใช้แรงงานในสัดส่วนที่น้อยโดยมีต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมเพียง 5% 2% และ 8% ตามลำดับ ทั้งนี้ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้มีการฟื้นตัวอย่างทั่วถึง ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในบางสาขายังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เช่น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มเครื่องหนัง และโดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งมีแรงงานถึงราว 7 แสนคน หรือคิดเป็นราว 12% ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวจึงยังไม่ตัดสินใจลงทุนหรือจ้างงานเพิ่มเติม ส่งผลให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมลดลง 4.0%YOY

 

ส่วนในภาคเกษตรกรรมเองก็มีลักษณะการฟื้นตัวที่ไม่ตกถึงแรงงานส่วนใหญ่เช่นกัน กล่าวคือ มีเพียงสินค้าเกษตรบางชนิดเท่านั้นที่มีราคาที่เติบโตสูงในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2017 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้เกษตรกรในกลุ่มดังกล่าวพอจะลืมตาอ้าปากได้ สินค้าเหล่านั้นได้แก่ ยางพารา และอ้อย ที่มีการเติบโตของราคาที่ 82%YOY และ 32%YOY ตามลำดับ แต่สินค้าเหล่านี้ใช้แรงงานเกษตรกร 2.5 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 1 ใน 4 ของแรงงานในภาคเกษตรเท่านั้น ขณะที่พืชที่ใช้แรงงานจำนวนมากอย่างข้าว ข้าวโพดและมันสำปะหลังที่ใช้คนถึงราว 6 ล้านคนหรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานในภาคเกษตรทั้งหมดยังคงเผชิญกับสภาวะราคาตกต่ำเช่นเดิม นอกจากนี้ จากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มปรับตัวลดลง อาจทำให้การจ้างงานในภาคเกษตรยังคงซบเซาในระยะต่อไป

 

แรงกระตุ้นของภาครัฐที่ลดน้อยลงมีส่วนทำให้การจ้างงานหดตัวในภาคก่อสร้าง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการของภาครัฐในช่วงปี 2016 ที่ผ่านมามีส่วนสำคัญทั้งในทางตรงและทางอ้อมต่อสภาวะตลาดแรงงานของไทย ในทางตรงภาครัฐได้อัดฉีดเม็ดเงินขนาดใหญ่กระจายไปตามต่างจังหวัดผ่านทั้งมาตรการลงทุนขนาดเล็ก มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ทั้งระดับหมู่บ้านและตำบล รวมๆ กันแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมการก่อสร้างทั่วประเทศที่ไปเร่งให้เกิดการใช้แรงงานในภาคส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในช่วงต้นปี 2016 ภาครัฐยังได้มีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการลดค่าธรรมเนียมการโอนซึ่งมีผลให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายต่างเร่งสร้างโครงการเพื่อให้ทันใช้สิทธิ์มาตรการในเดือนเมษายน 2016 ส่งผลทางอ้อมให้ความต้องการแรงงานก่อสร้างในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน แต่เมื่อภาครัฐ เริ่มถอนคันเร่งการกระตุ้นผ่านมาตรการในลักษณะดังกล่าวลงหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กล่าวคือ ไม่ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ในด้านการลงทุนตามต่างจังหวัด (มีเพียงเม็ดเงินที่เหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายบางส่วนจากมาตรการในปีที่แล้วราว 2 หมื่นล้านบาท) และไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ความต้องการแรงงานก่อสร้างทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจึงลดหายไปตามกัน เป็นเหตุให้ภาคการก่อสร้างเป็นภาคที่มีการลดลงของการจ้างงานมากที่สุดในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ คือ หายไปราว 10.9%YOY (รูปที่ 4) หรือคิดเป็นจำนวน 2.9 แสนคนจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

อ่านต่อ

 

 

 

 

 

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ