SHARE
IN FOCUS
12 พฤศจิกายน 2010

โอกาสของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในอนาคต

ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนประเภทอะไหล่ทดแทนของไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมากในอนาคต จากปริมาณการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นมากในปัจจุบัน

ผู้เขียน:  วิชชุดา ชุ่มมี

134177313.jpg

ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนประเภทอะไหล่ทดแทนของไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมากในอนาคต จากปริมาณการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นมากในปัจจุบัน

ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวมมีแนวโน้มเติบโตดีโดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดรถยนต์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนโรงงานประกอบรถยนต์ (Original Equipment Manufacturing: OEM) จากข้อมูลสถิติของสถาบันยานยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยมีการผลิตรถยนต์รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,197,230 คัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนถึงกว่า 80% รวมทั้งยังเป็นระดับการผลิตที่สูงกว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี 2009 ถึงเกือบ 20% สะท้อนถึงการปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ภายในประเทศตามความต้องการที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีผลให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ปรับตัวในทิศทางที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยพบว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ภายใน
ประเทศและยอดขายชิ้นส่วนรถยนต์มีความสัมพันธ์ (correlation) กันประมาณ 70% โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชิ้นส่วนประเภท OEM ซึ่งต้อง ผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการและคุณภาพที่โรงงานประกอบรถยนต์กำหนดโดยตรง รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างเข้มงวด ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ผลิตในกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ที่เข้าไปอยู่ในเครือข่ายการผลิตของบริษัทรถยนต์

 

ในขณะที่ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนประเภทอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing: REM)
จะเคลื่อนไหวตามการใช้จ่ายภาคเอกชน (PCE) มากกว่ายอดผลิตรถยนต์
แม้ว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ภายใน ประเทศจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท REM ในอนาคต แต่จากข้อมูลพบว่า PCE เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อยอดขายชิ้นส่วนประเภท REM มากกว่า โดยพบว่าในช่วงที่เศรษฐกิจดีและ PCE ปรับตัวดีขึ้น ยอดขายชิ้นส่วนประเภท REM จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และจะปรับลดลงในช่วงที่ PCE ลดลง ซึ่งหากดูความสัมพันธ์ระหว่างยอดขายชิ้นส่วนประเภท REM กับการเปลี่ยนแปลงของ PCE ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา พบว่ามี correlation กันสูงถึงเกือบ 90% นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลรักษาและซ่อมบำรุงรถยนต์ในตลาดอะไหล่ทดแทนยังขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของอะไหล่ที่เลือกใช้ ทั้งอะไหล่แท้ อะไหล่เทียม หรือแม้แต่อะไหล่มือสอง

 

ในอนาคต โอกาสการเติบโตของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนประเภท REM จะเพิ่มขึ้นมาก จากปริมาณการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน นอกจากโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากแนวโน้มการเติบโตปกติของ PCE แล้ว ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนประเภท REM ยังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากโอกาสที่เกิดขึ้นจากปริมาณการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบันอีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว รถที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีสภาพที่ค่อนข้างเก่า ทำให้เจ้าของมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานให้รถอยู่ในสภาพที่ดีและเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในเรื่องอะไหล่เพื่อทดแทนชิ้นส่วนที่สึกหรอหรือเสื่อมสภาพ ซึ่งภาวะการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลให้ธุรกิจชิ้นส่วนประเภท REM เติบโตดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนใหม่กับกรมขนส่งทางบกทั่วประเทศล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2010 พบว่ามีจำนวนมากถึงกว่า 2 ล้านคัน และเพิ่มขึ้นจากช่วง 10 ปีก่อนหน้าถึงเกือบ 2 เท่าตัว ซึ่งหากมองไปในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เก่าที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 6-10 ปี (รถที่จดทะเบียนระหว่างปี 2006-2010) มากถึงราว 12 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคันจากจำนวนรถเก่าในปัจจุบัน สะท้อนถึงโอกาสของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนประเภท REM ที่ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมากในอนาคต

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • จากโอกาสของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนประเภท REM ที่มีแนวโน้มเติบโตดีในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อตักตวงประโยชน์จากโอกาสดังกล่าว โดยอาจมุ่งเน้นผลิตชิ้นส่วนประเภท REM ให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และมีโอกาสสร้างรายได้อีกมาก ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ รวมทั้งสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประเภท REM และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องมากยิ่งขึ้น

 1692_20101112094920.jpg

 

1693_20101112094923.jpg

 

 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ