SHARE
IN FOCUS
14 มิถุนายน 2017

เจาะโอกาสธุรกิจคลื่นลูกใหม่ใน EEC

- ปัจจุบันภาครัฐกำลังเร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและให้สิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรม First S-Curve และ 5 อุตสาหกรรม New S-curve ซึ่งราว 60% ของกิจการในอุตสาหกรรม New S-Curve จะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นสูง โดยเฉพาะกิจการในอุตสาหกรรมการบินและดิจิทัล - อีไอซีประเมินว่า กิจการในอุตสาหกรรม New S-Curve ที่มีศักยภาพใน EEC ได้แก่ กิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน กิจการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกิจการศูนย์ข้อมูล เนื่องจากมีตลาดรองรับและปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนในพื้นที่ - ในระยะแรก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในบริเวณ EEC คาดว่าจะมีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่อธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ส่วนในระยะกลาง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น นิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ จะเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ตามมาจากการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ผู้เขียน: กานต์ชนก บุญสุภาพร

 

GettyImages-477847183.jpg

 

 

 

Highlight

  • ปัจจุบันภาครัฐกำลังเร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและให้สิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรม First S-Curve และ 5 อุตสาหกรรม New S-curve ซึ่งราว 60% ของกิจการในอุตสาหกรรม New S-Curve จะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นสูง โดยเฉพาะกิจการในอุตสาหกรรมการบินและดิจิทัล
  • อีไอซีประเมินว่า กิจการในอุตสาหกรรม New S-Curve ที่มีศักยภาพใน EEC ได้แก่ กิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน กิจการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกิจการศูนย์ข้อมูล เนื่องจากมีตลาดรองรับและปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนในพื้นที่
  • ในระยะแรก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในบริเวณ EEC คาดว่าจะมีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่อธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ส่วนในระยะกลาง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น นิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ จะเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ตามมาจากการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

ด้วยความโดดเด่นด้านความพร้อมของอุตสาหกรรมในพื้นที่และที่ตั้ง ทำให้ภาครัฐมีนโยบายผลักดัน EEC เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการยกระดับอุตสาหกรรมไทย โดยภาครัฐกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เนื่องจากในปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ที่สามารถต่อยอดได้ อีกทั้งพื้นที่ยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เชิงคมนาคมที่สำคัญ ทำให้มีศักยภาพและความพร้อมในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เหนือพื้นที่อื่น ในระยะยาว EEC จึงเป็นความหวังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน


การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและการให้สิทธิประโยชน์เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ภาครัฐใช้ดึงดูดการลงทุนของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC การขนส่งถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของธุรกิจ ภาครัฐจึงเตรียมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต ทั้งทางบก ได้แก่ รถไฟทางคู่เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง มอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ทางอากาศ ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา และทางน้ำ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ซึ่งเมื่อโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จจะสร้างความสะดวกทั้งในการส่งออกทางน้ำและการขนส่งภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งกระจายสินค้าจากภาคตะวันออกโดยรถไฟไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ทั้งนี้ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีที่เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน (รูปที่ 1) และสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การจัดตั้ง One Stop Service เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการอนุมัติและออกใบอนุญาต การประกาศเป็นเขตปลอดภาษี และการให้ Work Permit และ VISA แก่ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจของ World Economic Forum พบว่ายังมีปัจจัยอื่นที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจเพื่อลงทุนทำธุรกิจในไทยที่ภาครัฐสามารถพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การสร้างความเชื่อมั่นด้านเสถียรภาพเชิงนโยบาย การเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม การพัฒนาแรงงานที่มีศักยภาพ เป็นต้น


10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม First S-Curve จำนวน 59 กิจการ และ 5 อุตสาหกรรม New S-Curve จำนวน 35 กิจการ1 โดยการพัฒนาต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ (11 กิจการ) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (24 กิจการ) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (10 กิจการ) การแปรรูปอาหาร (3 กิจการ) และการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (11 กิจการ) ซึ่งปัจจุบัน ราว 80% ของเม็ดเงินลงทุนที่มาขอสิทธิประโยชน์จาก BOI กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์  


ส่วนการพัฒนา 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (3 กิจการ) การบินและโลจิสติกส์ (8 กิจการ) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (7 กิจการ) ดิจิทัล (11 กิจการ) และการแพทย์ครบวงจร (6 กิจการ) โดยการพัฒนากิจการในกลุ่ม New S-Curve ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาว ดังนั้น ราว 60% ของกิจการในกลุ่มดังกล่าวจึงได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นสูง (A1 และ A2) จาก BOI โดยเฉพาะกิจการในอุตสาหกรรมดิจิทัลและการบิน (รูปที่ 2)


อีไอซีประเมินว่า กิจการใน New S-Curve ที่มีศักยภาพ ได้แก่ กิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน, กิจการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกิจการศูนย์ข้อมูล เนื่องจากมีตลาดรองรับและปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนในพื้นที่ โดยเมื่อพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี, ห่วงโซ่อุปทาน, แรงงาน, โครงสร้างพื้นฐานรองรับ, การสนับสนุนจากทางภาครัฐ, และการแข่งขันในธุรกิจ พบว่าธุรกิจทั้ง 3 มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในบริเวณ EEC


กิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 13% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 32.6 ล้านคนในปี 2016 รวมถึงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารใหม่ในสนามบินอู่ตะเภาให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนต่อปีจากราว 7 แสนคนในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเป็น 1.8 หมื่นเที่ยวบินต่อปี ส่งผลต่อเนื่องไปยังความต้องการการซ่อมบำรุงเครื่องบินมากขึ้น ทำให้กิจการซ่อมบำรุงอากาศยานกลายเป็นหนึ่งในกิจการที่นักลงทุนให้ความสนใจ อีกทั้งไทยยังมีบุคลากรที่มีความสามารถตรวจสอบทั่วไป (A-check) จนถึงการตรวจเช็คเครื่องบินทุกส่วนอย่างละเอียด (D-check) จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ดึงดูดให้ Airbus ได้เข้ามาทำข้อตกลงกับการบินไทยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเรียบร้อยแล้ว


กิจการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติและปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้พลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวเอเชียที่คาดว่าจะใช้พลาสติกชีวภาพกว่า 5.2 ล้านตันในปี 2018 จาก 0.3 ล้านตันในปี 2010 หรือเติบโตสะสมกว่า 43% ซึ่งในปัจจุบัน บริเวณภาคตะวันออกเป็นฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่แล้ว จึงสามารถต่อยอดได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้แล้วกิจการดังกล่าว ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐตามนโยบาย Bio Economy ที่สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอีกด้วย


กิจการศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อเป็นที่ตั้งของ Server ในการใช้เก็บข้อมูลที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการส่งผ่านข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือและการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตกับเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต โดยคาดว่าปริมาณข้อมูลที่ส่งผ่านทางโทรศัพท์มือถือจะมีการขยายตัวจาก 360 เพตะไบต์ ในปี 2015 เป็น 2,700 เพตะไบต์ ในปี 2020 หรือขยายตัวกว่า 7.5 เท่า ซึ่งในอนาคต การส่งผ่านข้อมูลมหาศาลระหว่างเครื่องจักรกระบวนการผลิตสินค้าตามแนวคิด Industry 4.0 ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความต้องการในการเก็บข้อมูลมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว ในบริเวณ EEC ยังมีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (Fiber Optic) ที่มีจุดขึ้นบกบริเวณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่จะสนับสนุนการรับ/ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งในและระหว่างประเทศ ทำให้ไทยมีความพร้อมด้านการพัฒนาศูนย์ข้อมูลมากยิ่งขึ้น


ประเมินว่าใน 5 ปีแรก จะมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐและเอกชนราว 1.5 ล้านล้านบาทในพื้นที่ EEC ซึ่งจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจท่องเที่ยว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทและการพัฒนาเมืองใหม่มูลค่า 4 แสนล้านบาท จะทำให้บริษัทรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะปูนซีเมนต์และเหล็กได้รับประโยชน์ในระยะแรก ต่อมาเมื่อระบบคมนาคมในพื้นที่ EEC แล้วเสร็จ จะส่งผลให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งและกระจายสินค้าทางรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่างนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือขนส่งสินค้า ผนวกกับสิทธิพิเศษที่ภาครัฐมอบให้ คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่ที่พร้อมสำหรับการลงทุนราว 1.5 หมื่นไร่  รวมถึงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ห้างค้าส่งค้าปลีก เพื่อรองรับบุคลากรที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่อีกด้วย


ในด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาอาคารผู้โดยสารใหม่ในสนามบินอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงระหว่าง 3 สนามบิน รวมถึง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบที่เชื่อมโยงพัทยา-หัวหิน-กรุงเทพฯ จะเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังพื้นที่ EEC มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของธุรกิจบริการไม่ว่าจะเป็น โรงแรม และร้านอาหาร ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาพื้นที่ EEC นั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่หลากหลายในพื้นที่และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันแก่ประเทศในอนาคตอีกด้วย

หมายเหตุ: 1 จำนวนกิจการหมายถึงจำนวนกิจการที่เป็นเป้าหมายของทางภาครัฐ ไม่รวมถึงกิจการสนับสนุน

 

Implication.png

Implication.gif

  • ภาครัฐควรมุ่งปรับปรุงกฎระเบียบและผังเมืองเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุน โดยภาครัฐควรปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ลดขั้นตอนและระยะเวลาขออนุญาต เช่น เร่งจัดตั้ง One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) รวมถึงปรับปรุงผังเมืองใหม่ให้มีความชัดเจนขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจแก่นักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ


  • นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนบุคลากรใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ แก่นักศึกษาและสถานศึกษาให้หันมาศึกษาวิชาชีพที่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่น ความต้องการบุคลากรในกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานที่คาดว่าจะสูงขึ้นราว 6 เท่า ขณะที่ปัจจุบันผลิตได้เพียง 400 คนต่อปีเท่านั้น


  • อีไอซีแนะผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรม โดยลงทุนทำ R&D และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากธุรกิจจะได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นสูงจากการลงทุนทำ R&D และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว การพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมโดยการทำ R&D ยังสร้างกำไรแก่ธุรกิจอีกด้วย เนื่องจากทำให้สินค้ามีความแตกต่างโดดเด่นเหนือคู่แข่ง และนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

 

รูปที่ 1: สิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทยเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

 

eec01.jpg

 

 

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ PWC แลt KPMG


รูปที่ 2: ราว 60% ของกิจการใน New S-Curve ได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นสูง (A1 และ A2) โดยเฉพาะกิจการในกลุ่มดิจิทัลและการบิน

eec02.jpg



หมายเหตุ: A1= ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่ cap วงเงิน) + สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ
A2 = ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี + สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ
A3 = ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี + สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ
A4 = ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี + สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BOI 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ