SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 พฤษภาคม 2017

EEC ความหวังใหม่ของเศรษฐกิจไทย: ทำไมต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้?

ผู้เขียน: จิรามน สุธีรชาติ

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤษภาคม 2017

 

Thumb_EIC_Moneybanking.jpg

 

 

“พยายามที่จะผลักดันให้ทุกส่วนดำเนินงานเร็วที่สุด ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยมีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยโครงการหลักทั้ง 5 โครงการ ต้องมีแผนงาน และกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

 
ที่มา: การประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ครั้งที่ 1/2560

 

 

จุดเริ่มต้นของ EEC มาจากอะไร?

 

EEC หรือ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ต่างประเทศภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ที่ดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 8% ต่อปีจนกระทั่งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง จากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม 32 แห่ง รองรับโรงงานกว่า 5,000 โรง การสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของไทยบริเวณแหลมฉบังและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกกลายเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ ศูนย์การผลิตปิโตรเคมีที่มีขนาดใหญ่เป็น 1 ใน 5 ของเอเชีย และศูนย์กลางการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ “Detroit of the East” ด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเดิมนี้เอง ประกอบกันทำเลที่ตั้งที่มีความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมทั้งชื่อเสียงและมาตรฐานระดับโลก โครงการ EEC จึงเป็นความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในยุคอุตสาหกรรม 4.0

 

เหตุใดเราจึงต้องให้ความสำคัญกับ EEC ในตอนนี้?

 

สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการพัฒนาประเทศ ระบบคมนาคม และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ASEAN Economic Community (AEC) ที่มีจุดมุ่งหมายผลักดัน ASEAN ให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือได้อย่างเสรี ทำให้บริษัทต่างชาติมีตัวเลือกในการตั้งฐานการผลิตและกระจายสินค้ามากขึ้น ในระยะต่อไปความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคจะยกระดับขึ้นอีกขั้น ซึ่งไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย (East-West Economic Corridor) และเชื่อมต่อจีนตอนใต้เข้ากับภูมิภาคแหลมทอง (North-South Economic Corridor) ทำให้ไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคและการเป็นประตูสู่เอเชียได้

 

อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าเวียดนามจะผันตัวมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่ไทยต้องจับตามอง เพราะเวียดนามเป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนจากต่างชาติที่มีความโดดเด่น ด้วยข้อได้เปรียบด้านแรงงานจำนวนมากที่อายุยังน้อยและค่าแรงต่ำ ตำแหน่งที่ตั้งที่ติดกับจีนและเป็นประตูสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตลาดผู้บริโภคที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และนโยบายประเทศที่ชัดเจนในการก้าวขึ้นเป็น “โรงงาน” และ “ซิลิคอนวัลเลย์” ของเอเชีย ในขณะที่ตัวขับเคลื่อนสำคัญของไทยอย่าง Eastern Seaboard กำลังหมดไฟ และอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเชี่ยวชาญกำลังตกยุค ส่งผลให้ในปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติพิจารณาย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังเวียดนามแล้ว หนึ่งในนั้นได้แก่ Samsung Electronics Limited LG Electronics และ Daikin Industries Limited ดังนั้น หากไทยไม่เร่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศตั้งแต่วันนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเวียดนามจะสามารถแซงหน้าไทยด้วยมูลค่า GDP ที่สูงกว่าในปี 2050 [1]

 

นอกจากนี้ ผลการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันโดย IMD พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับค่อนข้างดีที่ 28 จาก 61 ประเทศ แต่หากพิจารณาในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมจะพบว่าไทยทำคะแนนได้ค่อนข้างต่ำ ในด้านผลิตภาพ (อันดับที่ 43) โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ (อันดับที่ 47) และเทคโนโลยี (อันดับที่ 42) ซึ่งรายงาน Global Competitiveness Index 2016-2017 ของ World Economic Forum ให้ผลการประเมินในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และแรงงานทักษะ มีการพัฒนาช้า เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเดียวกัน และยังคงเป็นปัญหาหลักในการทำธุรกิจในไทยอีกด้วย ดังนั้น เพื่อทำให้ไทยกลับมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง EEC จึงเป็นโครงการสำคัญที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย


เป้าหมายและมาตรการส่งเสริม EEC ของรัฐบาลมีอะไรบ้าง?

 

โครงการ EEC มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้กลายเป็น “World-Class Economic Zone” รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า แทนที่ Eastern Seaboard เดิม โดยคาดการณ์ว่าการลงทุนใน EEC จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปี สร้างการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ 100,000 อัตราต่อปี สร้างฐานภาษีใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนต่อปี และสร้างฐานรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาทต่อปี

 

โดยการลงทุนในระยะ 5 ปีแรก (2017-2020) เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 [Box] ภายใต้กรอบการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชนวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมนับเป็นสัดส่วนใหญ่ของงบลงทุนทั้งหมด เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มการเชื่อมต่อภายในประเทศและภูมิภาคมากขึ้นทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของเอเชียในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ การก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง การก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังทุ่มเงินลงทุนมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และอีก 2 แสนล้านบาทเพื่อพัฒนาด้านการท่องเที่ยว พร้อมกันนี้เมืองใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา พัทยา อู่ตะเภา และระยอง จะได้รับการพัฒนาเพื่อเอื้อต่อภาคธุรกิจ เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา และกระจายความแออัดจากกรุงเทพฯ

 

Box: 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งออกเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพต่อยอด (First S-Curve) คือ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร กับ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) คือ หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวิภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร

 

 

ในการนี้ รัฐบาลได้ร่างพ.ร.บ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกขึ้น เพื่อเร่งและสนับสนุนการดำเนินโครงการ EEC ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงเพิ่มเติม โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อเดือนเมษายน 2017 ที่ผ่านมา   รวมทั้งแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และร่างพ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 เพื่อเร่งการลงทุนจากต่างชาติและภาคเอกชนในพื้นที่ EEC ด้วยสิทธิประโยชน์การลงทุน ถึง 3 ด้าน คือ 1) สิทธิประโยชน์แบบ Tailor Made สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การแพทย์ครบวงจร ปิโตรเคมี อากาศยาน และเขตนวัตกรรมเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECI) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ตามร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกิน 15 ปี หรือสิทธิประโยชน์อื่นมากที่สุดเท่าที่พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับจะให้ได้ 2) เครื่องมือสนับสนุน-ส่งเสริม-อำนวยความสะดวกในการลงทุนแบบครบวงจร และ 3) การให้บริการ One Stop Service นอกจากนี้ การลงทุนในพื้นที่ EEC จะได้รับสิทธิประโยชน์ “เพิ่มเติม” ในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของอัตราปกติเป็นระยะเวลาอีก 5 ปี สำหรับ 5 กิจการ คือ กิจการโครงสร้างพื้นฐาน กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC กิจการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและพัฒนา และเทคโนโลยีชีวภาพ กิจการบริการที่มีมูลค่าสูง (high value services) และกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ยังมีผู้ประกอบการน้อยราย

 

ท่าทีของนักลงทุนชาวต่างชาติต่อการลงทุนใน EEC เป็นอย่างไร?

 

มาตรการส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ดึงดูดความสนใจของบริษัทต่างชาติได้เป็นอย่างมาก รัฐบาลคาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า 1.9 ล้านล้านบาทจากภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมเป้าหมาย ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และอากาศยาน โดยที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างโตโยต้า นิสสัน และ BMW ต่างแสดงความสนใจในการลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม บริษัทยังรอความชัดเจนของนโยบายการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ในประเทศที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ซูมิโตโม่ อิเล็กทรอนิกส์ วินเทค (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรกล และหุ่นยนต์และเครื่องมือกลระบบอัตโนมัติ กล่าวว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีความมั่นใจและมีแผนการลงทุนเพิ่มในไทยมากขึ้น โดยทางบริษัทเตรียมจัดตั้งสาขาและศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Technical Learning Academy) ในพื้นที่ EEC ด้วยงบลงทุน 150-200 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2018 นอกจากนี้ อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง บริษัท e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากจีน ได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลไทยหลายฉบับในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อสร้างฮับ e-Commerce และโลจิสติกส์ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2019 ซึ่งการลงทุนในพื้นที่ EEC นี้เป็นการก้าวเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนพร้อมทั้งช่วยกระจายความรู้ด้าน e-Commerce และโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการไทยอีกด้วย และล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การบินไทยได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับแอร์บัสในข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Complex Development) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยผู้บริหารแอร์บัสตัดสินใจเลือกไทยเป็นหนึ่งในศูนย์ซ่อม MRO ด้วยความเหมาะสมเรื่องที่ตั้งและความเชื่อมั่นที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจไทย

 

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าด้วยข้อได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ และศักยภาพในอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเดิม ประกอบกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนของรัฐบาล การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในอุตสาหกรรมยุคหน้า และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักได้ เห็นได้จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและการตอบรับเป็นอย่างดีต่อมาตรส่งเสริมการลงทุนในรอบนี้

 


[1] PricewaterhouseCooper, The World in 2050, https://www.pwc.com/gx/en/issues/economy/the-world-in-2050.html, February 2017

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ