SHARE
SCB EIC ARTICLE
27 เมษายน 2017

ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โอกาสทองของไทยในอาเซียน

ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มที่ต้องการการรักษาพยาบาลในราคาที่ถูกกว่า และกลุ่มที่ต้องการคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า โดยในปี 2017 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลกมีมูลค่าตลาดราว 2.9 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งจากการจัดอันดับของ The International Healthcare Research Center (IHRC) พบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยติดอันดับ 6 ของโลก เนื่องจากมีค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าหลายประเทศและมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

ผู้เขียน: ธันยาพร เล้าโสภาภิรมย์

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ / เปิดเกมส์รุกบุก AEC วันที่ 27 เมษายน 2017

 

ThinkstockPhotos-155787343-s.jpg

 

ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มที่ต้องการการรักษาพยาบาลในราคาที่ถูกกว่า และกลุ่มที่ต้องการคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า โดยในปี 2017 การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลกมีมูลค่าตลาดราว 2.9 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งจากการจัดอันดับของ The International Healthcare Research Center (IHRC) พบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยติดอันดับ 6 ของโลก เนื่องจากมีค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าหลายประเทศและมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

 

ปัจจุบันไทยเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพหลักของเอเชีย โดยมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากที่สุดถึงราว 38% ของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด และตลาดมีแนวโน้มเติบโตราว 14% ต่อปี สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยซึ่งอยู่ที่ราว 12% ต่อปี และคาดว่าในปีนี้ไทยจะมีจำนวนผู้ป่วยต่างชาติถึง 4 ล้านคน สะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์และมาเลเซีย อีกทั้งเมื่อเทียบคุณภาพของระบบการดูแลสุขภาพ ทั้งในแง่ความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว พบว่าไทยมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่โดดเด่น ทั้งความพร้อมในการให้บริการที่มีมาตรฐานในระบบสากล โดยในปัจจุบันไทยมีจํานวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล JCI (Joint Commission International Accreditation) มากที่สุดใน AEC ถึง 56 แห่ง และมากเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย อีกทั้งโรงพยาบาลเอกชนของไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 สถานพยาบาลยอดเยี่ยมระดับโลกสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำให้นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มีความมั่นใจในชื่อเสียงและคุณภาพการบริการด้านสุขภาพของไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ค่ารักษาพยาบาลในไทยยังถูกกว่ามาเลเซียและสิงค์โปร์ โดยเฉลี่ยราว 2 และ 3 เท่าตามลำดับ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จูงใจนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

 

ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เดินทางมาไทยจะนิยมใช้บริการตรวจสุขภาพ การศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม การรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น กลุ่มโรคหัวใจและกระดูก ซึ่งจากผลสำรวจของ Global wellness institute พบว่ารูปแบบการบริการด้านความงามและศัลยกรรมเป็นบริการที่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มองหามากที่สุด โดยไทยมีชื่อเสียงด้านศัลยกรรมเป็นอันดับ 8 ของโลก เนื่องจากไทยมีมาตรฐานการบริการในระดับใกล้เคียงกับโรงพยาบาลในสหรัฐฯ และยุโรป มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ระยะเวลาในการรอคิวไม่นาน ที่สำคัญมีค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ศัลยกรรมจมูกมีราคาถูกกว่าสหรัฐฯ 2 เท่า ศัลยกรรมแปลงเพศมีราคาถูกกว่าสหรัฐฯ และยุโรปถึง 10 เท่า และได้รับการยอมรับในฝีมือการผ่าตัดที่เหมือนจริง

 

การเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนมีรายได้จากการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.01% ของ GDP นอกจากนี้ ยังสร้างรายได้ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การบริการด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมจากผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์และผู้ติดตาม ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนได้เตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มากขึ้น ทั้งนโยบายพัฒนาและส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (medical hub) ของรัฐบาล การจัดแพ็กเกจการบริการสุขภาพและทันตกรรมร่วมกับโปรแกรมการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีนโยบายในการขยายฐานตลาดใหม่ๆ โดยได้ขยายระยะเวลาพำนักในไทยเพื่อการรักษาพยาบาลสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและผู้ติดตามในกลุ่ม CLMV และจีน เพิ่มขึ้นจาก 60 วันเป็น 90 วัน จากเดิมที่มีนโยบายขยายระยะเวลาเฉพาะในกลุ่มตลาดตะวันออกกลาง  ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลมากขึ้น

นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางได้ให้ความสำคัญกับลูกค้าต่างชาติมากขึ้น โดยได้ขยายโรงพยาบาลมุ่งเน้นการบริการและราคาที่พรีเมียม อีกทั้งจัดตั้งศูนย์บริการผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉพาะ มีล่ามแปลภาษาเพื่อให้มีการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ มีการเพิ่มช่องทางการให้บริการออนไลน์ และการจัดรถบริการรับ-ส่งที่สนามบิน และที่สำคัญได้เร่งพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นศูนย์การแพทย์ที่ครบวงจร ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ เชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย

 

แม้ว่าไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพหลักของเอเชีย แต่ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียก็มีนโยบายผลักดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้น การที่จะรักษาการเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพหลักของเอเชียได้นั้น บุคลากรทางการแพทย์และการท่องเที่ยวของไทยควรรักษามาตรฐานในการบริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกทั้งเพิ่มความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้า เพิ่มสัดส่วนตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งจะทำให้ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างยั่งยืน

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ