นโยบายโด่ยเหมย - กุญแจสู่ความสำเร็จ ของเวียดนาม
เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2017 คลิกอ่านฉบับเต็ม
นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “โด่ยเหมย” ทำให้เวียดนามมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่ปี 1986 การเริ่มใช้ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด ลดการผูกขาดของภาครัฐ และเพิ่มเสรีทางการค้าและการลงทุนในภาคเอกชนทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 9.6% ต่อปีในช่วงปี 1985-1995 และยังคงเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยราว 6-7% ต่อปี จนกระทั่งปัจจุบัน (รูปที่ 27) ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของนโยบายนี้ คือ การเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน โดยในระยะเริ่มต้น รัฐบาลยกเลิกการกำหนดราคาสินค้าเกษตร คูปองอาหาร และการควบคุมการผลิตและกระจายสินค้าเกษตร ทำให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด และเกษตรกรเริ่มมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ปริมาณสินค้าเกษตรจึงเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศและสามารถส่งออกได้ เวียดนามจึงกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวและเมล็ดกาแฟอันดับ 2 ของโลก ต่อมาเมื่อรัฐบาลสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น การลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างกฎหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวทางเสรีนิยมของนโยบายโด่ยเหมย ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเวียดนามมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ บริษัทต่างชาติได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาในเวียดนาม ส่งผลให้การจ้างงานในเวียดนามสูงขึ้น และความรู้ด้านเทคโนโลยีกระจายสู่แรงงานชาวเวียดนาม