ส่องนโยบายยางพาราจีน นัยต่อไทยในอีก 1 ทศวรรษหน้า
ผู้เขียน: ปิยากร ชลวร และ ภคณี พงศ์พิโรดม
|
จีนเป็นผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลก โดยเกือบ 80 % เป็นการบริโภคยางพาราที่นำเข้าจากตลาดโลก การขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการบริโภคยางพาราของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2012 จีนมีปริมาณการบริโภคยางพาราจำนวน 3.9 ล้านตัน หรือคิดเป็น 35% ของการบริโภคยางพาราทั่วโลก ในขณะที่จีนมีผลผลิตยางพาราเพียง 0.79 ล้านตันหรือราว 21% ของความต้องการบริโภคยางพาราในประเทศ ทำให้ในแต่ละปี จีนต้องนำเข้ายางพาราเป็นจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมามีการนำเข้ายางพารา 2.5 ล้านตัน หรือราว 32% ของการค้ายางพาราทั่วโลก ความสามารถในการพึ่งพาผลผลิตในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้จีนมีนโยบายลงทุนขยายสวนยางพาราทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอุปทานให้อุตสาหกรรมของตน รัฐบาลจีนตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากขาดแคลนยางพาราในประเทศ จึงได้ส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2005-2012 มีการขยายพื้นที่ปลูกราวปีละ 260,000 ไร่ ปัจจุบันจีนจึงมีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 6.5 ล้านไร่ นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศผ่านยุทธศาสตร์ "Going Global" เพื่อสร้างหลักประกันต่อการจัดหายางพาราให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ โดยจีนได้เข้าไปลงทุนในกัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม (CLMV) ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกยางพาราในกลุ่มประเทศดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง โดยในช่วงปี 2006-2012 พื้นที่ปลูกยางพาราในกลุ่ม CLMV เพิ่มขึ้นราวปีละ 1 ล้านไร่ (รูปที่ 1) ทำให้ในปัจจุบันกลุ่มประเทศดังกล่าวมีพื้นที่ปลูกยางพารารวมกันมากถึง 12.2 ล้านไร่ ใกล้เคียงกับไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 14.7 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนในตลาดโลกและจากไทย ในช่วงที่ผ่านมา การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในประเทศของจีนทำได้ไม่มากนัก เพราะแม้ว่าจีนจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่พื้นที่ที่มีสภาพอากาศเหมาะสมกับการปลูกยางพารากลับมีค่อนข้างจำกัด ทำให้ผลผลิตยางพาราที่คาดว่าจะออกมาในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นราวปีละ 7% โดยจากข้อมูลของ International rubber study group (IRSG) พบว่าผลผลิตยางพาราของจีนในปี 2022 จะอยู่ที่ราว 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็น 21% ของความต้องการบริโภค ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรวมผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV กับจีน ก็จะพบว่า ผลผลิตที่ได้ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของจีนอีกเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจีนจะมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกราว 3 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งมากกว่าปี 2012 ที่มีความต้องการนำเข้าเพียง 2 ล้านตัน (รูปที่ 2) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยไปจีนในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่บทบาทของไทยในฐานะ supplier หลักในตลาดยางพาราโลกจะลดความสำคัญลง ขณะที่บทบาทของกลุ่มประเทศ CLMV จะมีมากขึ้นแม้ว่าการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทย แต่การเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงปี 2006-2012 จะทำให้ผลผลิตยางพาราในกลุ่มประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2013-2019 โดย IRSG คาดว่า ผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV จะเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านตันในปี 2012 เป็น 2.8 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้กลุ่ม CLMV มีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตยางพาราในโลกเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2012 เป็น 17% ในปี 2022 ในขณะที่ไทยจะมีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตในโลกลดลง จาก 31% ในปี 2012 เป็น 24% ในปี 2022 (รูปที่ 3) ราคายางพาราในตลาดโลกจะไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากเหมือนในอดีต อีกทั้งยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบมีอิทธิพลต่อราคายางพาราเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ในช่วง 1 ทศวรรษหน้า โลกจะต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2013-2022 โลกจะมีผลผลิตส่วนเกินเฉลี่ยปีละ 162,000 ตัน แตกต่างจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่โลกประสบปัญหาการขาดแคลนยางพารา ซึ่งแม้ส่วนเกินดังกล่าวจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็จะเป็นตัวสร้างแรงกดดันให้ราคายางพาราไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงเหมือนในอดีต (รูปที่ 4) นอกจากนั้น ในระยะต่อไป ปัจจัยที่กระทบต่อความต้องการบริโภคยางพาราโลก เช่น ภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ จะมีอิทธิพลต่อราคายางพาราโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาหรือราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ก็จะส่งผลให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่วนเกินผลผลิตยางพาราโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง รูปที่ 1: จีนและกลุ่มประเทศ CLMV ขยายพื้นที่ปลูกยางพาราค่อนข้างมากในช่วงปี 2005-2012 ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IRSG
รูปที่ 2 : จีนยังคงต้องพึ่งพิงการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกและไทย แม้จะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในช่วงที่ผ่านมา ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IRSG
รูปที่ 3 : บทบาทการเป็น supplier ยางพาราที่สำคัญของไทยในตลาดโลกปรับตัวลดลง ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IRSG
รูปที่ 4 : โลกจะต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะกดดันให้ราคายางพาราไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นเหมือนในอดีต ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ IRSG และสถาบันวิจัยยาง
|
![]() |
|
|
|