ราคายางพาราจะยังมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีหรือไม่
แม้ว่าราคายางพาราในปี 2010 จะดีดตัวสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2010 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 40% จากในช่วงปลายปี 2009 มาอยู่ที่ 130 บาทต่อกก. แต่จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ทำให้คาดว่าราคายางพาราในช่วงครึ่งหลังของปี 2010 ไม่น่าจะสูงเกินกว่า 130 บาทต่อกก.
ผู้เขียน: นันท์เมธินี จงสฤษดิ์หวัง
แม้ว่าราคายางพาราในปี 2010 จะดีดตัวสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2010 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 40% จากในช่วงปลายปี 2009 มาอยู่ที่ 130 บาทต่อกก. แต่จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ทำให้คาดว่าราคายางพาราในช่วงครึ่งหลังของปี 2010 ไม่น่าจะสูงเกินกว่า 130 บาทต่อกก.
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นมากมาจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อุปทานตึงตัวจากผลของสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อปริมาณผลผลิต ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ฟื้นตัวตาม ส่งผลให้ผู้ผลิตยางรถยนต์เพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตยางพาราปรับลดลง เนื่องจากในช่วงต้นปีเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ประกอบกับมีผลของฤดูแล้งที่เริ่มก่อนกำหนดทำให้ไม่สามารถกรีดน้ำยางออกมาได้ ทั้งนี้ The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์ว่าอุปสงค์ยางพาราในปี 2010 ขยายตัวประมาณ 6% มาอยู่ที่ประมาณ 9.9 ล้านตัน โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย อาทิ จีนและอินเดียที่เติบโตสูง ขณะที่อุปทานคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3% มาอยู่ที่ประมาณ 9.8 ล้านตัน จากการขยายตัวของการผลิตของผู้ผลิตยางพาราหลักของโลก คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และศรีลังกา
นอกจากนี้ ราคายางพาราที่สูงยังเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากราคายางพาราที่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน (ดูรูปที่ 1) เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ยางสังเคราะห์มีราคาแพงขึ้นผลักดันให้ราคายางพาราปรับเพิ่มขึ้นตาม ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2010 ราคายางพาราจะเร่งตัวมากกว่าราคาน้ำมันค่อนข้างมาก โดยราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปสู่จุดสูงสุดเมือเดือนเมษายนจากในช่วงปลายปีประมาณ 8% ในขณะที่ราคายางพาราเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 40% ทำให้ spread ของราคายางพาราและราคาน้ำมันกว้างขึ้นมา สะท้อนถึงภาวะที่ไม่ปกติเนื่องจากอุปทานในประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีปริมาณลดลงอย่างมากจากสภาวะอากาศที่แล้งจัด ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว
แม้ราคายางพาราจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2010 แต่คาดว่าแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังและปี 2011 ราคายางพาราไม่น่าจะปรับตัวสูงเกินกว่าระดับสูงสุดที่ 130 บาทต่อกก. จากการที่อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลมากขึ้นและราคาน้ำมันที่ไม่ปรับสูงขึ้นมากนัก เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปจากปัญหาวิกฤติหนี้ภาครัฐ ขณะที่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของจีนอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน สำหรับด้านอุปทาน ผลผลิตยางที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งจะเป็นช่วงฤดูกรีดยาง (รูปที่ 2) อีกทั้งมีเนื้อที่กรีดยางที่ทยอยเปิดกรีดเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ภาวะขาดแคลนผลผลิตยางพาราของโลกมีแนวโน้มผ่อนคลาย (รูปที่ 3) โดย International Rubber Study Group (IRSG) คาดว่าสต๊อกของผลผลิตยางพาราในปี 2010 และ 2011 จะอยู่ที่ระดับ 1.58 และ 1.53 ล้านตันตามลำดับลดลงเล็กน้อยจากในปี 2009 ที่อยู่ที่ 1.6 ล้านตัน
นอกจากนี้ จากข้อมูลในช่วงปี 2008 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2010 พบว่าที่ราคายางพาราเฉลี่ยที่ 84 บาทต่อกก. ราคาน้ำมันเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 81 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล ซึ่งจะพบว่าในช่วงที่ราคายางพาราสูงสุดที่ 130 บาทต่อกก. ในเดือนเมษายน 2010 ราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 84 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของราคายางพาราในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์อุปทานมากกว่าราคาน้ำมัน ทั้งนี้ จากการประมาณการของ SCB EIC พบว่าหากอุปทานยังอยู่ในภาวะตึงตัว โดยที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับ 90 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวขึ้นไปถึงระดับประมาณ 115 บาทต่อกก.เท่านั้น