SHARE
SCB EIC ARTICLE
07 เมษายน 2017

ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรม EMS ในอาเซียน

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในยุคปัจจุบันไปแล้ว โดยการผลิตสมาร์ทโฟนสักเครื่อง จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งผลิตและออกแบบมาจากหลากหลายแหล่ง ก่อนจะถูกนำไปประกอบ ซึ่งธุรกิจที่จะเข้ามาทำให้อุปกรณ์ชิ้นดังกล่าวนี้มีหน้าตาที่สวยงามพร้อมใช้ คือ ธุรกิจรับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่รู้จักกันในนามว่า EMS (Electronics Manufacturing Services) ยกตัวอย่าง บริษัทในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ที่หลายคนอาจจะพอเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง อย่างบริษัท Foxconn ผู้ที่รับประกอบโทรศัพท์ iPhone ให้กับบริษัท Apple

ผู้เขียน: อภิญญา อักษรกิจ

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ / เปิดเกมส์รุกบุก AEC วันที่ 6 เมษายน 2017

 

Banner_EMS.jpg

 

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในยุคปัจจุบันไปแล้ว โดยการผลิตสมาร์ทโฟนสักเครื่อง จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งผลิตและออกแบบมาจากหลากหลายแหล่ง ก่อนจะถูกนำไปประกอบ ซึ่งธุรกิจที่จะเข้ามาทำให้อุปกรณ์ชิ้นดังกล่าวนี้มีหน้าตาที่สวยงามพร้อมใช้ คือ ธุรกิจรับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่รู้จักกันในนามว่า EMS (Electronics Manufacturing Services) ยกตัวอย่าง บริษัทในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ที่หลายคนอาจจะพอเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง อย่างบริษัท Foxconn ผู้ที่รับประกอบโทรศัพท์ iPhone ให้กับบริษัท Apple  

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ไม่ได้แค่รับจ้างประกอบเครื่องสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ยังรับผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้หลากหลายตามแบบที่เจ้าของแบรนด์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้องการ ซึ่งกิจกรรมบนห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิต EMS ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การผลิตสารกึ่งตัวนำ ไปจนถึงปลายน้ำ เช่น การประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อส่งขาย ทั้งนี้ ธุรกิจ EMS เกิดขึ้นเพื่อลดต้นทุนของเจ้าของแบรนด์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ธุรกิจขับเคลื่อนด้วยการแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้ขยายตัวปีละ 2% และมีมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 14 เท่าของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดในปี 2016 นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตต่อเนื่องถึง 5% ต่อปี หรือเพิ่มเป็น 4.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2020 ตามการขยายตัวของการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน และออโตเมชั่นในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น  

 

เพื่อให้ครองส่วนแบ่งในอุตสาหกรรม EMS ที่มีแนวโน้มเติบโตดีนี้เอง ทำให้ผู้ผลิต EMS จะต้องแข่งขันกันทั้งด้านราคาและด้านความสามารถในการตอบสนองความต้องการของเจ้าของแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ โดยกลยุทธ์ของผู้ผลิต EMS รายใหญ่มักแข่งขันด้วยการนำเสนอโซลูชั่นการผลิตที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ราคาของเจ้าของแบรนด์เป้าหมาย โดยที่ผู้ผลิตต้องควบคุมต้นทุนการผลิตของตนเองผ่านการควบคุมคุณภาพที่เข้มข้น ลดของเสียจากการผลิต และหันมาใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตให้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนทั้งด้านแรงงานและวัตถุดิบ นอกจากนี้ ยังต้องรักษาความสามารถในการผลิตกับเจ้าของแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย เพราะธุรกิจ EMS ต้องพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่จำนวนไม่กี่ราย เช่น การที่บริษัท Foxconn เสียส่วนแบ่งในการประกอบ iPhone บางรุ่นให้กับบริษัท Pegatron และ บริษัท Wistron เนื่องจากกำลังการผลิตของ Foxconn เพียงรายเดียวไม่เพียงพอต่อความต้องการ iPhone 6 ที่มีกว่า 60 ล้านเครื่องในช่วงปี 2014

 

สำหรับในไทย มีผู้ผลิต EMS อยู่จำนวนหนึ่งเช่นกัน โดยมี 5 รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถึงแม้ว่ารายได้ของผู้ผลิต EMS ไทยจะเป็นส่วนน้อยของมูลค่าอุตสาหกรรม EMS โลก แต่กำไรจากการดำเนินงานของผู้ผลิตกลุ่มนี้ในช่วงปี 2014-2016 เติบโตต่อเนื่องจากขีดความสามารถของผู้ผลิตไทยที่สามารถผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้หลากหลาย ตั้งแต่ระบบไฟจราจร ชิ้นส่วนสำหรับออโตเมชั่นอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์  โดยกลุ่มชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์นี้เองเป็นกลุ่มที่มีอัตราการจ้างผลิตจากเจ้าของแบรนด์สูงและเป็นชิ้นส่วนที่ผู้ผลิต EMS รายใหญ่ของไทยผลิตเป็นสินค้าหลัก ซึ่งประกอบด้วยแผงวงจรพิมพ์ของฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ หรือ PCBA ปรินท์เตอร์ เมนบอร์ด เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ผลิต EMS ไทยยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง รวมถึงสามารถรักษาทรัพย์สินทางปัญญาของลูกค้าได้ดี รวมถึงให้บริการด้านการออกแบบและทดสอบซึ่งเป็นกิจกรรมต้นน้ำมากขึ้นอีกด้วย  

 

เมื่อมองในระดับภูมิภาคอาเซียน ยังมีผู้ผลิต EMS อีก 8 รายที่เป็นบริษัทจดทะเบียนกระจายตัวอยู่ในมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ โดยรายได้ของผู้ผลิตกลุ่มนี้คิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของไทยเท่านั้น และมีการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานคงที่ด้วยสินค้าหลักคือ PCBA ที่ใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งนี้ มีเพียง 1-2 รายเท่านั้นที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่จากการผลิตอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น เครื่องมือวัด อุปกรณ์การแพทย์ และโซลูชั่นสำหรับธุรกิจค้าปลีกและอุตสาหกรรม โดยผู้ผลิตกลุ่มนี้มีกลยุทธ์ในการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานของตนเองผ่านการลงทุนในบริษัทลูกและสร้างพันธมิตรกับผู้ผลิตในประเทศต่างๆ ทั้งในจีนและอินโดนีเซีย นอกเหนือจากประเทศเหล่านี้แล้ว เวียดนามเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองถึงบทบาทในอุตสาหกรรม EMS เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีบริษัท EMS จดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวอย่างมากในเวียดนามอาจเป็นแรงขับเคลื่อนหนึ่งที่ผลักดันให้ธุรกิจ EMS มีโอกาสโตตามไปด้วยในอนาคต  

 

จากการรับจ้างผลิตเพื่อลดต้นทุนของเจ้าแบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ไปสู่แนวโน้มการเติบโตและการแข่งขันของเหล่าผู้ผลิต EMS ชวนให้ต้องตั้งคำถามว่า สมาร์ทโฟนคู่ใจในมือนี้ ใครผลิต? 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ