SHARE
IN FOCUS
01 พฤศจิกายน 2013

คอนกรีตผสมเสร็จ และโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้เล่นรายใหม่

ผู้เขียน:  ลลิตา เธียรประสิทธิ์ และจักรมนต์ นิติพน

122489424.jpg

คอนกรีตผสมเสร็จ (Ready-mixed concrete หรือ RMC) เป็นวัสดุก่อสร้างที่สำคัญและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีคุณภาพที่สม่ำเสมอ สะดวกในการใช้ และประหยัดเวลาในการก่อสร้าง อุตสาหกรรมคอนกรีตผสมเสร็จในไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องเพราะการขยายตัวของภาคก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม การคว้าโอกาสในอุตสาหกรรมคอนกรีตผสมเสร็จต้องอาศัยขีดความสามารถ ได้แก่ การสร้างตราสินค้า (Branding) และชื่อเสียง การขยายเครือข่ายโรงงานผสมคอนกรีตอย่างรวดเร็วด้วยระบบแฟรนไชส์ การบริหารจัดการเครือข่ายโรงงาน การบริหารระบบโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการซีเมนต์รายใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือผู้ประกอบการรายเล็กเนื่องจากมีศักยภาพในการแข่งขันสูง

ตลาดคอนกรีตผสมเสร็จในไทย เป็นตลาดที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตสูง เป็นผลมาจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์    หากผ่านบริเวณเขตก่อสร้างขนาดใหญ่ จะสังเกตเห็นรถบรรทุกผสมปูนเข้าแถวรอเพื่อส่งมอบวัตถุดิบที่สำคัญที่สุดในการก่อสร้าง นั่นคือ คอนกรีต ซึ่งส่งมอบในรูปแบบคอนกรีตผสมเสร็จ ที่ประกอบด้วย ซีเมนต์ วัสดุผสม ได้แก่ ทราย หินกรวดและหินย่อย และน้ำ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่า ตลาดคอนกรีตผสมเสร็จเติบโตในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ในช่วงปี 2007-2012 และอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2012 เมื่ออุตสาหกรรมขยายตัวราว 22% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า (รูปที่ 1)  นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะกระตุ้นการใช้คอนกรีตผสมเสร็จ เพราะโครงการเหล่านี้ต้องการคอนกรีตที่มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ และการส่งคอนกรีตตามเวลาที่กำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับเหมา ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างและความจำเป็นในการร่นระยะเวลาก่อสร้างเป็นตัวผลักดันให้มีการใช้คอนกรีตผสมเสร็จเพิ่มขึ้น ประโยชน์ของคอนกรีตผสมเสร็จอีกประการหนึ่งคือ การผสมคอนกรีตนอกเขตก่อสร้าง  ทำให้คอนกรีตผสมเสร็จเป็นที่นิยมใช้ในโครงการก่อสร้างที่มีพื้นที่จำกัด และยังคงคุณภาพสูงเมื่อนำมาใช้  แม้ว่าคอนกรีตผสมเสร็จจะมีข้อดีหลายประการ แต่การใช้คอนกรีตผสมเสร็จนั้นมีต้นทุนสูงกว่าการผสมซีเมนต์แบบเดิมจากปูนถุง ตัวอย่างเช่น การปูพื้นคอนกรีตขนาด 1 ลูกบาศก์เมตรด้วยคอนกรีตผสมเสร็จ จะมีราคาสูงกว่าการผสมซีเมนต์ถุงที่ไซต์งานประมาณร้อยละ 15  อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมใช้คอนกรีตผสมเสร็จในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 72 ของปูนซีเมนต์ที่ผลิตทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นจะนำไปใช้ในการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ราวร้อยละ 25 ในประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นใช้คอนกรีตผสมเสร็จประมาณ 0.71 ลูกบาศก์เมตรต่อหัว ในขณะที่ประเทศไทยใช้คอนกรีตผสมเสร็จเพียง 0.35 ลูกบาศก์เมตรต่อหัว   ประเทศไทยจะมีการใช้คอนกรีตผสมเสร็จเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคก่อสร้างและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) (รูปที่ 2)   นอกจากนี้ การใช้กำลังการผลิตของโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จรายใหญ่ในไทยยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับโรงผลิตซีเมนต์ผง (รูปที่ 1) ดังนั้นโรงงานจึงยังมีศักยภาพที่จะผลิตคอนกรีตผสมเสร็จตามความต้องการของตลาดที่มีเพิ่มมากขึ้น

ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดได้ แต่ผู้เล่นรายใหญ่อาจได้เปรียบมากกว่า  ตลาดคอนกรีตผสมเสร็จในไทยมีผู้เล่นรายเล็กหลายราย (Fragmentation) เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดซีเมนต์ผง (รูปที่ 3) เนื่องจากการผลิตซีเมนต์ผงให้ได้ผลกำไรที่ดี จำเป็นต้องมีการผลิตในปริมาณที่มากเพียงพอ เพื่อประโยชน์จาก economy of scale  ในขณะที่ธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จไม่มีข้อจำกัดด้านขนาดธุรกิจมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าสู่ตลาดได้ เห็นได้จากส่วนแบ่งในตลาด ของผู้ผลิตซีเมนต์รายใหญ่ 3 รายในประเทศไทย (ได้แก่ กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ปูนซีเมนต์นครหลวง และ ทีพีไอโพลีน) มีส่วนแบ่งในตลาดซีเมนต์ผงรวมกันร้อยละ 85 ในขณะที่มีส่วนแบ่งในตลาดคอนกรีตผสมเสร็จรวมกันเพียงร้อยละ 61 (รูปที่ 3) นอกจากนั้น ผู้ประกอบการคอนกรีตผสมเสร็จที่ไม่มีโรงงานผลิตซีเมนต์ผงก็สามารถขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จได้   แม้ผู้เล่นรายเล็กจะสามารถแข่งขันได้ แต่ผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จรายใหญ่ที่ทำธุรกิจครบวงจรนั้น มีแนวโน้มที่จะได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่าผู้ผลิตรายเล็กซึ่งเห็นได้จากกำไรสุทธิที่สูงกว่า (รูปที่ 4)  ข้อได้เปรียบเหล่านี้มีผลมาจากความสามารถในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบได้อย่างต่อเนี่อง การบริหารจัดการเครือข่ายโรงงานผสมคอนกรีต การบริหารระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ การบริการลูกค้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์  ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากขนาดธุรกิจที่ใหญ่เพียงพอ  นอกจากนี้ ผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จรายใหญ่มักมีชื่อเสียงและตราสินค้าที่เป็นที่รู้จัก ทำให้สามารถขายสินค้าของตนให้แก่ผู้รับเหมารายใหญ่ที่ก่อสร้างโครงการมูลค่าสูงได้  ในทางกลับกัน ผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จรายเล็กที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่จำกัดมากกว่า อาจจะต้องเน้นแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดในโครงการก่อสร้างที่มีขนาดเล็กลงมา

ผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จรายใหญ่เน้นขยายธุรกิจด้วยรูปแบบแฟรนไชส์   ธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จมีอัตรากำไรเบื้องต้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 13 (ในปี 2012) และผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ขยายตลาดอย่างต่อเนื่องในตลาดที่มีศักยภาพ  ซึ่งวิธีการขยายธุรกิจอาจอยู่ในรูปแบบการลงทุนด้วยตนเอง หรือขยายสาขาผ่านแฟรนไชส์ ซึ่งผู้ขายแฟรนไชส์สามารถออกกฎเกณฑ์ควบคุมคุณภาพเพื่อสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการบริการลูกค้าให้อยู่ในระดับที่ดี  รูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยได้แพร่หลายและเป็นกลยุทธ์การขยายตลาดที่สำคัญของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งสามราย เพราะสามารถขยายเครือข่ายโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จได้รวดเร็ว ด้วยงบลงทุนเริ่มต้นที่ต่ำ อีกทั้งผู้ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์มักมีความรู้เกี่ยวกับลูกค้าในระดับท้องถิ่นที่ดีกว่า จากรูปแบบธุรกิจดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งสามรายมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ต่อปี ในช่วงปี 2007-2012 ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จเพียงอย่างเดียว มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.9 ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จยังสร้างรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยสัดส่วนรายได้จากคอนกรีตผสมเสร็จของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยมีสูงถึงร้อยละ 47 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2013 หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของรายได้จากธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างของกลุ่ม

ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ยังสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดคอนกรีตผสมเสร็จได้ แต่ควรเป็นผู้บุกตลาดรายแรกๆ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้ความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดท้องถิ่น  ผู้ประกอบการท้องถิ่นรายเดิมที่มีส่วนแบ่งในตลาดท้องถิ่นสูงมักจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับเหมาท้องถิ่น ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายต่อผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเจาะตลาดและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด  ดังนั้นผู้ประกอบการควรเจาะตลาดใหม่ๆ เป็นรายแรกๆ เพื่อสร้างโครงข่ายและสายสัมพันธ์กับผู้รับเหมาในท้องถิ่น นอกจากนี้ ผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จควรมุ่งหาตลาดที่น่าสนใจที่มีแนวโน้มของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่และการขยายตัวของเมือง ซึ่งส่วนมากเป็นผลมาจากรายได้ประชากรที่สูงขึ้น นอกเหนือจากนี้ การขยายตลาดควรต้องคำนึงถึงโครงข่ายของโรงงานผสมคอนกรีตผสมเสร็จด้วย เพื่อให้ครอบคลุมกับเนื้อที่ตลาดให้มากที่สุด เนื่องจากคอนกรีตผสมเสร็จสามารถเสื่อมสภาพได้ง่าย เพราะมีอายุการเก็บรักษาเพียง 90 นาทีหลังผสมเสร็จเท่านั้น ดังนั้นการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จจึงต้องอยู่ในระยะทางที่เหมาะสมกับบริเวณก่อสร้างของลูกค้า นอกจากนี้ ผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จต้องสามารถกระจายผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการประสานงานผ่านหน่วยงานกลาง หรือ call center เพื่อให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ทันเวลา เพราะการบริการเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับผู้รับเหมา ดังนั้น ผู้ประกอบการคอนกรีตผสมเสร็จจำเป็นต้องรักษาระดับการบริการให้มีคุณภาพสูงเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าให้ยั่งยืน  อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งและดำเนินการโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก  การลงทุนเริ่มต้นเฉลี่ยสำหรับโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จที่จดทะเบียนแล้ว อยู่ที่ราว 21 ล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2013) อีกทั้งการดำเนินการยังต้องเป็นไปตามข้อบังคับด้านอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้ผลิตต้องติดตั้งระบบกำจัดฝุ่นในโรงผลิต ด้วยข้อกำหนดต่างๆ ในการทำธุรกิจดังกล่าว อาจจะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่มีขีดความสามารถจำกัดไม่สามารถเจาะตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรม


 

รูปที่ 1: ตลาดคอนกรีตผสมเสร็จเติบโตร้อยละ 7 ต่อปี ระหว่างปี 2007-2012 และผู้เล่นยังมีศักยภาพในการเพิ่มการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ 

6523_20131101134058.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BOL และ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  

รูปที่ 2: ประเทศไทยจะมีการใช้คอนกรีตผสมเสร็จเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของประเทศ ด้วย GDP ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 6524_20131101134122.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BOL, European Ready-Mixed Concrete Organization, IMF, World Bank และ ข่าว

รูปที่ 3: อุตสาหกรรมคอนกรีตผสมเสร็จมีความกระจัดกระจาย (fragment) มากกว่าอุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์ผง โดยผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 66 ของตลาดคอนกรีตผสมเสร็จทั้งหมด

 6525_20131101134143.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BOL และ รายงานของบริษัท

 

รูปที่ 4: ผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ได้เปรียบผู้ประกอบการรายเล็กๆ ซึ่งจะเห็นได้จากอัตรากำไรสุทธิที่สูงกว่า

 6526_20131101134201.jpg

หมายเหตุ:
1) ผู้ผลิตซีเมนต์ครบวงจรหมายถึงผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ (กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ปูนซีเมนต์นครหลวง และ ทีพีไอโพลีน)
2) สำหรับผู้ประกอบการ 20 รายแรก วัดตามรายได้จากมากไปน้อย

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BOL

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • ตลาดที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ ได้แก่ ตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จหรือผู้ผลิตซีเมนต์รายใหญ่ควรขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและมีการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดที่การก่อสร้างเติบโตอย่างรวดเร็ว  ตัวอย่างเช่น ภาคอีสานซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองสูงจากความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม
  • ผู้ค้าปลีกที่มีขีดความสามารถและเงินทุนเพียงพอ ควรเพิ่มคอนกรีตผสมเสร็จเข้ามาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายแก่ลูกค้า  จากการที่คอนกรีตผสมเสร็จเติบโตมากขึ้นในประเทศไทย ผู้ค้าปลีกวัสดุก่อสร้างท้องถิ่นที่มีที่ดินเปล่าและเงินทุนเพียงพอ สามารถเพิ่มคอนกรีตผสมเสร็จเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายแก่ลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อแฟรนไชส์จากผู้ประกอบการซึ่งเป็นที่ยอมรับและครบวงจรจะทำให้ผู้ค้าปลีกจะได้รับประโยชน์จากความรู้ความชำนาญของเจ้าของแฟรนไชส์ แหล่งวัตถุดิบที่มั่นคง ตราสินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับ และฐานลูกค้า รวมทั้งสามารถลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดมากกว่าการสร้างตราสินค้าของตนเอง
  • ผู้ประกอบการที่อยู่ในมีพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และมีความรู้ในการกระจายวัสดุก่อสร้างเป็นอย่างดี สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จได้ง่าย  ผู้ประกอบการที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับเหมาสามารถเจาะตลาดในระดับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการเข้าสู่ตลาดของคู่แข่งขันรายใหม่ๆ ผู้ประกอบการที่มีความรู้ในการกระจายสินค้าโดยเฉพาะผู้ค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง สามารถนำคอนกรีตผสมเสร็จมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมซึ่งจะได้รับประโยชน์จากฐานลูกค้าเดิม และสามารถใช้ความรู้ความชำนาญในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ