SHARE
FLASH
21 มีนาคม 2017

Brexit กลับมาระอุอีกครั้ง หลัง UK เตรียมใช้ม. 50

ผู้เขียน: พิมพ์นิภา บัวแสง 

 

thumb_eic_brexit_article50.jpg

 

 

Event.png

885_20100622103059.gif

  • นายกรัฐมนตรี Theresa May  เตรียมประกาศใช้มาตรา 50 (Article 50) ของสนธิสัญญาลิสบอน ในวันที่ 29 มี.ค. 2017 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเจรจาการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) ทั้งนี้ การสิ้นสุดสมาชิกภาพจะใช้เวลา 2 ปีหลังจากการประกาศใช้มาตรา 50 ซึ่งหมายความว่าสหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) จะออกจาก EU อย่างเป็นทางการภายในเดือนมี.ค. 2019 แต่อาจมีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้หากได้รับความยินยอมจากสมาชิกใน EU 

  • เอกสารเผยแพร่ของรัฐบาลซึ่งชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการแยกตัวออกจาก EU ของ UK มีใจความสำคัญว่า UK จำเป็นต้องออกจากตลาดเดียว (Single market) ของ EU เนื่องจาก UK ต้องการควบคุมจำนวนผู้อพยพ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการของ EU ที่มีเป้าหมายสำคัญในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และคนได้อย่างเสรี โดย UK มีเป้าหมายที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU เพื่อให้การค้าของทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ การออกจาก Single market เป็นสิ่งที่นักลงทุนมองว่าเป็น Hard Brexit
Analysis.png

884_20100622103051.gif

  • ค่าเงินปอนด์มีความอ่อนไหวต่อข่าวที่เกี่ยวกับ Brexit ค่อนข้างมาก โดยล่าสุดแตะจุดต่ำที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ในวันที่มีการประกาศว่าเป็น Hard Brexit ตลาดการเงินมีมุมมองว่าการถอนตัวออกจาก EU ในรูปแบบดังกล่าวอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของ UK ได้ในอนาคต (รูปที่ 1)  เนื่องจาก UK พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศกับ EU คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศของ UK ทั้งหมด อีกทั้งการออกจาก Single market ของ EU  หมายความว่า ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง UK และ EU จะไม่สามารถทำให้ UK ได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับสมาชิกของ EU อย่างแน่นอน และจะกระทบต่อข้อตกลงทางการค้าที่ UK เคยทำกับประเทศอื่น ในฐานะประเทศสมาชิกของ EU อีกด้วย นอกจากนี้ หาก UK ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU ได้ภายใน 2 ปี และไม่มีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมจะส่งผลให้ UK ต้องทำการค้าขายกับ EU ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีอภิสิทธิ์ใดเลย

  • อีไอซีมองว่า การเร่งกระบวนการ Brexit ให้เกิดขึ้นเร็ว อาจทำให้ได้ข้อตกลงที่ไม่สมบูรณ์นัก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจจริง สภาขุนนาง (House of Lords) มีมติแก้ไขร่างกฎหมาย Brexit ก่อนหน้านี้ โดยต้องการให้รัฐบาลรับประกันสิทธิ์ให้กับพลเมืองของ EU จำนวน 3 ล้านคนในการพำนักอยู่ที่ UK และต้องการที่จะได้รับสิทธิ์ในการยับยั้งข้อตกลง (veto) ในขั้นสุดท้ายของการเจรจาแยกตัวออกจาก EU สะท้อนว่ายังมีความขัดแย้งภายใน และอาจยังไม่มีความพร้อมที่เพียงพอในการเริ่มกระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ถึงแม้ผลกระทบจากผลโหวต Brexit นับตั้งแต่ผลประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. 2016 จะยังไม่สะท้อนผ่านภาคเศรษฐกิจจริงของ UK มากนัก โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ UK ยังสูงกว่าระดับก่อนผลประชามติ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ UK ฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภาคครัวเรือนก่อนหน้าแล้ว ซึ่งตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่าง Brexit ค่อนข้างช้า โดยภาวะการจ้างงานที่ยังไม่ซบเซาส่งผลให้ผู้บริโภคยังไม่ชะลอการบริโภค เพราะเชื่อมั่นว่าจะยังมีรายได้เพื่อการใช้จ่ายในอนาคต แต่การเริ่มต้นกระบวนการ Brexit ที่เร็วเกินไปจะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับข้อตกลงฉบับใหม่ และอาจมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน ที่ยากขึ้นอาจทำให้บริษัทที่มีการประกอบธุรกิจเชื่อมโยงกับประเทศอื่นใน EU เลือกที่จะย้ายสำนักงานออกจาก UK  ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุน การจ้างงาน การบริโภค และเศรษฐกิจของ UK ชะลอตัวลงในที่สุด นอกจากนี้ ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่ารุนแรงอาจส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น และจะกระทบการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะต่อไป ทั้งนี้ เศรษฐกิจของ EU อาจชะลอตัวตามไปด้วยเช่นกัน เนื่องจาก UK เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความเชื่อมโยงกับ EU ค่อนข้างมาก
     
  • ภาคธุรกิจหลายแห่งโดยเฉพาะภาคธนาคารตัดสินใจที่จะย้ายสำนักงานออกจาก  UK จากการสำรวจของบริษัท Ernst & Young พบว่า บริษัทต่างชาติใน UK กว่า 14% ตัดสินใจแล้วว่าจะย้ายการทำงานบางส่วนหรือทั้งหมดออกจาก UK  โดยบริษัทกว่าครึ่งมองว่าเยอรมนีเป็นที่ตั้งที่น่าสนใจที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ สถาบันการเงินขนาดใหญ่อย่างธนาคาร Barclays ก็เตรียมย้ายสำนักงานใหญ่จาก UK ไปที่ไอร์แลนด์ ขณะที่ Morgan Stanley เตรียมย้ายพนักงาน 300 คนออกจาก UK หลังแยกตัวจาก EU  ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ภาคธนาคารบางส่วนตัดสินใจที่จะลดการประกอบการใน UK  เพราะความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะงักงันอาจส่งผลต่อเนื่องถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศและต้นทุนการกู้ยืมของสถาบันการเงินได้ในอนาคต
Implication.png

886_20100622103105.gif

  • ส่งออกไทยเสี่ยงซบเซา หาก Brexit ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจยูโรโซน แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าโดยตรงระหว่างไทยกับ UK จะมีไม่มากนัก แต่ความไม่แน่นอนในการเจรจา Brexit อาจส่งผลกระทบต่อไทยผ่านความผันผวนในตลาดการเงินในระยะสั้นและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน EU และ UK อาจกระทบต่อภาคส่งออกไทยเป็นวงกว้าง เนื่องจากไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นสัดส่วนกว่า 12% ของส่งออกทั้งหมด ซึ่งนำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ (รูปที่ 2) ทั้งนี้ ระดับผลกระทบจาก Brexit ในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงที่ประนีประนอมกันได้ในระดับใด โดยผลกระทบจะน้อยที่สุดหากข้อตกลงฉบับใหม่สามารถทำให้การค้าและการลงทุนยังคงเป็นไปได้อย่างราบรื่น ขณะที่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้และจบลงด้วยความสัมพันธ์ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO)

  • จับตาสกอตแลนด์เตรียมลงประชามติแยกตัวจาก UK ทวีความเสี่ยงการเจรจา Brexit Nicola Sturgeon ผู้นำและมุขมนตรีของสกอตแลนด์ ต้องการจัดทำประชามติครั้งใหม่ว่าด้วยการแยกตัวของสกอตแลนด์ออกจาก UK หลังจากผลโหวต Brexit บ่งชี้ว่าชาวสกอตแลนด์กว่า 62% ต้องการอยู่ใน EU ต่อไป โดยการลงประชามติอาจถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 2018 ถึง ช่วงต้นปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่ UK ใกล้จะสิ้นสุดกระบวนการเจรจา Brexit การลงประชามติดังกล่าวจึงนับว่าเป็นอีกความเสี่ยงต่อการเจรจา Brexit ที่อาจทำให้ UK ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับ EU ได้ภายใน 2 ปี นอกจากนี้ หากผลประชามติออกมาว่าสกอตแลนด์จะแยกตัวจาก UK ก็จะเพิ่มความไม่แน่นอนซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่าสกอตแลนด์จะยังใช้เงินปอนด์ต่อไปหรือไม่ 

 

รูปที่ 1: ค่าเงินปอนด์แตะจุดต่ำที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ในวันที่มีการประกาศว่าเป็น Hard Brexit

 1.jpg

 

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

 

 

รูปที่ 2: เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกหลักจากไทยไปยัง EU และ UK

 

2.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

 

 

Tags
EUUKBrexit
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ