SHARE
SCB EIC ARTICLE
20 มีนาคม 2017

RCEP กลับมาผงาดอีกครั้งหลัง TPP ส่อล่ม?

TPP vs RCEP

ผู้เขียน: พิมพ์นิภา บัวแสง

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2017

 

TPP.jpg

 

 

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อไทย เพราะไทยยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก TPP ซึ่งสิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการหลังจากนี้ คือ การผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2017 ตามเป้าหมายที่ผู้นำทั้ง 16 ประเทศได้ประกาศไว้ เพราะไทยจะได้ประโยชน์จากความตกลงนี้ เนื่องจากเป็นกรอบเจรจาที่ใหญ่สุดในโลก หากไม่มี TPP”

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 23 มกราคม 2017

 

 

Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement (TPP) คืออะไร?

TPP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีสหรัฐฯ เป็นอดีตหัวเรือใหญ่ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มการค้า การบริการ และการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงสร้างมาตรฐานการค้าและกฎระเบียบร่วมกัน ทั้งด้านการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยเริ่มมีการเจรจาความตกลงดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2008 และผ่านความเห็นชอบของประเทศสมาชิก 12 ประเทศในปี 2015 อันประกอบไปด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ทั้งนี้ ข้อตกลง TPP ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ครอบคลุมเกือบ 40% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก หรือคิดเป็นราว  20% ของมูลค่าการค้าโลก

 

"ประธานาธิบดีทรัมป์" เริ่มทำงานวันแรกด้วยคำสั่งถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้า TPP

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) เพื่อถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้า TPP ที่รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า เป็นผู้ผลักดัน โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐฯ และจะทำให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานจำนวนมาก โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ มีเป้าหมายในการจัดทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับแต่ละประเทศโดยตรงมากกว่า และกำลังเดินหน้าเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าในลักษณะที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของแรงงานอเมริกันและบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ในสหรัฐฯ

การประกาศถอนตัวจาก TPP ของสหรัฐฯ ส่งผลให้การบังคับใช้หุ้นส่วนเศรษฐกิจ 12 ชาติหยุดชะงัก เนื่องจากขาดตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศสมาชิกจะได้รับจากการดำเนินการตามความตกลง TPP ลดลงเหลือน้อยมากจนอาจไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่แต่ละประเทศต้องจ่ายไป อย่างไรก็ดี ความล้มเหลวของ TPP ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความร่วมมือขนาดใหญ่รองจาก TPP ที่มีจีนเป็นหัวเรือหลักในการขับเคลื่อน โดยประเทศสมาชิก RCEP มีแรงจูงใจที่จะเร่งบรรลุข้อตกลงดังกล่าวให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะประเทศที่เป็นสมาชิกของทั้ง TPP และ RCEP ที่ต้องเสียโอกาสด้านการค้าครั้งใหญ่กับตลาดสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาความตกลงการค้ากับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) คืออะไร?

ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) คือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศกับคู่ภาคี อีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดระบบการค้าเสรีที่ใช้กฎระเบียบเดียวกันของภาคีทั้งหมด 16 ประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Global Supply Chain) โดย RCEP เป็นความตกลงขนาดใหญ่ครอบคลุม 24% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก และ 46% ของประชากรโลก

 

RCEP แตกต่างจาก TPP อย่างไร?

  1.  TPP เป็นความตกลงที่มีสหรัฐฯ เป็นอดีตแกนนำหลัก ขณะที่ RCEP มีจีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลและบทบาทสูงในการกำหนดแนวทาง ดังนั้น หากข้อตกลง RCEP ประสบความสำเร็จ จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการค้าโลกแทนสหรัฐฯ

  2.  TPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง โดยเฉพาะประเด็นสิทธิบัตรยาและทรัพย์สินทางปัญญา ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบและตัดสินใจไม่เข้าร่วมใน TPP ขณะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของ RCEP ซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นและเอื้อประโยชน์กับไทยมากกว่า

  3.  RCEP เป็นการเจรจาที่จะต่อยอดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ AEC ซึ่งในอดีต TPP ถูกมองว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญและสร้างแรงกดดันต่อการพัฒนา AEC

  4. 12 ประเทศสมาชิก TPP ได้บรรลุข้อตกลงกันไปแล้วในวันที่ 5 ตุลาคม 2015 ก่อนที่สหรัฐฯ จะถอนตัวเมื่อเดือนมกราคม 2017 ขณะที่การเจราจา RCEP ค่อนข้างล่าช้าและยังไม่ได้ข้อสรุปในหลายประเด็น โดยประเด็นที่ต่อรองกันอย่างยาวนาน คือ การกำหนดเป้าหมายลดภาษีสินค้ากับทุกประเทศสมาชิกในระดับที่เท่ากันหรือสูงกว่า ดังเช่นอาเซียนที่เปิดเสรีสินค้าระหว่างกันหมดแล้ว

สถานการณ์ล่าสุดของการเจรจา RCEP เป็นอย่างไร?

จากการเจรจาครั้งล่าสุดเดือนในเดือนมกราคม 2017 สมาชิก RCEP ตกลงจะเปิดเสรีสินค้าแล้วในสัดส่วน 80% ของสินค้าที่ตกลงกันว่าจะลดภาษีนำเข้า โดยในจำนวนนี้สัดส่วน 65% จะลดภาษีเป็น 0% ทันที ส่วนอีก 15% จะลดเป็น 0% ใน 10-15 ปี สำหรับ 20% ที่เหลือเป็นสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง ซึ่งจะมีการกำหนดรูปแบบหรือเกณฑ์การลดภาษีของสินค้ากลุ่มดังกล่าว ในการประชุมที่ญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2017

สำหรับการค้าด้านบริการและการลงทุนจะมีการหารือถึงการเปิดเสรีการค้าเพิ่มเติมในการประชุมที่ญี่ปุ่นจะเป็นการหารือถึงการเปิดเสรีเพิ่มเติม ทั้งการเพิ่มจำนวนสาขาของธุรกิจบริการที่จะเปิดเสรี และการกำหนดมาตรฐานเพื่อความโปร่งใสของการใช้กฎระเบียบหรือมาตรการของสมาชิก เพื่อลดข้อจำกัดด้านกฎหมายหรืออุปสรรคต่อการเปิดเสรี ซึ่งอาเซียนและคู่เจรจามีท่าทีแตกต่างกัน โดยเฉพาะการผูกพันการเปิดเสรี ภายใต้หลักการ Ratchet ที่กำหนดให้สมาชิกผูกพันเปิดเสรีเท่ากัน หรือไม่น้อยกว่าที่กฎหมายแต่ละประเทศอนุญาต และต้องเปิดเสรีให้เพิ่มขึ้นเมื่อแต่ละประเทศแก้ไขกฎหมายให้มีความเป็นเสรีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการเปิดเสรีลงทุน นักลงทุนในประเทศสมาชิกสามารถฟ้องร้องรัฐบาลของประเทศที่เข้าไปลงทุนได้หากปฏิบัติไม่เป็นธรรม โดยไทยมีมาตรการคุ้มครองการลงทุนระดับสูงอยู่แล้วจึงช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สาขาที่ไทยจะเปิดเสรีเป็นสาขาที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการ รวมถึงกิจการ e-Commerce ที่เน้นการคุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต

ความขัดแย้งสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเจรจา RCEP อยู่ที่ท่าทีที่แตกต่างกันระหว่างญี่ปุ่นกับออสเตรเลีย และ จีนกับประเทศอื่นๆ โดยญี่ปุ่นกับออสเตรเลียต้องการ "RCEP ที่มีคุณภาพสูง" ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกับ TPP ซึ่งหมายถึงอย่างน้อยที่สุดความตกลงจะต้องครอบคลุมประเด็นอย่างสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ในขณะที่จีนกับอีกหลายประเทศต้องการส่งเสริมความตกลงที่ง่ายและยืดหยุ่นโดยมุ่งไปที่เรื่องการลดกำแพงภาษีและการเข้าถึงตลาดซึ่งกันและกันเป็นหลัก

 

ใครได้-ใครเสีย จากความสำเร็จของ RCEP ?

เนื่องจากกลุ่มประเทศ ASEAN ได้บรรลุข้อตกลงในการลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความตกลง RCEP คือ การเปิดเสรีสินค้าร่วมกับอีก 6 ประเทศนอกกลุ่ม ASEAN เพิ่มเติม ซึ่งหมายความว่า ประเทศผู้นำหลักอย่างจีนที่ไม่ได้มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับญี่ปุ่นและอินเดีย จะได้รับโอกาสเปิดเสรีสินค้าร่วมกัน โดยการค้าระหว่างจีนและอินเดียเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่ศักยภาพในแง่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดใน RCEP จากการคาดการณ์โดย IMF ค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียใน 5 ปีข้างหน้า (2017-2021) อยู่ที่ 7.8% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการนำเข้าสินค้าของอินเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอินเดียมีการนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นอันดับหนึ่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 16% ของการนำเข้าทั้งหมด ดังนั้น การเปิดเสรีจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกจีนอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกลที่มีสัดส่วนกว่า 31% และ 17% ของมูลค่าการส่งออกจากจีนไปอินเดียทั้งหมด ทั้งนี้ ในปัจจุบันสินค้าส่งออกจากจีนบางประเภทต้องเจอกำแพงภาษีนำเข้าจากอินเดียที่ค่อนข้างสูง ทำให้จีนมักใช้การตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Ventures) กับประเทศใน ASEAN ซึ่งมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอินเดีย เช่น ไทยหรือมาเลเซีย เพื่อส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังอินเดียแทน ด้วยเหตุดังกล่าว หากการเจรจา RCEP เป็นผลสำเร็จ จีนจะสามารถส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปยังอินเดียได้โดยตรง ซึ่งช่วยขยายโอกาสให้กับผู้ส่งออกจีนเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็นับเป็นผลเสียต่อประเทศใน ASEAN ที่จีนเคยใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังอินเดีย นอกจากนี้ การเปิดเสรีการลงทุนใน RCEP อาจทำให้อินเดียขึ้นแท่นเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่จีนจะเข้าไปลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าในอินเดียอีกด้วย

การเปิดเสรีอาจส่งผลกระทบกับบางอุตสาหกรรมที่ในอดีตได้รับการปกป้องจากกำแพงภาษีนำเข้าหรือสิทธิ์จากรัฐบาลให้สามารถดำเนินธุรกิจแบบผูกขาด ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของจีนซึ่งดำเนินธุรกิจแบบผูกขาดอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นหลังจากการเปิดเสรี อีกทั้ง ความร่วมมือ RCEP อาจส่งผลกระทบกับบางประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เช่น ไต้หวัน ที่มีความเชื่อมโยงในแง่ห่วงโซ่การผลิตกับหลายๆ ประเทศใน RCEP แต่การไม่ได้เป็นสมาชิก RCEP ทำให้ไต้หวันอาจถูกตัดออกจากความเชื่อมโยงของเครือข่ายการผลิตใน RCEP

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ของ RCEP จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers: NTB) ควบคู่ไปด้วย โดยในปัจจุบัน กลุ่มสมาชิก RCEP ยังมีอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอยู่มากถึง 8,180 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยประเทศนอกกลุ่ม ASEAN และเกี่ยวข้องกับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade: TBT) ทั้งนี้ จากงานศึกษาของ Global Economic Dynamics (GED) พบว่า รายได้ที่แท้จริง (real income) ของจีน จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.04% หาก RCEP มีเพียงการลดอุปสรรคทางการค้าที่เป็นภาษีเท่านั้น แต่หาก หาก RCEP มีการปรับลดทั้งอุปสรรคทางการค้าที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี จะทำให้จีนมีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นกว่า 7.98%  รวมทั้งประเทศอื่นๆ ใน RCEP ก็จะได้รับประโยชน์ในลักษณะเดียวกันด้วย

 

ประโยชน์ต่อไทยจากการเป็นสมาชิก RCEP คืออะไร?

การเปิดเสรีภายใต้หลักการ Ratchet ที่กำหนดให้สมาชิกผูกพันเปิดเสรีเท่ากันหรือไม่น้อยกว่าที่กฎหมายแต่ละประเทศอนุญาต จะเป็นการขยายขอบเขตของสิทธิประโยชน์ในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) รูปแบบทวิภาคีที่ไทยได้ตกลงกับหลายประเทศใน RCEP ไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปยังสมาชิก RCEP ที่ในปัจจุบันมีสัดส่วนรวมกว่า 56% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (สัดส่วน: 13%) เคมีภัณฑ์และพลาสติก (9%) น้ำมันสำเร็จรูป (4%) และ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (4%) นอกจากนี้ กำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่ม RCEP ที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากชนชั้นกลางในประเทศเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การค้า การลงทุน และการบริโภคในกลุ่ม RCEP เติบโตตามไปด้วย และนับเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดดังกล่าวด้วยเช่นกัน

การเปิดเสรีการลงทุนใน RCEP จะสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในปัจจุบัน การลงทุนโดยตรงจากสมาชิก RCEP ในไทยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ทั้งนี้ ความได้เปรียบในแง่ยุทธศาสตร์ด้านที่ตั้ง (strategic location) จะเป็นการดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในไทย  โดยจะได้รับประโยชน์จากการขยายเครือข่ายการผลิต (production network) ที่ RCEP พยายามขับเคลื่อนให้ภูมิภาคก้าวเข้าสู่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก (global supply chain) ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว RCEP นับว่าเป็นเวทีในการเจรจาการค้าขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับสมาชิกใน RCEP เพื่อการต่อรองกับประเทศนอกกลุ่มทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

อย่างไรก็ตาม หากไทยไม่สามารถปฏิรูปโครงสร้างภายในประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม อาจทำให้ไทยไม่สามารถเข้าถึงโอกาสและสร้างความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเต็มที่ หรือแย่กว่านั้น ไทยอาจเสียเปรียบจากการเปิดเสรีดังกล่าวหากภาคธุรกิจและภาคแรงงานยังไม่แข็งแกร่งพอต่อการแข่งขันทางธุรกิจที่จะดุเดือดขึ้นมากหลังจากการเปิดเสรี ดังนั้น การปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่จะต้องทำการเจรจาที่สอดคล้องกับความต้องการในประเทศ ภาคเอกชนเองก็ต้องปรับตัวพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และพัฒนาศักยภาพให้สามารถเข้าถึงโอกาสให้ได้มากที่สุด 

 

export1.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ