SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 กุมภาพันธ์ 2017

Reverse mortgage: สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ทางเลือกวัยเกษียณ

ผู้เขียน: ยุวาณี อุ้ยนอง

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2017

 

475902405.jpg

 

 

“ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ไปหารือกันถึงการดำเนินโครงการสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุในลักษณะการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (reverse mortgage) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสังคมชราที่กำลังเกิดขึ้นในไทย จึงอยากให้แบงก์รัฐ ธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่บริษัทประกันภัย ออกผลิตภัณฑ์มาแข่งขันกัน โดยทางกระทรวงการคลังจะพยายามสรุปให้ได้ภายในปีนี้”

 

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16 พฤษภาคม 2016

 

 

Reverse mortgage คืออะไร?

 

หากเราต้องการซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง การนำเงินสดไปซื้อก็คงต้องใช้เวลาเก็บหลายปีและไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้น โดยปกติเราจึงมักกู้เงินจากธนาคาร โดยนำบ้านที่ซื้อไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แล้วก็จ่ายเงินผ่อนคืนธนาคารทุกเดือนพร้อมกับดอกเบี้ย ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า mortgage หรือการจำนองแบบปกติทั่วไป ในทางกลับกัน มีการจำนองอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า reverse mortgage ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า การจำนองแบบย้อนกลับ โดยเมื่อเรานำบ้านไปจำนองไว้กับธนาคารแล้ว แทนที่เราจะเป็นผู้จ่ายเงินให้ธนาคารทุกเดือนนั้น กลับเป็นว่าธนาคารจะเป็นผู้จ่ายเงินให้เราทุกเดือนเสมือนธนาคารเป็นผู้มาซื้อบ้านของเรา และเราจะได้กระแสเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายแต่ละงวดตามที่ทำสัญญากับธนาคาร จนเมื่อครบกำหนดชำระสุดท้ายบ้านหลังนั้นก็จะตกเป็นของธนาคารซึ่งต่างกับการจำนองทั่วไปที่สุดท้ายแล้วบ้านจะมาเป็นของเรา

ในเบื้องต้นนั้น reverse mortgage ก็เป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งที่มีกระบวนการทำงานสวนทางกับสินเชื่อแบบทั่วไป ซึ่งหลายคนก็อาจสงสัยว่าสินเชื่อประเภทนี้มีแรงจูงใจมาจากอะไร ธนาคารผู้ให้สินเชื่อเองจะได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และลูกค้าประเภทใดถึงจะใช้บริการสินเชื่อประเภทนี้ได้

 

Reverse mortgage ทำงานอย่างไร?

 

Reverse mortgage เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทหนึ่งที่มีขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ สำหรับผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเองแต่ไม่ต้องการขายบ้านทันที เพราะยังต้องใช้อยู่อาศัยและต้องการมีรายได้รายเดือนเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยหลักการทำงานของสินเชื่อประเภทนี้ ก็เหมือนกับการทยอยขายบ้านให้กับธนาคาร โดยธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้แล้วจะทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้เป็นรายเดือน โดยผู้กู้ก็ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้นและยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้จนกระทั่งผู้กู้นั้นเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน ซึ่งหลังครบกำหนดตามสัญญา บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร โดยธนาคารสามารถนำบ้านไปขายทอดตลาดต่อไป สินเชื่อประเภทนี้ถือเป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุสามารถนำบ้านมาสร้างกระแสเงินสดไว้ใช้ในวัยหลังเกษียณได้ และเป็นทางออกหนึ่งสำหรับสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในขณะนี้มีสัดส่วนของผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี) สูงถึงราว 10.2%[1] ของประชากรในปี 2016 ที่ผ่านมานี้ 

 

Reverse mortgage เริ่มมาจากไหนและมีประเทศใดนำไปใช้บ้างแล้ว?

 

Reverse mortgage เริ่มต้นใช้ครั้งแรกในสหรัฐฯ หลังจากรัฐบาลเล็งเห็นว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากเป็นผู้ครอบครองที่อยู่อาศัย และเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ นอกเหนือจากการให้สวัสดิการทั่วไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้เริ่มใช้ reverse mortgage อย่างเป็นทางการในช่วงปี 1988 โดยใช้ชื่อว่า Home Equity Conversion Mortgage (HECM) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีหน่วยงานของรัฐบาลเป็นผู้รับประกันเพื่อคุ้มครองว่าผู้กู้ได้รับเงินจากสถาบันผู้ปล่อยสินเชื่อทุกงวดตามสัญญา สินเชื่อประเภทนี้เริ่มเป็นที่นิยมและมีจำนวนสัญญาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่มีการใช้ reverse mortgage เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียอย่างเกาหลีใต้

 

Reverse mortgage มีเงื่อนไขและการคำนวณอย่างไร?

 

หลายคนอาจมีคำถามว่าคุณสมบัติหรือเงื่อนไขในการพิจารณาให้สินเชื่อประเภทนี้มีอะไรบ้าง รวมทั้งการกำหนดวงเงินสินเชื่อและจำนวนเงินที่ผู้กู้จะได้รับในแต่ละเดือนขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร ทั้งนี้ เงื่อนไขการให้สินเชื่อก็จะแตกต่างกันไปตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศและนโยบายของธนาคารผู้ให้สินเชื่อ แต่โดยทั่วไปมีประเด็นหลักที่สำคัญ ได้แก่

 

  1. เงื่อนไขด้านอายุ โดยกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้กู้รวมถึงคู่สมรส ซึ่งในสหรัฐฯ ได้กำหนดไว้ที่อายุ 62 ปี แคนาดา 55 ปี เกาหลีใต้ 60 ปี เป็นต้น

  2. เงื่อนไขของบ้านที่นำมาจำนอง ต้องปลอดภาระ กล่าวคือ ต้องเป็นบ้านที่ผ่อนหมดเรียบร้อยแล้วและไม่ติดจำนองที่อื่นๆ ไว้ ซึ่งบ้านในที่นี้ครอบคลุมทั้งบ้านเดี่ยว ทาวเฮาส์ คอนโดมิเนียม

  3. เงื่อนไขการครอบครองบ้าน บ้านที่นำมาจำนองต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยเป็นบ้านหลัก ไม่ได้เป็นบ้านพักตากอากาศ หรือบ้านที่ซื้อไว้เพื่อลงทุน โดยในบางประเทศอาจมีการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ผู้กู้ต้องอาศัยอยู่ในบ้านนั้น เช่น เกาหลีใต้กำหนดไว้ที่อย่างน้อย 6 เดือนต่อปี เป็นต้น

  4. เงื่อนไขด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้าน ผู้กู้ยังคงต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าภาษีที่อยู่อาศัย (หากมี) ค่าประกันภัย ค่าส่วนกลางสำหรับอาคารชุดหรือหมู่บ้าน รวมไปถึงค่าบำรุงรักษาที่อยู่อาศัยอื่นๆ

  5. เงื่อนไขด้านกรรมสิทธิ์บ้าน เมื่อนำบ้านไปจำนองแล้ว ผู้กู้ยังเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์บ้านและยังสามารถอยู่อาศัยในบ้านได้จนกว่าจะเสียชีวิต หลังจากนั้นบ้านจึงจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารผู้ปล่อยกู้

 

สำหรับการคำนวณวงเงินสินเชื่อหรือวงเงินแต่ละเดือนที่ผู้กู้จะได้รับ ก็จะพิจารณาจากเงื่อนไขต่างๆ ข้างต้นประกอบกัน ผนวกกับปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ มูลค่าบ้าน อายุของผู้กู้ อัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม โดยผู้ให้สินเชื่อจะประเมินมูลค่าบ้านเพื่อกำหนดวงเงินสินเชื่อทั้งหมด โดยหากบ้านยังอยู่ในสภาพดีก็จะได้มูลค่าสูงขึ้น จากนั้นจะหักลบดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมออกจากวงเงินสินเชื่อทั้งหมด เพื่อคำนวณจำนวนเงินทั้งหมดที่ผู้กู้จะได้รับจริงๆ แล้วจะพิจารณาอายุขัยเฉลี่ยของผู้กู้เพื่อคำนวณระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินให้และวงเงินเฉลี่ยในแต่ละงวด โดยหากผู้กู้ยิ่งมีอายุมาก ระยะเวลาที่ธนาคารต้องจ่ายเงินให้จะยิ่งสั้นลงทำให้ผู้กู้ได้รับเงินต่องวดสูงขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการชำระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านของผู้กู้ด้วย เช่น หากธนาคารประเมินว่าผู้กู้อาจไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าส่วนกลางคอนโดมิเนียมได้ในอนาคต ธนาคารก็สามารถกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำให้ผู้กู้ได้เงินต่องวดน้อยลงด้วย ทั้งนี้ ธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้กู้จนกระทั่งเสียชีวิตและนำบ้านขายทอดตลาดต่อไป หลังจากนั้นธนาคารจะคำนวณวงเงินที่จ่ายให้ผู้กู้ไปแล้วทั้งหมดหักออกจากมูลค่าบ้านที่ขายได้ หากมีเงินเหลือก็จะคืนให้ทายาทผู้เสียชีวิตต่อไป แต่ถ้าหากไม่มีเงินเหลือ เช่น ในกรณีที่ผู้กู้มีอายุยืนมากจนทำให้ธนาคารต้องจ่ายเงินให้เป็นระยะเวลานานเกินคาด เงินจากการขายบ้านดังกล่าวก็จะตกเป็นของธนาคารทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังเปิดโอกาสให้ทายาทเป็นผู้มาไถ่ถอนคืนบ้านได้ในภายหลัง หากบ้านนั้นไม่ถูกขายไปเสียก่อน

 

Reverse mortgage มีการคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมอย่างไร?

โดยปกติแล้วสินเชื่อประเภทนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่ออื่นๆ  โดยจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นและหักออกจากมูลค่าบ้านหรือวงเงินสินเชื่อทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ประเมินมูลค่าบ้านแล้ว ผู้กู้ได้รับวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 1 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้จะรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเข้าไปแล้ว ถ้าหากมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราประมาณ 5% ก็จะทำให้จำนวนเงินที่ผู้กู้จะได้รับจริงๆ รวมแล้วอาจเหลือราว 8 แสนบาท นอกจากนี้ อาจมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าประกันภัย (mortgage insurance premium) เพื่อป้องกันผู้ปล่อยกู้ผิดนัดการจ่ายเงินตามงวด ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ (origination fee) ค่าประเมินมูลค่าบ้าน (appraisal fee) และค่าบริการอื่นๆ ในการจัดทำสินเชื่อ เป็นต้น

นอกจากการจ่ายเงินให้ผู้กู้เท่ากันทุกเดือนแล้ว reverse mortgage ยังสามารถให้ผู้กู้เลือกรูปแบบการรับเงินในแต่ละงวดได้หลายแบบขึ้นอยู่กับนโยบายในแต่ละประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. เลือกรับเงินรายเดือนทุกงวดตลอดชีวิต โดยอาจเลือกรับจำนวนเท่ากันทุกงวด จำนวนมากขึ้นหรือน้อยลงทุกๆ ปีก็ได้ เช่น รับเงินลดลงปีละ 3% หรือ รับเงินในช่วง 10 ปีแรกมากกว่าปีที่เหลือ

  2. เลือกรับเงินรายเดือนโดยกำหนดเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น กำหนดว่าจะรับเงินรายเดือนเท่ากันทุกเดือนเป็นระยะเวลา 7 ปี เป็นต้น

  3. เลือกรับเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่ง (lump-sum) โดยอาจจะเลือกรับเพียงครั้งเดียว หรือรับเงินก้อนหนึ่งประกอบกับเงินรายเดือนด้วยก็ได้ ทั้งนี้ หากเลือกรับเพียงครั้งเดียว บ้านก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารเมื่อผู้กู้เสียชีวิต

  4. เลือกรับเป็นวงเงินสินเชื่อ (line of credit) ที่ผู้กู้สามารถเลือกนำเงินออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้

อนาคตการนำ reverse mortgage มาใช้ในไทย

 

ในปี 2016 รัฐบาลไทยเริ่มมีแนวคิดในการนำ reverse mortgage มาใช้ในไทย โดยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2016 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุตามที่กระทรวงการคลังได้นำเสนอ ซึ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ reverse mortgage ก็เป็นหนึ่งในมาตรการดังกล่าว กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารธอส. เป็นผู้นำร่องปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสังคมไทย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้

ข้อพึงระวังในการนำ reverse mortgage มาใช้ในไทย

 

  • เนื่องจากการให้สินเชื่อดังกล่าว สถาบันการเงินต้องมีภาระการจ่ายเงินให้ผู้กู้ไปเป็นระยะเวลานาน ซึ่งหากผู้คนยิ่งมีอายุยืนขึ้น ก็จะยิ่งเป็นภาระต่อสถาบันการเงินมากขึ้น และเมื่อบ้านตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันการเงินแล้ว การขายบ้านมือสองทอดตลาดในไทยอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในสหรัฐฯ ถือเป็นภาระต่อสถาบันการเงินอีกประการหนึ่ง

  • ในมุมของผู้ใช้ reverse mortgage สิ่งสำคัญของสังคมไทย คือ การอยู่อาศัยเป็นครอบครัวใหญ่ โดยผู้กู้สามารถให้สมาชิกในครอบครัวอยู่ร่วมกันในบ้านที่นำไปจำนองได้ แต่เมื่อผู้กู้เสียชีวิตแล้ว สถาบันการเงินจำเป็นต้องให้ญาติผู้เสียชีวิตย้ายออกจากบ้านหลังนั้นไป ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในรูปแบบอื่นที่อาจตามมาได้ เช่น การไร้ที่อยู่อาศัย

  • สินเชื่อแบบ reverse mortgage มีความซับซ้อนค่อนข้างมาก เช่น ถึงแม้ว่ากระแสเงินสดที่ผู้กู้ได้รับจาก reverse mortgage จะคงที่ทุกเดือน ไม่แปรผันไปตามอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสเปลี่ยนไปในระหว่างช่วงเวลาของสินเชื่อนี้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้กู้ไม่ได้แบกรับความเสี่ยงนั้นอยู่เพราะมูลค่าของบ้านที่เหลือเมื่อผู้กู้เสียชีวิต (มูลค่าบ้านหักลบด้วยมูลค่ากระแสเงินสดที่ได้รับมารวมดอกเบี้ย) จะขึ้นอยู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ย ทำให้มรดกตกทอดสู่ลูกหลานอาจมีมูลค่าน้อยกว่าที่คาดได้ เป็นต้น ด้วยปัจจัยนี้และปัจจัยอื่นๆ ที่สร้างความสับสนและความไม่พอใจให้กับผู้กู้ ทางสหรัฐฯ ได้กำหนดให้ผู้สูงอายุที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ reverse mortgage ของรัฐบาลต้องผ่านการอบรมเสียก่อนเพื่อให้ทราบถึงทางเลือกต่างๆ นอกจากนี้ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค Consumer Financial Protection Bureau ของสหรัฐฯ ยังรายงานว่าได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับ reverse mortgage ประมาณ 1,200 กรณีในช่วงปี 2011-2014[2]

การให้บริการ reverse mortgage ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย ถือเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุในสังคมไทยที่กำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากมีบ้านเป็นของตนเอง การขอสินเชื่อ reverse mortgage ก็ถือเป็นการวางแผนการเงินหลังวัยเกษียณอีกประเภทหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีกระแสเงินสดไว้ใช้ไปตลอดชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อประเภทนี้อาจมีความซับซ้อนและมีทั้งข้อดีข้อเสียหลายด้าน การนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้จริงในไทยจำเป็นต้องมีการออกแบบอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของประเทศไทย ผู้กู้เองก็ควรทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนตัดสินใจทำสัญญา อีกทั้ง แม้จะได้รับเงินจากสินเชื่อดังกล่าวไปตลอดชีวิตแล้ว ก็ควรระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างพอประมาณ ไม่ก่อหนี้เพิ่มเติม เพื่อให้ปราศจากความกังวลและใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุข

 


[1] ข้อมูลจาก U.S. Census Bureau
[2] http://www.consumerfinance.gov/data-research/research-reports/snapshot-of-reverse-mortgage-complaints-december-2011-2014/

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ