ธุรกิจปิโตรเคมีในอินโดนีเซีย กับโอกาสที่ท้าทาย
ผู้เขียน: ชนิตา สุวรรณะ
|
ธุรกิจปิโตรเคมีของอินโดนีเซียสร้างรายได้ให้แก่ประเทศราว 3% ของ GDP ในช่วงที่ผ่านมาตลาดปิโตรเคมีของอินโดนีเซียมีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขยายตัวที่ประมาณเกือบ 2% ต่อปี และการผลิตส่วนใหญ่เป็นแบบ Naphtha base (รูปที่ 1) แต่คาดว่าในอนาคตความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะเติบโตได้ถึงประมาณ 5% ต่อปี จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี ผู้เล่นส่วนใหญ่ในธุรกิจนี้ยังขาดความเชื่อมโยงในสายการผลิต เช่น ผู้เล่นบางรายทำเพียงธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำ หรือบางรายทำแค่ธุรกิจปลายน้ำ เป็นต้น ประกอบกับการขาดแคลนวัตถุดิบและการเชื่อมต่อกับธุรกิจน้ำมันส่งผลให้อินโดนีเซียยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากต่างประเทศราว 50% ของความต้องการบริโภคในประเทศทั้งหมด ซึ่งหากพิจารณารวมถึงประเด็นทดแทนการนำเข้า ตลาดผู้ผลิตปิโตรเคมีจะมีโอกาสขยายตัวได้สูงเกินกว่า 5% ค่อนข้างมาก
หนึ่งในบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีของอินโดนีเซียที่น่าจับตามอง คงหนีไม่พ้น Chandra Asri ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึงเกือบ 40% ของตลาดปิโตรเคมีในอินโดนีเซีย โดย Chandra Asri เป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรแห่งเดียวในอินโดนีเซีย มีการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่หลากหลาย (รูปที่ 2) ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น เอทิลีน
โพรพิลีน จนถึงปลายน้ำอย่างโพลิเอทิลีน ซึ่งถือเป็นจุดต่างสำคัญเมื่อเทียบกับบริษัทปิโตรเคมีรายอื่นในอินโดนีเซียที่ผลิตแบบเฉพาะเจาะจงในบางขั้นของห่วงโซ่การผลิต
สำหรับการเข้ามาลงทุนของผู้เล่นต่างชาติ นับว่ายังค่อนข้างจำกัด และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจปลายน้ำ (รูปที่ 3) โดยภาพรวมเป็นบริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ทั้งจากเอเชีย อย่าง IVL ที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิต PET (Polyester) หรือจากการร่วมทุนของบริษัทปิโตรเคมียักษ์ใหญ่อย่าง Dow Chemical จากอเมริกา และ BASF จากยุโรป ที่มาตั้งโรงงานผลิต SBR (Styrene Butadiene Rubber) เป็นการลงทุนที่เน้นรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศอินโดนีเซียเป็นหลัก
ปัจจุบันบริษัทที่ประกอบธุรกิจปิโตรเคมีรายใหญ่ของไทยอย่าง PTTGC และ SCG ก็ได้เข้าไปเจาะตลาดอินโดนีเซียบ้างแล้ว โดยล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา PTTGC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัท Pertamina เพื่อร่วมลงทุนกันกว่า 5 พันล้านดอลล่าสหรัฐฯ ในการสร้างโรงงานปิโตรเคมีแบบครบวงจร ทั้งการผลิตเอทิลีน โพรลิเอทิลีน และอื่นๆ ซึ่งคาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จภายในปี 2018 และจะมีส่วนแบ่งตลาดถึง 30% สำหรับ SCG ขณะนี้ได้เข้าไปถือหุ้นใน Chandra Asri 30% ผ่านการเข้าซื้อกิจการเมื่อปี 2011 ทั้งเพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในอินโดนีเซีย
ในแง่ของปัจจัยท้าทาย การขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จัดเป็นอุปสรรคสำคัญที่ควรเร่งแก้ไข แม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่เนื่องด้วยรัฐบาลยังคงจำกัดการนำทรัพยากรดังกล่าวขึ้นมาใช้ ในขณะที่ความต้องการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อินโดนีเซียต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30% จาก 4% ในปี 2004 ประกอบกับรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยิ่งทำให้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มมากขึ้น และต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวจากต่างประเทศเป็นปริมาณมาก ส่งผลทางลบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้เล่นภายในประเทศ ทั้งในด้านต้นทุน และความเสี่ยงจากการขาดวัตถุดิบ
อย่างไรก็ดี ธุรกิจปิโตรเคมีของอินโดนีเซียจัดเป็นตลาดที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม จากปัจจัยหลัก 3 ประการดังนี้
1 ) การขาดแคลนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศเป็นจำนวนมาก พบว่า อินโดนีเซียมีสัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์
ปิโตรเคมีต่างๆ ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเอทิลีน โพลิเอทิลีน โดยผลิตภัณฑ์บางชนิดมีการนำเข้าทั้ง 100% ของการบริโภคเช่น LDPE เป็นต้น (รูปที่ 4) ขณะเดียวกันอัตราการใช้พลาสติกต่อหัวของอินโดนีเซียเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนนับว่ายังค่อนข้างต่ำ ยิ่งสนับสนุนช่องทางการขยายตัวของธุรกิจนี้ต่อไปได้อีก
2 ) นโยบายสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีของรัฐบาล ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ปรากฏเด่นชัดที่สุด ได้แก่ การใช้มาตรการภาษีในการสร้างแรงจูงใจ เช่น ให้งดเว้นการจัดเก็บภาษี (Tax Holiday) และ การลดหย่อนภาษี (Tax Allowance) โดยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขเพิ่มเติมที่รัฐบาลกำหนด เช่น การลงทุนขั้นต่ำจะต้องมีวงเงินไม่น้อยกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะต้องฝากเงินลงทุนอย่างน้อย 10% ในธนาคารของอินโดนีเซีย เป็นต้น
3 ) การเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลิตภัณฑ์พลาสติก (รูปที่ 5) เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ และการก่อสร้าง สะท้อนให้เห็นทิศทางที่น่าจะสดใสของธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต
หากสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีของอินโดนีเซีย EIC มองว่า JV กับบริษัทท้องถิ่น โดยเจาะตลาดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีประเภท Commodity โดยเฉพาะ PE และ PP เนื่องจากการเข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซียยังไม่ง่ายนักเมื่อเทียบกับหลายตลาดในอาเซียน การจับมือกับบริษัทท้องถิ่นในประเทศจึงเป็นวิธีที่ทำให้การเข้าสู่ตลาดง่ายและราบรื่นขึ้น อีกทั้งช่วยทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนของตลาดและจับทิศทางความต้องการของผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น ในแง่ของประเภทผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี Commodity petrochemicals ยังคงเป็นที่ต้องการหลักในตลาด โดยเฉพาะ PE ชนิดต่างๆ (HDPE,LDPE, LLDPE)ที่มีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ระหว่าง 20% - 100% และ PP ที่มีสัดส่วนการนำเข้ากว่า 30% ซึ่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีดังกล่าวมักถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์เป็นจำนวนมาก
รูปที่ 1: ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโตเกือบ 5% ต่อปีในระยะต่อไป โดยการผลิตส่วนใหญ่เป็นแบบ Naphtha base
หมายเหตุ: * Olefins, polyolefin, derivatives, aromatics and butadiene derivatives
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ PTTGC และ BMI
รูปที่ 2: Chandra Asri เป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรแห่งเดียวในอินโดนีเซีย และครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในหลายผลิตภัณฑ์
หมายเหตุ: CAP = Chandra Asri Petrochemicals
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ PTTGC และ BMI
รูปที่ 3: บริษัทปิโตรเคมีของต่างชาติส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในธุรกิจปลายน้ำ
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ BMI, PTTGC, CAP และ Bloomberg
รูปที่ 4: อินโดนีเซียมีสัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต่างๆ ค่อนข้างมาก บางชนิดมีการนำเข้าทั้ง 100% ของการบริโภค
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ PTTGC
รูปที่ 5: อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่พึ่งพาผลิตภัณฑ์พลาสติกมีแนวโน้มเติบโตดี
หมายเหตุ: HPC=Home and personal care, E&E=Electronics and Electrical
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ PTTGC และ Mckensey
![]() |
|
|
|