SHARE
SCB EIC ARTICLE
02 กุมภาพันธ์ 2017

พลิกตำราเคล็ดวิชาการขนส่งแดนมังกร

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตลาด e-Commerce ในจีนมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 80% ความร้อนแรงของธุรกิจนี้ นอกจากจะทำให้การค้าขายในจีนเฟื่องฟูแล้ว ยังทำให้ธุรกิจขนส่งแบบ door-to-door หรือการส่งพัสดุจากผู้ผลิตหรือผู้ขายถึงประตูหน้าบ้านของผู้ซื้อก็ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจขนส่งแบบ door-to-door มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 50% CAGR โดยมีเจ้าตลาดคนสำคัญ คือ China Post ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในจีน อย่างไรก็ดี ในภายหลัง China Post เริ่มสูญเสียความสามารถในการเป็นเจ้าตลาด door-to-door ลงเรื่อยๆ โดยมีการเติบโตเฉลี่ยเพียง 3% CAGR ในขณะที่บริษัทขนส่งเอกชนเติบโตเฉลี่ยพุ่งทะยานถึง 60% CAGR ส่งผลให้ปัจจุบัน China Post เหลือส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่เพียง 10% ในขณะที่บริษัทขนส่งเอกชนครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 80% และตลาดส่วนที่เหลือเป็นของผู้ประกอบการขนส่งต่างชาติ

ผู้เขียน: ปัณณ์ บุญญาวานิชย์

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2017

 

480760079-s.jpg

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตลาด e-Commerce ในจีนมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 80% ความร้อนแรงของธุรกิจนี้ นอกจากจะทำให้การค้าขายในจีนเฟื่องฟูแล้ว ยังทำให้ธุรกิจขนส่งแบบ door-to-door หรือการส่งพัสดุจากผู้ผลิตหรือผู้ขายถึงประตูหน้าบ้านของผู้ซื้อก็ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจขนส่งแบบ door-to-door มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 50% CAGR โดยมีเจ้าตลาดคนสำคัญ คือ China Post ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในจีน อย่างไรก็ดี ในภายหลัง China Post เริ่มสูญเสียความสามารถในการเป็นเจ้าตลาด door-to-door ลงเรื่อยๆ โดยมีการเติบโตเฉลี่ยเพียง 3% CAGR ในขณะที่บริษัทขนส่งเอกชนเติบโตเฉลี่ยพุ่งทะยานถึง 60% CAGR ส่งผลให้ปัจจุบัน China Post เหลือส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่เพียง 10% ในขณะที่บริษัทขนส่งเอกชนครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 80% และตลาดส่วนที่เหลือเป็นของผู้ประกอบการขนส่งต่างชาติ

 

ในบรรดาผู้ประกอบการขนส่ง door-to-door ในจีน SF Express ถือเป็นผู้ประกอบการเบอร์หนึ่ง ซึ่งมีรายได้ราว 1.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 60% ของไปรษณีย์ไทย ผู้ให้บริการขนส่ง door-to-door อันดับหนึ่งของไทย อีกทั้ง SF Express ยังสามารถสร้างอัตราผลกำไรได้สูงถึง 12% เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่ในจีนด้วยกันที่มีอัตราผลกำไรเฉลี่ยเพียง 4% นับว่าทิ้งระยะห่างอย่างไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว

 

การที่ SF Express สามารถขึ้นมายืนเป็นผู้นำธุรกิจขนส่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูงเช่นจีนได้นั้น เนื่องจากคุณสมบัติที่ล้ำหน้าคู่แข่ง 3 ประการอันประกอบไปด้วย 1. กองพาหนะขนส่งที่มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพ โดยทาง SF Express ได้ใช้กองรถบรรทุกถึง 18,000 คันร่วมกับเครื่องบินอีก 18 ลำเพื่อสร้างโครงข่ายการขนส่งสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศจีน 2. จำนวนหน้าร้านรับส่งสินค้าที่สูง โดยมีหน้าร้านกว่า 5,000 สาขาที่เน้นให้บริการในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นทางตอนใต้และฝั่งตะวันออกของประเทศ เช่น  เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ขณะที่คู่แข่งคนสำคัญอย่าง Shentong Express มีหน้าร้านอยู่เพียง1,000 สาขาเท่านั้น ผู้บริโภคจึงสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสินค้าของ SF Express ได้สะดวกมากกว่า และ 3. การบริการที่มีมาตรฐาน

 

นอกจากนี้ SF Express ยังมีโมเดลธุรกิจที่ฉีกแนวจากผู้ประกอบการขนส่งเจ้าอื่นในจีน กล่าวคือ ในขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งรายอื่นๆ ขายแฟรนไชส์ให้แก่นักลงทุนภายนอกตั้งหน้าร้านรับส่งสินค้าเพื่อให้บริการขนส่งผ่านเครือข่ายของบริษัท แต่ SF Express กลับลงทุนสร้างหน้าร้านภายใต้การดูแลของบริษัทเอง ทำให้ SF Express สามารถควบคุมคุณภาพในการให้บริการได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่การให้บริการของพนักงานไปจนถึงความตรงต่อเวลาในการขนส่งให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยจากการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าในจีนระบุว่าบริการของ SF Express มีคะแนนความพึงพอใจสูงถึง 84% ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในจีน คุณภาพดังกล่าวประกอบกับความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคส่งผลให้บริการของ SF Express เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาตรฐานสูง เช่น ผู้ประกอบการ e-Commerce ที่ความตรงต่อเวลาและความสะดวกในการจัดส่งสินค้าเป็นหัวใจหลักในการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ คุณภาพในการให้บริการดังกล่าวยังช่วยให้ SF Express สามารถคิดค่าบริการได้สูงกว่าผู้ประกอบการเจ้าอื่นกว่าเท่าตัวในการขนส่งพัสดุที่มีน้ำหนักและระยะทางที่เท่ากัน

 

เมื่อเหลียวกลับมามองที่ไทยตลาดการขนส่ง door-to-door ยังมีเจ้าตลาดเพียงไม่กี่รายและมีอุปสงค์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากธุรกิจ e-Commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตถึง 14% YOY ดังนั้น โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งแบบ door-to-door จึงยังมีอีกมาก โดยผู้ประกอบการขนส่งสามารถนำกลยุทธ์ของ SF Express มาปรับใช้ในการให้บริการ เช่น การเปิดร้านรับฝากส่งของบริเวณที่มีประชากรหนาแน่น รวมถึงการสร้างพันธมิตรกับผู้ประกอบการ e-Commerce เพื่อหาฐานลูกค้าอีกด้วย อีกทั้งในอนาคตผู้ประกอบการไทยยังสามารถเพิ่มจำนวนรถขนส่งรวมถึงเครื่องบินเพื่อขยายธุรกิจขนส่งได้อีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และ เวียดนาม) ที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจถึง 6-8% ต่อปี และยังต้องพึ่งพิงสินค้าที่ผลิตในไทยเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนส่งต้องไม่ลืมความตรงต่อเวลาในการจัดส่งซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจขนส่งด้วย

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ