SHARE
IN FOCUS
13 กันยายน 2011

จับตาอนาคตยางพาราไทย … สดใสแค่ไหน?

อุตสาหรรมยางพาราของไทยมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ตามทิศทางราคายางและความต้องการใช้ยางทั่วโลกที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการจากตลาดจีนและอินเดียที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองคือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินบาท และการแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

ผู้เขียน:  วิชชุดา ชุ่มมี

178376796.jpg

อุตสาหรรมยางพาราของไทยมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ตามทิศทางราคายางและความต้องการใช้ยางทั่วโลกที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการจากตลาดจีนและอินเดียที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองคือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินบาท และการแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

อุตสาหกรรมยางพาราเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกหลัก และก่อให้เกิดการจ้างงานถึงกว่า 6 ล้านคน ยางพารานับเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันไทยผลิตและส่งออกยางธรรมชาติมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยส่งออกราว 40% ของปริมาณการส่งออกยางทั้งหมดทั่วโลกและยังส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกยางพาราไปยังตลาดโลกคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกยางในรูปยางแท่ง (39%) ตามมาด้วยยางแผ่นรมควันและน้ำยางข้นที่ 27% และ 14% ตามลำดับ รวมทั้งยังมีการจ้างงานกว่า 6 ล้านคนในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งนับได้ว่าทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังเกษตรกรจำนวนมาก ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่ามูลค่าส่งออกยางพาราของไทยในปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 60% จากปี 2010 จากแนวโน้มราคายางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะความต้องการจากจีนที่ขยายตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่ปลูกยางพาราสำคัญของจีนได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยธรรมชาติทำให้
ผลผลิตยางพาราลดลงมาก

ความต้องการใช้ยางพาราของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยรายงานขององค์กรศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ หรือ International Rubber Study Group (IRSG) ระบุว่า ความต้องการใช้ยางพาราของโลกในปี 2020 หรืออีก 10 ปีนับจากนี้ จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 14 ล้านตัน จาก 10.7 ล้านตันในปัจจุบัน โดยคาดว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากตลาดเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดีย โดยพบว่าอัตราการใช้ยางธรรมชาติของจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ที่สุดของโลกมี
แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และความต้องการยางล้อรถยนต์ในประเทศ เช่นเดียวกับอินเดียที่อุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศมีการขยายตัวสูงพร้อมๆ กับกำลังซื้อของผู้บริโภค

ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ที่เติบโตแข็งแกร่ง ทิศทางราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น และการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ในช่วงที่ผ่านมา ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย ในขณะที่
ผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าความต้องการ นอกจากนี้ ราคายางยังได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากน้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิตยางแปรรูป ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น ต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์ก็จะแพงขึ้นเป็นเงาตามตัวส่งผลให้คนหันมาใช้ยางธรรมชาติกันมากขึ้นและทำให้ราคายางธรรมชาติแพงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคายางอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ยังทำให้เกิดการกักตุนสต็อกยางพาราและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการปั่นราคาซื้อขายในปัจจุบันและมีผลให้ราคายางในตลาดโลกผันผวนสูงขึ้น

แต่ปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้นที่ต้องจับตามองคือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท แม้ว่าความ
ต้องการใช้ยางธรรมชาติจะมีแนวโน้มเติบโตดี แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะวิกฤติหนี้สินในสหรัฐฯ และยุโรปที่อาจยืดเยื้อและลุกลามเป็นวงกว้าง ซึ่งไทยส่งออกยางพาราไปทั้งสองตลาดนี้รวมกันประมาณ 15% ของปริมาณส่งออกยาง
ทั้งหมด กอปรกับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ยังคงเปราะบางอาจส่งผลให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกปรับลดลงได้ นอกจากนี้ มาตรการของรัฐบาลจีนที่ยกเลิกการใช้นโยบายกระตุ้นตลาดรถยนต์ในประเทศ อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้ความ
ต้องการใช้ยางและการนำเข้ายางจากไทยลดลง และกดดันให้ราคายางชะลอตัวลงได้ (ไทยส่งออกยางพาราไปตลาดจีนมากเป็นอันดับ 1 คือ เกือบ 40% ของปริมาณส่งออกในแต่ละปี) ขณะเดียวกัน ทิศทางค่าเงินบาทก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก (ส่งออกเกือบ 90% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด) ดังนั้น หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้และศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

ในขณะที่ระยะยาว อาจได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของจีน ซึ่งอาจทำให้นำเข้าจากไทยลดลง โดยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 12) จีนได้ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางยางพาราและศูนย์กลางสั่งซื้อสินค้ายางพาราระดับโลก โดยได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์และตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยางพาราร่วมกับบริษัทในเยอรมนี โดยมีแนวทางการพัฒนากิจการยางพาราในเชิงนิเวศน์อย่างเป็นระบบ  รวมทั้งยังหันไปลงทุนปลูกยางในประเทศอื่นเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) ซึ่งจะทำให้จีนสามารถเพิ่มผลผลิตยางพาราเพื่อใช้ภายในประเทศและอาจลดการนำเข้าจากไทยได้ในอนาคต

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • ภาครัฐควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและรักษาตำแหน่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลกเอาไว้  จากแนวโน้มความต้องการใช้ยางพาราและราคายางธรรมชาติที่มีทิศทางสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทำให้ไทยต้องเร่งคว้าโอกาสและปรับตัวเพื่อรองรับแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพโดยเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางแบบครบวงจรและมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราในภูมิภาคนี้ และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งควรสนับสนุนให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางธรรมชาติในผลิตภัณฑ์ยางต่างๆให้มากขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้ยางพารา เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางและขยายผลการใช้ยางพาราในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออก และลดผลกระทบที่อาจเกิดจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติในตลาดโลก 

11.jpg

22.jpg

33.jpg

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ