ธุรกิจ grocery store มีแนวโน้มอย่างไร? …จับตามองโมเดลใหม่ๆ
Grocery store ของไทยยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก แต่การเติบโตของสาขาจะเน้นไปที่โมเดลขนาดเล็กลง และจับตามอง “hybrid concept” ซึ่งเป็นการผสมผสานรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างไปตามทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ผู้เขียน: ปราณิดา ศยามานนท์ และ ณัฐชยา อารักษ์วิชานันท์
Grocery store ของไทยยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก แต่การเติบโตของสาขาจะเน้นไปที่โมเดลขนาด เล็กลง และจับตามอง "hybrid concept" ซึ่งเป็นการผสมผสานรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างไปตามทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ธุรกิจค้าปลีก grocery store ของไทยมีแนวโน้มเติบโตไปตามประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย โดยจะมุ่งไปที่โมเดลขนาดเล็กลง หากดูจากโครงสร้าง grocery store ของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียคือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์และเกาหลีจะพบว่ายอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตมีสัดส่วนสูงที่สุดเกินกว่า 50% ของยอดค้าปลีกสมัยใหม่ โดยที่สัดส่วนของสาขายังกระจุกตัวอยู่ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างซุปเปอร์สโตร์ไม่เป็นที่นิยมมากนัก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ต่างจากไทยซึ่งแม้จะมีสัดส่วนจำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อมากที่สุด (รูปที่1) แต่กลับมียอดขายของซุปเปอร์สโตร์สูงที่สุด อย่างไรก็ดี จะพบว่าจำนวนสาขาของซุปเปอร์สโตร์เติบโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมในช่วงปี 2004-2008 สาขาเพิ่มขึ้นราว 20% ต่อปี มาในปี 2009-2011 เพิ่มขึ้นเพียงราว 7% ต่อปี เช่นเดียวกับยอดขายที่เติบโตช้าลงจาก 17% ต่อปีเป็น 4% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ร้านสะดวกซื้อมีบทบาทมากขึ้นเห็นได้จากจำนวนสาขาที่เติบโตสูงราว 14% ต่อปีและมียอดขายที่เติบโตถึง 16% ในช่วง 2006-2011 สะท้อนว่า grocery store ของไทยมีแนวโน้มพัฒนาไปเป็นโมเดลที่เล็กลง แล้วปัจจัยใดที่มีผลต่อการเติบโตของโมเดลค้าปลีกขนาดเล็ก ? พื้นที่จำกัดและกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกทำให้การเติบโตของสาขา grocery store ขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้น หากดูตัวอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่มีน้อยทำให้ต้นทุนเช่าพื้นที่สูงถึง 500,000-600,000 บาทต่อตารางเมตร จึงไม่น่าแปลกใจที่การขยายสาขาค้าปลีกขนาดใหญ่จะชะลอตัวลง นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการค้าปลีกมีบทบาทสำคัญอย่างเช่น ในเกาหลีใต้มีกฎหมายห้ามร้านค้าขนาดใหญ่เปิดสาขาใกล้ร้านค้าดั้งเดิมภายในรัศมี 500 เมตร เช่นเดียวกับไทยที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองที่หายากและมีราคาแพงขึ้น อีกทั้งยังมีข้อจำกัดจากพ.ร.บ.ผังเมืองที่กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่ง ทำให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่หันมาขยายสาขาร้านค้าขนาดเล็กลง รายได้เฉลี่ยและสัดส่วนของผู้หญิงทำงานที่เพิ่มขึ้นทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนไปในลักษณะที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อเป็นโมเดลค้าปลีกที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์และเกาหลี อยู่ในระดับสูงประกอบกับสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมีมากขึ้นเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยจาก 48% ในปี 1990 มาเป็น 53% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมด ทำให้เวลาในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคยังต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ เน้นของสด ใหม่ และยอมจ่ายราคาพรีเมี่ยม ดังเช่น ญี่ปุ่น ซึ่งชอบจับจ่ายซื้อของบ่อยๆ มากกว่าซื้อเยอะๆ ทีเดียว สำหรับไทย แม้ว่าผู้บริโภคยังนิยมซื้อสินค้าครั้งละมากๆ จากซุปเปอร์สโตร์ แต่ระดับรายได้ต่อหัวและสัดส่วนของผู้หญิงทำงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปในลักษณะเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย จับตามองโมเดลค้าปลีกที่เป็น "hybrid concept" มีแนวโน้มขยายตัวดี ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นพัฒนาการของ grocery store ของไทยเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีโมเดลใหม่ๆ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างซุปเปอร์สโตร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างไปตามทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาดูความเหมาะสมของ grocery store รูปแบบต่างๆ แล้ว โมเดลที่น่าจะมีแนวโน้มเติบโตดีในกรุงเทพฯ คือ มินิซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือเรียกอีกอย่างว่า convenience store plus ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อมาไว้ด้วยกัน คงปฎิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตของชุมชนที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ที่หนาแน่นขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวขนาดเล็ก เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวของ grocery store ขนาดเล็ก ซึ่งพฤติกรรมในการซื้อสินค้าจะมีความถี่ขึ้น แต่ไม่เน้นปริมาณ ต้องการความสะดวกรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังมีความต้องการสินค้าสดใหม่ หลากหลายประเภท ดังนั้น grocery store ลูกผสมในลักษณะนี้จึงน่าจะตอบโจทย์ได้ดีทั้งในแง่ความสะดวกรวดเร็ว และความหลากหลายสดใหม่ของสินค้า (รูปที่ 2) แต่จะให้ตอบสนองความต้องการได้ดียิ่งกว่านั้น อาจจะต้องดึงเอาจุดขายต่างๆ เช่น เน้นสินค้าอาหารประเภท home meal replacement และสินค้า private label มากขึ้น โมเดลร้านสะดวกซื้อของเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เน้นขายสินค้าประเภท home meal replacement products ซึ่งมีทั้งอาหารพร้อมทาน (ready to eat) อาหารพร้อมอุ่น (ready to heat) และอาหารพร้อมปรุง (ready to end-cook) ให้เลือกหลากหลาย อีกทั้งยังมีการนำเอา vending machine สำหรับขายอาหารพร้อมทานมาไว้ในร้านอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำสินค้า private label มาจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้รับการตอบรับที่ดีแล้ว ยังช่วยเพิ่ม margin ให้สูงขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกันยังมีบริการเสริมอื่นๆ เช่น บริการด้านไปรษณีย์ บริการธนาคาร และล้างอัดรูปด้วย แต่โมเดลขนาดรองอย่าง compact hypermarket น่าจะยังเติบโตได้ดีทั้งในแถบชานเมืองกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในด้านทำเลน้อยกว่า แม้ว่ารูปแบบขนาดเล็กอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อจะเปิดได้ง่ายกว่าและมีความสะดวกมากกว่า แต่อีกโจทย์สำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ ผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความอ่อนไหวในเรื่องราคา ทำให้รูปแบบของคอมแพคไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ดึงเอาจุดเด่นของไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ตมาไว้ด้วยกันยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากตอบสนองความต้องการได้ทั้งผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าในปริมาณมากที่ราคาประหยัด รวมถึงผู้บริโภคที่ซื้อในยามของขาดที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วได้อีกด้วย
|