SHARE
IN FOCUS
23 พฤศจิกายน 2011

ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์…ฟื้นหรือฟุบยาวจากวิกฤติน้ำท่วม?

แม้ว่าห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากวิกฤติน้ำท่วม แต่คาดว่าการผลิตจะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2012 ขณะที่ประเด็นการย้านฐานการผลิตในระยะสั้นยังไม่น่าเป็นกังวลนัก

ผู้เขียน:  ปราณิดา ศยามานนท์

164471983-[Converted].jpg

แม้ว่าห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงจากวิกฤติน้ำท่วม แต่คาดว่าการผลิตจะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2012 ขณะที่ประเด็นการย้านฐานการผลิตในระยะสั้นยังไม่น่าเป็นกังวลนัก

การผลิต Hard Disk Drive (HDD) ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกและห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของ HDD ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤติน้ำท่วม เนื่องจากผู้ผลิต HDD รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบ HDD เป็นจำนวนมากมีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งในอยุธยาและปทุมธานี โดยผู้ผลิต HDD รายใหญ่ที่โรงงานน้ำท่วมคือ Western Digital (WD) และ Toshiba ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงราว 40% ของตลาด HDD ของโลก ซึ่งแต่ละบริษัทมีการผลิตในไทยราว 50% ของการผลิตทั้งหมด (รูปที่ 1) ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่น แม้โรงงานจะไม่ได้รับความเสียหาย แต่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบเนื่องจากผู้ผลิตส่วนประกอบหลักใน supply chain ของ HDD หลายรายประสบกับภาวะน้ำท่วม โดยเฉพาะ spindle motor ซึ่ง Nidec เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึงราว 80% ของ HDD motor ทั้งหมดของโลก โดยสัดส่วนการผลิตในไทยอยู่ที่ราว 65% ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่าชิ้นส่วน spindle motor ในตลาดโลกจะหายไปราว 50% ของการผลิตทั้งหมดของโลกจากผลกระทบของวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้ ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่ายอดการส่ง HDD ของโลกจะปรับลดลงราว 30% (QOQ) ดังนั้น การฟื้นตัวของการผลิต HDD ส่วนหนึ่งจึงขึ้นกับความสามารถในการกลับมาผลิตของ WD Toshiba และ Nidec เป็นสำคัญ (รูปที่ 2)

กำลังการผลิต HDD ของโลกคาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 60% ในไตรมาส 4 ของปี 2011 และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับ 80-90% ในช่วงกลางปี 2012 โดยรวมสัดส่วนการผลิต HDD ของไทยรวมทุกบริษัทอยู่ที่ประมาณ 40% ของการผลิต HDD ทั้งโลก จากการประเมินผลกระทบของบริษัทที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยรวมคาดว่าการผลิต HDD และส่วนประกอบจะชะลอตัวหรือหยุดชะงักราว 1-2 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตของโลกหายไปราว 20% กำลังการผลิตจึงปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 60% ทั้งนี้ ภายหลังจากน้ำลดแล้ว คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม สั่งซื้อ และติดตั้งเครื่องจักรราว 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเสียหาย ทำให้คาดว่ากำลังการผลิตจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 1 ก่อนจะกลับมาสู่ระดับ 80-90% ได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 2012  

การชะลอตัวของการผลิต HDD ยังส่งผลต่อเนื่องมายังสินค้าขั้นปลาย โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบที่คาดว่าจะชะลอตัวลงตาม โดยการผลิตคอมพิวเตอร์ PC ทั่วโลกต้องประสบปัญหาจากการที่ supply chainของอุปกรณ์ชิ้นส่วนสำคัญอย่าง HDD เกิดภาวะขาดแคลนและไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดส่งผลให้ราคา HDD ปรับตัวสูงขึ้นถึงราว 2 เท่าในเดือนตุลาคมและทำให้การส่งสินค้าคอมพิวเตอร์ PC มีแนวโน้มชะลอตัวลงตาม เนื่องจากสัดส่วนของการใช้ HDD ในเครื่องคอมพิวเตอร์ PC สูงถึงราว 50% ของความต้องการ HDD แต่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2011 ผลกระทบค่อนข้างจำกัดเนื่องจากยังมีสินค้าคงคลังอยู่ราว 2-4 สัปดาห์ แต่ในไตรมาส 1 ปี 2012 ผลกระทบจะชัดเจนมากขึ้น โดยตลาดคาดการณ์ว่ายอดการส่งสินค้าคอมพิวเตอร์ PC จะปรับลดลงราว 15% (QOQ) ในไตรมาส 1 ปี 2012 และยังส่งผลต่อเนื่องมายังผลิตภัณฑ์ DRAM ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตาม (รูปที่ 3)

ตลาด HDD ที่ชะลอตัวไม่ได้ส่งผลให้ความต้องการ Solid State Drive (SSD) เพิ่มขึ้นมากนัก แม้ว่า HDD เกิดการขาดแคลนในตลาด แต่คาดว่าความต้องการ SSD คงไม่สามารถมาทดแทนอุปทาน HDD ที่หายไปได้มากนัก เนื่องจาก คอมพิวเตอร์ PC และ Enterprise systems ส่วนใหญ่ที่พัฒนาขึ้นยังคงต้องอาศัย HDD เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลเนื่องจาก SSD ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความจุของหน่วยความจำที่ยังไม่มากเท่ากับ HDD อีกทั้งยังมีราคาแพงกว่า HDD ค่อนข้างมาก ทำให้ความต้องการไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก

...แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2012 คาดว่ายอดขาย HDD และคอมพิวเตอร์จะกลับมาฟื้นตัวดี เนื่องจากจะมี pent-up demand จากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่กลับมาสั่งซื้อเป็นจำนวนมากเพื่อชดเชยสต็อกสินค้าที่ขาดหายไป ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงฤดูกาลที่ยอดขาย HDD และคอมพิวเตอร์สูงตามปกติอยู่แล้วซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้ยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กลับมาขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี


1 Solid State Drive (SSD) คืออุปกรณ์หน่วยความจำที่ใช้เก็บข้อมูล ซึ่งพัฒนามาจาก flash memory การทำงานจะแตกต่างกันกับ HDD เป็นในลักษณะของจานแม่เหล็ก SSD มีข้อดีคือ ความเร็วในการถึงข้อมูลจะมากกว่า HDD และไม่สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า


Implication.png

886_20100622103105.gif

  • หากการผลิต HDD ของไทยกลับมาขยายตัวได้ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย ในช่วง 3 ปี (2548-2550) ก่อนเกิดวิกฤติการณ์การเงินโลกที่ราว 30% จะส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นราว 0.6 percentage point เนื่องจาก HDD มีสัดส่วนการผลิตสูงถึงประมาณ 5% ของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนราว 40% ใน GDP ไทย ดังนั้น หากการผลิต HDD กลับมาฟื้นตัวได้เร็วภายในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2012 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตัวเลขการส่งออกและผลผลิตอุตสาหกรรมของไทยฟื้นตัวตามไปด้วย

  • วิกฤติน้ำท่วมไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในระยะยาวยังคงมีความเสี่ยง  เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำคัญของโลกและมี supply chain ในส่วนของอุตสาหกรรมขั้นกลางและขั้นปลายที่ค่อนข้างหลากหลาย จากการเข้ามาลงทุนย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างประเทศ ตั้งแต่ชิ้นส่วน semiconductor แผงวงจรไฟฟ้า PCBA และชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ มาจนถึง HDD และ Optical media ตลอดจนสินค้าขั้นปลายต่างๆ โดยมีผู้ผลิตทั้งที่เป็น brand owner, Original Equipment Manufacturer (OEM), Electronics Manufacturing Services (EMS) และบริษัท outsourcing อีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนแรงงานไทยมีความชำนาญและสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น ดังนั้น การย้ายฐานการผลิตไปจากแหล่งที่มีความพร้อมเช่นนี้จึงน่าจะเกิดขึ้นได้ยากซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาใหม่และใช้เงินลงทุนสูง แต่ประเด็นที่เป็นความเสี่ยงน่าจะมาจากการบริหารจัดการน้ำว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้มากน้อยเพียงใด ตลอดจน ต้นทุนการผลิตของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นทำให้ไทยเริ่มสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตที่เน้นแรงงานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีนและเวียดนามมากขึ้น ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันไปสู่การผลิตที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น มากกว่าการรับจ้างประกอบและทดสอบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาฝีมือแรงงาน ขณะเดียวกันต้องเร่งบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมซ้ำรอยเดิมอีกเพื่อรักษาความเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก

2580_20111123174258.jpg

 2578_20111123173912.jpg

2579_20111123173916.jpg 

 

 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ