SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 ธันวาคม 2016

ประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed

Fed’s dot plot

ผู้เขียน: ดร.ธนพล ศรีธัญพงศ์ และ ณฐกร วิสุทธิโก

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2016

 

GettyImages-521666423.jpg

 

 

The Federal Reserve’s so-called dot plot, which it uses to signal its outlook for the path of interest rates, shows that policy makers expect one quarter-point rate increase this year. Officials scaled back their expectations for hikes in 2017 and over the longer term. The Fed left its policy rate unchanged for a sixth straight meeting on Wednesday.

 

ที่มา: Bloomberg 22 September 2016

 

 

ประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed (Fed’s dot plot) คืออะไร

 

ประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed (ธนาคารกลางของสหรัฐฯ) หรือ ที่โดยทั่วไปเรียกว่า dot plot คือ แผนภาพที่แสดงถึงประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผู้แทน Fed คิดว่าควรจะเป็น ณ เวลาต่างๆ ในอนาคต โดยแผนภาพนี้ได้มาจากการสำรวจความเห็น (survey) ของผู้แทน Fed แต่ละคน โดย dot plot ปัจจุบันเป็นแผนภาพที่รวบรวมจากผู้แทน 17 คน โดย 5 คนเป็นคณะกรรมการบริหารของ Fed (board member) และอีก 12 คนเป็นผู้แทนจาก Fed ใน 12 เขต โดยมีการจัดทำและเผยแพร่รายไตรมาสพร้อมกับประมาณการเศรษฐกิจของ Fed

 

การเผยแพร่ dot plot เริ่มขึ้นในปี 2012 ซึ่งในขณะนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงที่ยังไม่ฟื้นตัว การรักษาดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำจึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ Fed จะประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25%-0.50% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ตลาดอาจมีการคาดการณ์ว่า ในระยะต่อไป Fed จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดังนั้น การจัดทำและเผยแพร่ dot plot จึงเป็นเหมือนการแสดงให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกันว่า Fed มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำแบบนี้นานเพียงใดและจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป ซึ่งจะช่วยบรรเทาความแตกต่างของการคาดการณ์ตลาดเงินโดยรวมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

ผู้แทนที่กำหนด dot plot กับผู้แทนที่ลงคะแนนเสียงในการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบายเป็นผู้แทนชุดเดียวกันหรือไม่

 

ผู้แทนทั้งสองเป็นผู้แทนชุดเดียวกันแต่มีความต่างกันในด้านจำนวนคน โดยคณะผู้แทนที่มีอำนาจลงคะแนนเสียง (voting members) ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารของ Fed จำนวน 7 คน (ปัจจุบันมีเพียง 5 คน) ผู้แทน Fed สาขา New York 1 คน และผู้แทน Fed สาขาอื่นๆ อีก 4 คน โดยรวมผู้แทนที่มีอำนาจลงคะแนนจึงมีเพียง 12 คน (โดยรวมปัจจุบันมี 10 คน) ในแต่ละครั้ง ในขณะที่ผู้แทนที่ไม่มีอำนาจลงคะแนน (non-voting members/alternate members) มีหน้าที่ในการเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินนโยบาย ทั้งนี้ ในส่วนของผู้แทน Fed สาขา 4 คนนั้นจะมีการหมุนเวียนทุกปีตามปีปฏิทิน

 

Fed’s dot plot อ่านค่าอย่างไร

 

จุดแต่ละจุดของ dot plot เป็นการแทนความคิดเห็นของกรรมการแต่ละคน ตัวอย่างเช่น dot plot ณ วันที่ 25 มกราคม 2012 (รูปที่ 1) ผู้แทน 14 คนคิดว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25% - 0.50% ในปี 2012 ในขณะที่อีก 3 คนเห็นว่าควรปรับเพิ่ม จากแผนภูมินี้เราสามารถมองถึงทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้จากมัธยฐาน (median) ของความเห็นของผู้แทน ซึ่งจากตัวอย่างนี้ เห็นว่า มัธยฐานสำหรับดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.25% - 0.50% ในปี 2012 และ 2013 และอยู่ที่ 0.50% - 0.75% ในปี 2014 นอกจากนี้ พิสัย (range) ของการลงคะแนนยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงทิศทางของความเห็นของผู้แทน โดยจะเห็นได้ว่า พิสัยของการลงคะแนนในปี 2014 มีความกว้างกว่าปี 2012 และ 2013 มาก สะท้อนว่า ณ ขณะนั้นผู้แทนมีความเห็นที่ต่างกันอย่างมากในทิศทางของเศรษฐกิจปี 2014

 

เป็นที่สังเกตว่า ในส่วนสุดท้ายของ dot plot ยังมีการให้ความเห็นต่อดอกเบี้ยนโยบายในระยะไกลออกไป (longer run) ซึ่งประเมินถึงดอกเบี้ยที่เหมาะสมในการรักษาสมดุลของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งมีการจ้างงานเต็มที่และอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าหมาย โดย ณ วันที่ 25 มกราคม 2012 ผู้แทน Fed มีความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาวควรอยู่ที่ระดับ 4.25%

 

รูปที่1: Fed’s dot plot ณ วันที่ 25 มกราคม 2012

20161215-1.jpg

ที่มา : Federal Open Market Committee (FOMC)
 

 

นอกจาก dot plot แล้วยังมีเครื่องมืออื่นซึ่งชี้วัดแนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่

 

เนื่องจาก dot plot มีการเผยแพร่รายไตรมาส ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ถี่พอสำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลในช่วงที่ละเอียดกว่านั้น เช่น ในช่วงระหว่างไตรมาส ซึ่งยังไม่การเผยแพร่ ดังนั้น นอกจาก dot plot แล้ว ยังมีเครื่องมืออีกหลายชนิดด้วยกันซึ่งสามารถนำมาใช้ในการประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ตามโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย (implied forward rate) การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น และอัตราผลตอบแทนที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (interest rate future) โดย interest rate future นี้มักเป็นเครื่องมือที่ถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุด เนื่องจากสะท้อนความเห็นที่แตกต่างกันของผู้ซื้อขายได้อย่างชัดเจนว่าในปีนั้นๆ ตลาดประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่เท่าไหร่ ในการประชุมครั้งใด ด้วยความน่าจะเป็นมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับ dot plot จะพบว่าการคาดการณ์ดอกเบี้ยในตลาด interest rate future จะมีความผันผวนกว่ามาก เนื่องจากอ่อนไหวต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่เผยแพร่ค่อนข้างถี่ ในขณะที่ dot plot จะพิจารณาพัฒนาการของเศรษฐกิจในระยะที่ยาวกว่า

 

เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง dot plot กับ interest rate future แล้ว เครื่องมือใดมีความแม่นยำมากกว่ากัน

 

เนื่องจาก dot plot เป็นมุมมองที่เป็นทางการของ Fed ในขณะที่ interest rate future เป็นมุมมองของนักลงทุนในตลาด ซึ่งบ่อยครั้งทั้งสองจะมีความเห็นที่ต่างกัน ทำให้มุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายต่างกันตามไปด้วย โดยมากแล้ว dot plot จะมีความเอนเองไปในทางที่ต้องการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ควรจะเป็น (hawkish bias) ในขณะที่ตลาดมีความเอนเองไปในทางที่ต้องการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น (dovish bias) ดังนั้น จึงควรเลือกใช้ข้อมูลอย่างระมัดระวัง โดยในปี 2015 ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี อยู่ที่ 0.25% - 0.50% หากเปรียบเทียบระหว่าง dot plot และ การคาดการณ์ของตลาด (รูปที่ 2) เห็นว่ามีการลดการคาดการณ์ลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบกันในช่วงเดือนกันยายน เห็นว่า dot plot มีมุมมองที่เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสิ้นปี ในขณะที่ตลาดมีมุมมองที่ต่ำกว่าราว 12 basis points

 

 

รูปที่ 2: Fed’s dot plot และ การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในปี 2015

 

20161215-2.jpg

 

ที่มา : Federal Open Market Committee (FOMC) และ Bloomberg
 

 

ในปี 2017 อีไอซีมีมุมมองต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และ นโยบายการเงินของโลกอย่างไร

 

จาก dot plot ณ วันที่ 21 กันยายน 2016 (รูปที่ 3) เห็นได้ชัดว่า Fed มีความเห็นค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าดอกเบี้ยนโยบาย ปลายปี 2016 ควรที่อยู่ระดับ 0.50% - 0.75% ซึ่งเหนือกว่าระดับปัจจุบัน 25 basis points จึงตีความได้ว่า Fed น่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในขณะปี 2017 นั้น Fed มีความเห็น ณ ขณะนี้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.00% - 1.25% หรือก็คือ Fed มองว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปจากสิ้นปีนี้ไปอีก 50 basis points ในขณะที่ตลาดเงินก็มองดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในเชิงขาขึ้นเช่นกัน แต่ต่ำกว่า dot plot เล็กน้อย อีไอซีมองว่าแนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งอย่างมากและมีอัตราการว่างงานต่ำกว่า 5% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อทยอยเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% มากขึ้น ในปี 2017 จึงน่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 – 50 basis points หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับทิศทางนโยบายการเงินในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อีไอซีมองว่ามีทิศทางนโยบายการเงินผ่อนคลายทั้งในยุโรป และ ญี่ปุ่น โดยยุโรปนั้นมีแนวโน้มผ่อนคลายเพิ่มเติมเนื่องจากยังมีผลจากความไม่แน่นอนของกระบวนการที่จะออกจากสหภาพยุโรปของ  สหราชอาณาจักร (Brexit) ในขณะที่ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางและมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แม้ว่ามาตรการทางการคลังของรัฐบาลญี่ปุ่นจะช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าวได้ แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ทำให้ภาพรวมของตลาดการเงินโลกยังคงมีความหลากหลายของนโยบายการเงิน (monetary policy divergence) ซึ่งจะกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยที่มีธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับเงินตราสกุลต่างประเทศ ควรที่จะติดตามสภาวการณ์อย่างใกล้ชิด และเลือกใช้เครื่องมือสำหรับการคาดการณ์แนวโน้ม เช่น dot plot ประกอบอย่างเหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน

 

 

รูปที่ 3: Fed’s dot plot ณ วันที่ 21 กันยายน 2016

20161215-3.jpg

 

 

ที่มา : Federal Open Market Committee (FOMC)

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ