SHARE
SCB EIC ARTICLE
29 พฤศจิกายน 2016

จับทิศอุตสาหกรรมไทย 2017

ภาคการผลิตทั่วโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่มิติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการพัฒนากระบวนการดำเนินงานบนพื้นฐานของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการผลิตได้อย่างมหาศาล หรือในแง่ของความร่วมมือระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตและตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างประเทศ หรือรวมไปถึงในแง่ของความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปยังผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Author: Economic Intelligence Center

 

FTI_design2017_v5_web-1.jpg

 

ภาคการผลิตทั่วโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่มิติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการพัฒนากระบวนการดำเนินงานบนพื้นฐานของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการผลิตได้อย่างมหาศาล หรือในแง่ของความร่วมมือระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตและตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างประเทศ หรือรวมไปถึงในแง่ของความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปยังผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ยิ่งไปกว่านั้นความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงความไม่มั่นคงทางภูมิศาสตร์ต่างๆ ที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป หรือตะวันออกกลาง จะเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ ด้วยกระบวนการการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปและความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ไทยต้องยกระดับระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในครั้งนี้ โดยความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทั้งภาครัฐและเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และเติบโตได้อย่างยั่งยืน


อีไอซีและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกันจัดทำบทวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมปี 2017 และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุค Industry 4.0 บทวิเคราะห์ฉบับนี้ได้ครอบคลุมใน 4 คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์ปิโตรเคมี คลัสเตอร์ยานยนต์ คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง และคลัสเตอร์อาหารและเครื่องดื่ม โดยวัตถุประสงค์นั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการได้มองเห็นภาพรวม แนวโน้มธุรกิจและสามารถวางกลยุทธ์เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

 

สำหรับปี 2017 อีไอซีคาดว่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวโดยได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของราคาผลผลิตทางการเกษตร นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมไปถึงการเร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) โดยผู้ประกอบการไทยควรเริ่มลงทุนเพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในยุค 4.0 และเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยเองภายใต้บริบทใหม่ (New Normal) ที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งในด้านจำนวนแรงงานที่ลดลงจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และค่าแรงที่เพิ่มสูงและเร็วกว่าประสิทธิภาพแรงงาน

 

ส่วนการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาป็นคู่แข่งในการผลิตและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาตินั้น ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาธุรกิจให้สามารถต่อยอดการลงทุนไปยังประเทศเหล่านี้ซึ่งจะกลายเป็นคู่ค้าแทนที่คู่แข่ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจของไทย และยังเป็นการขยายช่องทางการตลาดไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของคุณภาพสินค้าและบริการจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของไทยซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งต่างๆ ได้ในระยะยาว

 

ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในแต่ละคลัสเตอร์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 11 คลัสเตอร์จะเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนายกระดับความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจในยุค Industry 4.0 ที่มีการเชื่อมโยงกันทั่วโลกบนฐานของระบบดิจิทัลในปัจจุบัน และจะเป็นรากฐานสำคัญต่อการกำหนดบทบาทในการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่มากขึ้น 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ