SHARE
SCB EIC ARTICLE
13 ตุลาคม 2016

In focus: ส่องสถานการณ์เด่น ประเด็นเศรษฐกิจโลก 2017

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2016

คลิกอ่านฉบับเต็ม 

KEY_1.jpg

เศรษฐกิจโลกที่จะยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปี 2017 ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านมา ทั้งความผันผวนในตลาดการเงินและเหตุการณ์นอกเหนือความคาดหมายอย่าง Brexit ซึ่งผลกระทบยังไม่แน่ชัด โดยอีไอซีมองว่ากระแสความเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตามองในปีหน้า ได้แก่ 1) ความเสี่ยงที่เกิดจากหนี้ซึ่งสะสมจากช่วงภายหลังวิกฤติทางการเงินโลก 2) ความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้น และ 3) แรงส่งทางการคลังซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลหลายแห่งทั่วโลกหันไปพึ่งพาเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อพลวัตรการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้ประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2017 เปลี่ยนแปลงไปจากกรณีพื้นฐาน (baseline scenario)

 

KEY_info2.jpg

  1. ความเสี่ยงจากภาวะหนี้ท่วมโลก หนี้ที่สะสมจากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมายาวนานประกอบกับเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวสร้างความกังวลเรื่องความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอาจจุดประกายวิกฤติภาคธนาคารซึ่งสามารถลุกลามกลายเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจการเงินครั้งใหม่ได้ โดยในปี 2017 กรณีของหนี้ภาคธุรกิจในจีนและหนี้เสียสะสมของบางประเทศในยุโรปเป็นประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ
  2. การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ กรณีของ Brexit ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองลักษณะนี้แม้จะมีความเป็นไปได้ต่ำ แต่เมื่อเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงและเป็นวงกว้าง โดยในปี 2017 จะมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศใหญ่ เช่น การเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ในสหรัฐฯ และการเลือกตั้งในยุโรปซึ่งกำลังเผชิญกับกระแสการต่อต้านระบบเดิม
  3. แรงส่งทางการคลัง ในช่วงที่ผ่านมาประสิทธิผลของนโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลงและไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ทำให้รัฐบาลทั่วโลกเริ่มหันไปพึ่งมาตรการทางการคลังมากขึ้น ตัวอย่างเช่น แผนกระตุ้นทางการคลังกว่า 28 ล้านล้านเยนของญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไทยและประเทศในอาเซียนเองก็มีโครงการลงทุนมหาศาลเช่นกัน โดยความเสี่ยงอยู่ที่ประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายว่าจะสามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่

ในภาพรวมสำหรับปี 2017 อีไอซีมองว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) ในแถบเอเชีย มีความเสี่ยงข้างต้นจำกัดที่สุด และมีแนวโน้มจะเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ในทางกลับกันยุโรปเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าวรุนแรงมากที่สุด

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ