SHARE
SCB EIC ARTICLE
13 ตุลาคม 2016

BOX: ไทยกับการก้าวเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดและ e-Payment

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2016

คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

BOX_e-payment.jpg

 

ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทิศทางของสังคมไร้เงินสด (cashless society) ทั่วโลกได้ถูกผลักดันให้มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด เรากำลังเห็นประเทศชั้นนำอย่างสวีเดนกำลังขับเคลื่อนเข้าหา cashless society อย่างเต็มรูปแบบ โดยที่มากกว่าครึ่งของสาขาธนาคารเอกชนในสวีเดนได้เลิกรับบริการฝากถอนเงินสด อีกทั้งไม่สามารถใช้เงินสดซื้อแม้แต่ตั๋วรถไฟใต้ดินในกรุงสตอกโฮล์มเมืองหลวงของประเทศได้อีกต่อไป นอกจากนี้ นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Apple Pay และ Bitcoin ยังเป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงอนาคตอันใกล้ที่เงินสดจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยอีกด้วย

 

Cashless society สามารถยกระดับประสิทธิภาพและศักยภาพทางเศรษฐกิจผ่านการลดต้นทุนจากธุรกรรมเงินสดและการเพิ่มความโปร่งใสในระบบธุรกรรมการเงิน โดยการจัดการบริหารเงินสดนั้นมีค่าใช้จ่ายซ่อนอยู่ เช่น ต้นทุนจากการขนส่ง การเก็บรักษา และการผลิต ซึ่งจากการประมาณการโดยสมาคมธนาคารไทย การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Payment สามารถกำจัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ได้กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี นอกเหนือไปจากนี้ cashless society ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลจากความโปร่งใสของระบบการเงินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกรรม e-Payment มีการบันทึกหลักฐานการทำธุรกรรมไว้ในระบบเสมอ ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเงินที่ผิดปกติได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้และลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี การคอรัปชั่น และการฟอกเงินของประเทศได้

 

ผลการวิจัยล่าสุดจาก Moody’s Analytics บ่งชี้ถึงผลกระทบเชิงบวกจาก e-Payment ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อ GDP และปริมาณการใช้จ่ายการบริโภค ซึ่งการใช้ e-Payment และบัตรต่างๆ ทำให้ GDP ของไทยระหว่างปี 2011 และ 2015 เพิ่มขึ้นราว 3.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่ากับการจ้างงานเพิ่มขึ้น 75,000 คน ต่อปีโดยเฉลี่ย สำหรับการบริโภคนั้น e-Payment ได้ช่วยส่งเสริมการบริโภคผ่านการกระจายฐานลูกค้าทำให้ช่องทางการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยผลการวิจัยฉบับนี้คาดคะเนว่า สำหรับปริมาณการใช้บัตรเครดิตและเดบิตที่เพิ่มขึ้น 1% ปริมาณการบริโภคทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีโดยเฉลี่ย

 

หากต้องการที่จะได้รับประโยชน์จาก cashless society ให้ได้มากที่สุด ไทยต้องบรรลุเงื่อนไข 2 ข้อให้ได้ คือ การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องและการเพิ่มความนิยมของระบบ e-Payment ในสังคมไทย ตามการประมาณการในปี 2013 โดย Tufts University และ MasterCard Worldwide ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 1 ไทยอยู่ในลำดับที่ 35 จาก 50 ของการจัดอันดับ Digital Evolution Index (DEI) หรือการวัดความพร้อมโดยรวมของประเทศต่อ cashless society การจัดอันดับนี้บ่งบอกถึงความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานไทยต่อการนำประเทศเข้าสู่ cashless society ซึ่งบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการยกเครื่องและปรับปรุงระบบการชำระเงินทั้งหมดทั่วประเทศเพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและลดแรงเสียดทานในระบบ ด้วยเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่มีศักยภาพจะช่วยให้มีการใช้งาน e-Payment เพิ่มมากขึ้นและ e-Payment นั้นส่งผลดีต่อ GDP โดยประเทศที่มีความพร้อมต่อการเข้าสู่ cashless society มากกว่าก็จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเช่นกัน รัฐบาลไทยจึงจำเป็นที่จะต้องริเริ่มลงมือปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการแรกคือบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ “พร้อมเพย์ – PromptPay” ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 5 โครงการของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังที่มีเป้าหมายเพื่อที่จะปรับปรุงเครือข่ายการชำระเงินให้ทันสมัย อีกทั้งโครงการต่อๆ ไป เช่น การขยายเครื่องรับชำระบัตร กำลังได้รับการวางแผนเพื่อที่จะเริ่มดำเนินการในอนาคตอันใกล้ต่อไป

 

อย่างไรก็ดี การเพิ่มความนิยมและความยอมรับในสังคมของ e-Payment มีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ ข้อจำกัดแรก คือ คุณสมบัติจำเพาะของค่าเงินสกุลประเทศต่างๆ หากผู้คนจำนวนมากต้องการที่จะถือเงินตราสกุลหนึ่ง เนื่องจากความเชื่อถือและความไว้วางใจในมูลค่า มันอาจจะเป็นเรื่องท้าทายสำหรับรัฐบาลในการยกเลิกการใช้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ตัวอย่างที่สำคัญคือ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีการใช้อย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ โดยในสหรัฐฯ เองนั้น การชำระเงินของผู้บริโภคที่ไม่ใช้เงินสด (non-cash payment) มีเพียง 45% ของการชำระเงินทั้งหมด ซึ่งไม่สูงเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของระบบการชำระเงินและการจัดอันดับ DEI ที่อยู่ในลำดับที่ 6 ที่คะแนน 51.79 ในทางตรงกันข้ามฝรั่งเศสอยู่ในลำดับที่ 19 ที่คะแนน 44.07 แต่การชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสดมีมากกว่าสหรัฐราว 14% เลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนและผู้คนทั่วไปทั้งในยามปกติและในยามที่เศรษฐกิจขาดความเสถียรภาพ ประเทศและดินแดนต่างๆ เช่น เอกวาดอร์และบาฮามาสจึงได้นำดอลลาร์สหรัฐฯ มาใช้เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ รวมทั้งในช่วงวิกฤติภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงในซิมบับเวที่กระทบความเชื่อมั่นในค่าเงิน ทำให้ผู้คนหันไปถือดอลลาร์สหรัฐฯ แทนสกุลเงินท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งตามการประมาณการของ Ruth Judson ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกจนราว 50% ของเงินสดทั้งหมดอยู่นอกประเทศ สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ว่าถึงแม้สหรัฐฯ จะประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ cashless society ในประเทศได้ จำนวนธนบัตรและเหรียญจำนวนมากจะยังมีอยู่ในระบบนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้คุณสมบัติจำเพาะของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จึงมีประสิทธิภาพในการจำกัดความสามารถในการลดจำนวนเงินสดในระบบการเงินของสหรัฐฯ โดยรวมได้

 

ในทางกลับกันสกุลเงินบาทไทยนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป เพราะว่าเงินบาทไม่ใช่เป็นสกุลเงินที่สำคัญในตลาดโลกจึงง่ายกว่ามากสำหรับรัฐบาลไทยในการก้าวข้ามอุปสรรคนี้ สิ่งเดียวที่รัฐบาลไทยต้องกังวล คือการค้าชายแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท
ในปี 2015 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามีผู้ประกอบการค้าบางรายในประเทศข้างต้นจะมีความลังเลในการเลิกถือเงินบาทไทย เนื่องจากการเลิกใช้เงินบาทจะจำกัดความสามารถในการค้าขายกับพ่อค้าชาวไทย ยิ่งไปกว่านั้นกัมพูชา ลาว และเมียนมายังไม่มีโครงสร้างเครือข่ายที่จำเป็นที่ดีพอสำหรับ e-Payment หรือ non-cash payment นั่นหมายความว่าถึงแม้ไทยจะพยายามเข้าสู่ cashless society อย่างเต็มรูปแบบ ผู้ประกอบการในประเทศเหล่านั้นอาจจะยังคงใช้เงินบาทไทยต่อไปในการค้าขาย ดังนั้น ความต้องการใช้เงินบาทไทยที่ชายแดนสำหรับการค้าจึงเป็นหนึ่งในอุปสรรคของความพยายามในการเข้าสู่ cashless society สำหรับไทยได้

 

BOX_e-payment2.jpg

 

ข้อจำกัดที่ 2 คือ ความต้องการของผู้คนในการใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน อุปสรรคทางสังคมนี้เกิดขึ้นมาจากความกลัวการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวและความไม่มั่นใจในระบบความปลอดภัยของ e-Payment โดยรวม ผู้คนบางส่วนปฏิเสธที่จะเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิต เพราะว่าความเคยชินในการถือเงินสดที่ทำให้ผู้คนเหล่านั้นรู้สึกอุ่นใจมากกว่า เงินสดยังเพิ่มความเป็นส่วนตัว เนื่องจากการเคลื่อนไหวของเงินสดไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้จึงไม่สามารถติดตามการใช้งานได้ ทำให้รอดพ้นจากการตรวจตราโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งส่งผลไปถึงเศรษฐกิจใต้ดินผิดกฎหมายที่มีมูลค่าถึง 10% ของ GDP ในสหรัฐฯ ที่มีการใช้เงินสดอย่างกว้างขวางในการทำธุรกรรมเพื่อป้องกันการตรวจตาโดยรัฐบาล ความกังวลในด้านความปลอดภัยและความกลัวการสูญเสียความเป็นส่วนตัวนี้ทำให้เกิดการไม่ยินยอมในการยกเลิกการใช้เงินสดนั่นเอง

 

สำหรับประเทศอย่างไทยและไต้หวันนั้น non-cash payment อยู่ที่ 2% และ 6% ของการชำระเงินทั้งหมดในปี 2013 ตามลำดับการคาดคะเนของ MasterCard โดยไทยสามารถเพิ่มการใช้งานของ e-Payment และลดการใช้เงินสดในชีวิตประจำวันได้โดยการให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้งานและประโยชน์ของ e-Payment มาตรฐานความปลอดภัยต้องได้รับการปรับปรุงให้แน่นหนาขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังสามารถสร้างแรงจูงใจในการใช้ e-Payment ผ่านนโยบายอุดหนุนต่างๆ เช่น
การคิดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่า 7% สำหรับการชำระเงินโดยเงินสด การคิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่าน “พร้อมเพย์ - PromptPay” ที่ถูกลง และการผ่อนปรนทางภาษีสำหรับผู้ใช้งาน e-Payment

 

ไทยยังมองไปที่นโยบายอื่นๆ ที่ต่างประเทศเป็นตัวอย่างได้อีกด้วย ในสหรัฐฯ PayPal ได้ใช้เงินกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อที่จะซื้อช่วงเวลาโฆษณาหนึ่งนาทีในการแข่งขัน Super Bowl 2016 ซึ่งเป็นงานกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ โดยโฆษณา “There’s a New Money in Town” นี้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะสื่อความหมายด้านลบต่อเงินสดที่เก่าและล้าสมัย และสื่อความหมายด้านบวกต่อ non-cash payment หรือ e-Payment ที่แสดงถึงความทันสมัย ความปลอดภัย และความเท่าเทียม ทั้งนี้ ธนาคาร JP Morgan Chase ในสหรัฐฯ ยังห้ามเก็บรักษาธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ในตู้นิรภัยของธนาคาร และยังห้ามการชำระหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบ้านและรถยนต์โดยเงินสด เพื่อที่จะลดการใช้งานเงินสดในระบบและเพิ่มการใช้ e-Payment

 

ในสหราชอาณาจักร (UK) ธนาคารชั้นนำมากมายได้สนับสนุนการใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตชำระเงินแบบสัมผัส (contactless cards) บัตรเหล่านี้สร้างความสะดวกสบายในการใช้งานเมื่อเทียบกับบัตรเครดิตหรือเดบิตแบบเดิมที่ต้องรูดและเซ็นต์ชื่อเวลาชำระเงิน ซึ่งจะช่วยโน้มน้าวใจให้ผู้คนหันมาใช้ contactless cards มากขึ้นสำหรับธุรกรรมที่มีจำนวนเงินไม่มาก ดังนั้น contactless cards จึงสามารถมาทดแทนเงินสดและทำให้การใช้งานเงินสดลดลง เนื่องจากเงินสดมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในธุรกรรมที่มีจำนวนเงินไม่มากนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ Barclays ได้ออก contactless cards แบบเดียวโดยอัตโนมัติและไม่สามารถยกเลิกเปลี่ยนไปเป็นบัตรแบบอื่นได้ ธนาคารอื่นๆ เช่น Royal Bank of Scotland และ Lloyds ก็มีนโยบายที่คล้ายคลึงกับ Barclays แต่ทว่าลูกค้าธนาคารเดิมมีตัวเลือกในการเปลี่ยนไป
เป็นบัตรที่ต้องรูดและเซ็นต์ชื่อได้

 

นอกเหนือไปจากนโยบายต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว รัฐบาลไทยยังสามารถใช้วิธีการทางกฎหมายบังคับแทนการโน้มน้าวได้เช่น ใน UK เมื่อปี 2009 ทางสำนักระบบชำระเงิน (Payment Council) ได้เสนอยกเลิกการใช้งานเช็คเงินสดในประเทศโดยสมบูรณ์ภายในปี 2018 ในเดนมาร์กเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา สภาหอการค้า (Chamber of Commerce) ได้เสนอให้ทางรัฐสภาผ่านกฎหมายอนุญาตร้านค้าผู้ประกอบการให้ปฏิเสธการชำระสินค้าและบริการโดยเงินสดได้ หากกฎหมายนี้มีการบังคับใช้จริง เดนมาร์กจะกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่จะไม่มีเงินสดในร้านค้าเลย

 

BOX_e-payment3.jpg

 

โดยสรุป อีไอซีเชื่อว่าเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ cashless society ในอนาคต รัฐบาลไทยไม่เพียงแต่ต้องยกระดับและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มสมรรถภาพ รัฐบาลยังจำเป็นต้องก้าวข้ามข้อจำกัดทางสังคมบางประการที่ยังกีดขวางการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุคของ e-Payment ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ประเทศจะมีเครือข่ายที่ทันสมัยก็ตาม ข้อจำกัดข้างต้นก็ยังสามารถยับยั้งการพัฒนาของ cashless society ได้ ซึ่งไทยจะได้รับรู้ถึงประโยชน์สูงสุดของ cashless society ได้ก็ต่อเมื่อประเทศก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสังคมได้นั่นเอง

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ