SHARE
SCB EIC ARTICLE
13 ตุลาคม 2016

อัตราแลกเปลี่ยน ไตรมาส 4/2016

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2016

คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

ThinkstockPhotos-180658203-s.jpg

 

การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เป็นสิ่งที่นอกเหนือจากที่มีการคาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ผลของการเห็นชอบที่จะออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรเป็นสิ่งที่ผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดผลกระทบในระยะสั้นต่อตลาดเงิน คือ ดัชนีหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรและยุโรปลดลงอย่างมาก ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และสหราชอาณาจักรลดลง อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ ผลกระทบจากการลงประชามติ Brexit นั้นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความผันผวนในตลาดการเงินอันเป็นผลมาจากประเด็นทางการเมือง (geopolitics) ในปีข้างหน้า ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้อีก (อ่านเพิ่มเติมที่ Box: In Focus ส่องสถานการณ์เด่นประเด็นเศรษฐกิจโลก 2017)
อันอาจจะนำมาซึ่งความผันผวนของตลาดการเงินในลักษณะเดียวกับ Brexit

นอกจากความเสี่ยงทางการเมืองแล้ว ในระยะต่อไป จนถึงสิ้นปี 2017 ความหลากหลายของทิศทางนโยบายการเงิน (monetary policy divergence) จะยังคงเป็นอีกสาเหตุของความผันผวนในตลาดการเงิน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต่างกันที่ชัดเจนระหว่างสหรัฐฯ ซึ่งมีทิศทางนโยบายการเงินที่เข้มงวด ในขณะที่ยุโรป และญี่ปุ่นมีทิศทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ด้วยบรรทัดฐาน (stance) ของนโยบายการเงินที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงนี้ทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินดำเนินต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในปี 2017 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางการฟื้นตัวที่แตกต่างจากประเทศอื่นมากอันจะเป็นปัจจัยกดดันให้สหรัฐฯ จำต้องดำเนินโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าในปีช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความหลากหลายของทิศทางนโยบายการเงินชัดเจนยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 2016 การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยเปรียบเทียบกับเมื่อสิ้นปี 2015 ตลาดลดการคาดการณ์จำนวนครั้งที่ Fed สามารถปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2016 ลงอย่างมาก โดยปัจจุบัน ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะสามารถปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ไม่เกิน 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ในช่วง 0.50% - 0.75% ความชัดเจนของ Fed ที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ จะเป็นปัจจัยผลักดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปี และยังคงมีทิศทางแข็งค่าต่อไปในปี 2017 เนื่องจาก Fed จะยังปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีลักษณะการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ