SHARE
SCB EIC ARTICLE
17 ตุลาคม 2016

Sharing Economy: การบริโภคยุคใหม่ ไร้ซึ่งการครอบครอง

Sharing economy หรือ gig economy เป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน โดยได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกตั้งแต่ปี 1978 ในบทความเชิงวิชาการเรื่อง “Community Structure and Collaborative Consumption” โดย Marcus Felson และ Joe Spaeth ซึ่งทั้งคู่เป็นนักสังคมศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัย Illinois at Urbana-Champagne

ผู้เขียน: กันทิมา วงศ์สถาปัตย์

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2016

 

ThinkstockPhotos-488101637.jpg


 

 
“เรามองว่าตลาดแชร์ริ่งอีโคโนมี่ในไทยจะมีแนวโน้มที่สดใสและน่าจะเติบโตครอบคลุมไปในหลาย Sector ในระยะต่อไป แต่ผู้ประกอบการที่ต้องการจะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงในตลาดนี้ ต้องรีบปรับตัว โดยทำความเข้าใจถึงพฤติกรรม และอำนาจการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคยุคดิจิทัลตั้งแต่วันนี้ และที่ขาดไม่ได้คือต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว” -- นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)

ที่มา: PwC Consulting(2015)

 

 

Sharing Economy คืออะไร

 

Sharing economy หรือ gig economy เป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน โดยได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกตั้งแต่ปี 1978 ในบทความเชิงวิชาการเรื่อง “Community Structure and Collaborative Consumption” โดย Marcus Felson และ Joe Spaeth ซึ่งทั้งคู่เป็นนักสังคมศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัย Illinois at Urbana-Champagne ในปัจจุบัน แนวคิดนี้สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างรายได้ที่มาจากการแลกเปลี่ยนการบริโภคสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้แล้วระหว่างบุคคลและกลุ่มคนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มรูปแบบต่างๆ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้นมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1) สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอภายหลังจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีอัตราการว่างงานสูง และ 2) การเข้าถึงข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์และการประมวลผลแบบ cloud computing ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เข้าถึงข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณซึ่งเกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคได้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัลในการจับคู่ระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ โดยผู้ให้บริการสามารถจัดสรรช่วงเวลาเพื่อแบ่งปันสินค้าหรือการบริการนั้นๆ ขณะที่ผู้บริโภคก็สามารถเลือกและเข้าถึงสินค้าหรือการบริการดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อมาเป็นเจ้าของ เช่น รถยนต์ ที่อยู่อาศัย จักรยาน หรือเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น ตัวอย่างของธุรกิจยอดฮิตในแบบ sharing economy ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ Airbnb และ Uber โดย Airbnb เป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมบริการที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2008 และให้บริการที่พักในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ห้องพักเดี่ยวสำหรับ 1 คืน ที่พักในปราสาทสำหรับ 1 สัปดาห์ หรือที่พักในวิลล่าสำหรับ 1 เดือน ปัจจุบันมีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมถึง 34,000 เมือง ใน 191 ประเทศ

 

นอกจากนี้ Uber ธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาในปีเดียวกัน ก็นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนส่งและคมนาคม โดยปัจจุบันให้บริการใน 494 เมืองทั่วโลก รวมถึงในประเทศสังคมนิยมอย่างจีน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ Didi Chuxing ธุรกิจรถร่วมโดยสารสัญชาติจีนได้ควบรวมกิจการโดยเข้าซื้อธุรกิจ Uber ในจีนเป็นที่เรียบร้อย ด้วยวงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากตัวอย่างข้างต้นสะท้อนได้ว่า sharing economy ได้กลายเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลก โดยความสำเร็จและอิทธิพลของธุรกิจดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงการบริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป จากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการประเมินสินค้าและการบริการรวมถึงความคุ้มค่าในเรื่องของเวลาซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ จากการซื้อสินค้าและบริการนั้นๆ

 

Sharing economy มีข้อดีอะไรบ้าง

 

ข้อดีที่สำคัญของแนวคิดนี้คือ 1) ลดค่าใช้จ่ายแทนการซื้อสินทรัพย์ หรือการเช่าสินทรัพย์จากผู้ให้เช่าในรูปแบบเดิม และ 2) ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการคำนึงถึงความคุ้มค่า และการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่จะต้องตัดสินใจซื้อสินค้าที่สามารถแบ่งปันกันได้หรือสินค้าที่มีราคาสูง โดยงานวิจัยของ Ernst & Young ในปี 2015 ประเมินมูลค่าของสินค้าที่สามารถแบ่งปันได้ เช่น ยานพาหนะ อุปกรณ์เจาะ เครื่องตัดหญ้า คิดเป็น 20 -30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือน และจากผลสำรวจของ Harvard Business Review ได้พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะยอมแบ่งปันทรัพยากรถ้าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 25% ของราคาสินทรัพย์นั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยมักจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

 

นอกจากนี้ ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ นอกจากเป็นการช่วยประหยัดเงินแล้ว ยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคสามารถนำรายได้คงเหลือมาลงทุนเพื่อต่อยอดได้มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำไปบริโภคสินค้าประเภทอื่นๆ ได้อีก ซึ่งในขณะที่รายได้มีเท่าเดิม แต่คุณภาพชีวิตกลับดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น และสามารถบริหารการใช้จ่ายได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น ตลอดจนยังสามารถสร้างรายได้ให้กับบุคคลที่มีทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้งานเป็นประจำโดยการเข้าร่วมโมเดลธุรกิจดังกล่าวอีกด้วย

 

Sharing economy มีข้อเสียอะไรบ้าง

 

ข้อเสียประการแรกของแนวคิดนี้คือก่อให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคแบบชั่วคราว โดยผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เน้นความสะดวกและราคา มากกว่าคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและกลุ่มธุรกิจ เพราะส่วนใหญ่จะใช้บริการสินค้าหรือบริการนั้นๆ เพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อมาตรฐานและตลาดแรงงาน โดยเฉพาะงานบางประเภทที่ผู้ให้บริการไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อน และเข้ามาดำเนินการเพื่อเป็นอาชีพเสริม รวมถึงอาจมีกลุ่มคนทำงานบางส่วนเปลี่ยนมาหารายได้จากการปล่อยเช่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากขึ้นแทนการทำงานประจำ ซึ่งจะทำให้ลดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะการทำงานเฉพาะ ซึ่งนั่นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่สอดคล้องของการศึกษาต่อตลาดแรงงาน (labor market mismatch)

 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเพิ่มความท้าทายให้กับธุรกิจแบบเดิมโดยเฉพาะในตลาดที่โตเต็มที่ โดยหน่วยวิจัย Oxford Martin School ได้ประเมินผลกระทบของ sharing economy ว่าคิดเป็น 0.25% ของ GDP ถึงแม้สัดส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะยังไม่สูงมากนัก หากแต่สามารถส่งผลกระทบอย่างสูงกับบางอุตสาหกรรม เช่น ในช่วงเวลาตั้งแต่สิ้นปี 2015 การแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการมีทิศทางที่ดุเดือดขึ้น เมื่อธุรกิจ Airbnb ได้ให้บริการห้องพักจำนวนหลายล้านห้อง ซึ่งมากกว่าห้องพักที่โรงแรมในเครือ InterContinental และ Hilton ทั่วโลก ซึ่งเปิดให้บริการในช่วงเวลาเดียวกัน หรือบริการของธุรกิจ Uber และธุรกิจรถร่วมโดยสารที่ทำให้จำนวนรถแท็กซี่ใหม่ในสหราชอาณาจักรลดลงถึง 97% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2016

ทั้งนี้ การประเมินต้นทุนเพื่อตีมูลค่ากิจกรรมเชิงเศรษฐกิจของ sharing economy ทำได้ยาก แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมจากกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมมาเป็นระบบ sharing economy จึงมีผลทำให้การคำนวณตัวชี้วัดต่างๆ เช่น GDP ทำได้ยากขึ้นและอาจไม่สามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง โดยผลการสำรวจของนักวิจัยจาก Boston Fed ในเดือนธันวาคม 2013 พบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่ผู้ใช้บริการชำระให้กับผู้ให้บริการอย่าง Uber และ Airbnb ไม่ได้นำมานับรวมในการคำนวณ GDP  ดังนั้น ทำให้รายได้รวมจากการทำงานนอกระบบเพิ่มขึ้น หรือคิดเป็น 4.4% ของรายได้จากการทำงานในระบบ

 

การพัฒนาล่าสุดในด้านกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ทั่วโลก

 

ด้วยเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจำนวนของผู้มีส่วนได้เสียในตลาดที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ในหลายๆ ประเทศตั้งกฎระเบียบต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ sharing economy ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตโครงสร้างของกฎหมายและกฎระเบียบถูกสร้างขึ้นภายใต้ความคิดของการครอบครองสินทรัพย์ ดังนั้น กฎหมายและกฎระเบียบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจึงมีความล้าสมัย โดยจะเห็นได้จากการที่ผู้ให้บริการธุรกิจประเภทนี้มักจะเป็นผู้ตั้งกฎเกณฑ์ให้กับตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ดี รัฐบาลในประเทศต่างๆ ได้ริเริ่มการกำหนดกฎระเบียบสำหรับกำกับดูแล sharing economy เช่น ในเดือนมิถุนายน 2016 นายกเทศมนตรีจากนิวยอร์ก ปารีส และเมืองอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง ได้ตกลงร่วมกันเพื่อร่างข้อกำหนดและจัดตั้งกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับแอพพลิเคชั่นสำหรับการเช่าบ้านและการว่าจ้างรถยนต์

นอกจากนี้ หน่วยงานที่กำกับดูแลยังชี้ให้เห็นอีกว่าผู้ให้บริการบางส่วนอาจจะไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ หรือเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการบริหารที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินธุรกิจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการกลุ่มนี้มีความได้เปรียบและสามารถกำหนดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าผู้ประกอบการอื่นได้ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่กำกับดูแลจากทั่วโลกจึงตั้งใจที่จะแก้ปัญหาในประเด็นด้านภาษี ยกตัวอย่าง ในปี 2015 รัฐบาลฝรั่งเศสได้บังคับให้ Airbnb เริ่มคิดภาษีท่องเที่ยวกับห้องพักในปารีส ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท และต่อมาได้ขยายขอบเขตการใช้มาตรการเดียวกันนี้ในอีก 18 เมืองทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2016 เป็นต้นมา ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจากทั่วโลกจะมีการกำหนดกรอบและกฎเกณฑ์สำหรับใช้ควบคุมระบบ sharing economy ที่ชัดเจนขึ้น เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ แต่ยังคงคำนึงถึงมุมมองของผู้เล่นทั้งหมดในตลาด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้รับจ้างอิสระ รัฐบาล ผู้ดำเนินธุรกิจ เป็นต้น

 

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ลงมือทำอะไรไปบ้างแล้ว
 
แอพพลิเคชั่นเรียกบริการแท็กซี่ เช่น Grab และ Uber ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งการให้บริการห้องพักผ่าน Airbnb ที่เพิ่มมากขึ้น โดยในเดือนกันยายน มีที่พักให้เช่าในกรุงเทพฯ ประมาณ 8,900 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 4,600 แห่งในปลายปี 2015 ซึ่งใน 7 เดือนแรกของปี 2016 ครึ่งหนึ่งของที่พักเหล่านี้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยมากกว่า 60% ต่อเดือน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาร่วมกับแผนการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมยุค 4G และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารแบบไร้พรมแดน sharing economy จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ในต่างประเทศได้เริ่มมีการวางกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อรองรับ sharing economy แล้ว แต่รัฐบาลไทยในปัจจุบันยังไม่ได้กำหนดให้มีการใช้หรือปรับแก้กฎหมายใดๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ยังคงใช้กฎหมายเดิมเพื่อกำหนดตลาด เช่น ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้สั่งหยุดการให้บริการของ GrabBike และ UberMoto เนื่องจากการบริการของธุรกิจดังกล่าวขัดกับกฎระเบียบของการขนส่งสาธารณะ ซึ่งช่องโหว่ในนโยบายที่เกี่ยวกับ sharing economy ดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจไทยขาดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ จากการต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจากข้อบังคับของกรอบกฎหมายที่ล้าสมัย อย่างไรก็ดี สมาคมต่างๆ ในไทยไม่ได้ละเลยประเด็นดังกล่าว โดยมีความพยายามคิดค้นนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทยได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น Go Bike ซึ่งพัฒนาในไทย เพื่อแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่กระทบต่อแอพพลิเคชั่นเรียกบริการแท็กซี่ในลักษณะเดียวกัน เช่น Grab และ Uber จากประเด็นข้างต้น อีไอซีจึงเห็นว่าแนวโน้มของ sharing economy มีความชัดเจน โดยจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต ดังนั้น การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความครอบคลุมและสอดคล้องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างยิ่งในระยะต่อไป

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ