Cashless Society: เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ
ผู้เขียน: นนทกร เทิดทูลทวีเดช
เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2016
The e-payment scheme is designed to transform Thailand from a cash-based society to a cashless one. It will also help the government to stem tax avoidance and provide direct subsidies to low earners and elderly people. ที่มา: Bangkok Post (29 June 2016)
|
Cashless society คืออะไร
Cashless society หรือ cashless economy เป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่ปราศจากเงินสด หรือสังคมเศรษฐกิจที่ไม่นิยมถือเงินสด ที่มีการพูดถึงกันเป็นครั้งแรกในวงการธนาคารพาณิชย์ช่วงยุค 1950s ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่มองว่า ความสำคัญของเงินสดในอนาคตจะลดน้อยลง และจะถูกแทนที่โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน ต่อมาในช่วงต้นยุค 1960s เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาการวางเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับธนาคาร John Diebold ได้เอ่ยเตือนถึงการประมวลผลที่เกินพิกัดของภาระด้านเอกสารธุรกรรมทางการเงินในขณะนั้นจากธุรกรรมเงินสดและเช็คเงินสดที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเป็นเหตุให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่จำเป็น Diebold จึงได้กล่าวสนับสนุนการก่อกำเนิดระบบการเงินใหม่ที่ไร้เงินสดมาแทนที่ระบบ ณ ขณะนั้น
ต่อเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้ว่าหลายๆ ประเทศรวมถึงไทยจะมีการเริ่มเปลี่ยนแปลงจากสังคมเงินสด ไปสู่การใช้ ระบบบัตรเครดิตและเดบิต หรือการบริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ในการใช้จ่ายชำระค่าบริการในชีวิตประจำวัน แต่ระบบการเงินของธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกในปัจจุบันก็ยังคงเป็นสังคมเงินสดและไม่มีความแตกต่างมากนักกับระบบที่ Diebold ได้กล่าวเตือนไว้เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าแนวคิด cashless society นี้จะมีเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เพียบพร้อมรองรับ และได้รับการสนับสนุนพอควรในอดีตที่ผ่านมา เฉกเช่นจากสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ George Mitchell ในปี 1966 แต่ทว่ามันยังคงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้คนทั่วไปยอมรับตัวเลขในหน้าจอ แทนเงินสดที่ถืออยู่ในมือ ด้วยเหตุผลนี้ ถึงแม้หลายๆ คนจะมองเงินสดว่าล้าสมัย แต่ความสำคัญของมันในชีวิตประจำวันจะยังคงมีอยู่ต่อไป
Cashless society มีข้อดีอย่างไรบ้าง
ข้อดีที่สำคัญของแนวคิดนี้คือ การลดการใช้เงินสดและการเพิ่มการใช้ e-payment จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้น ผลของการศึกษาผลกระทบของ e-payment ในปี 2013 โดย Moody’s Analytics และ Visa บ่งชี้ว่า หากไม่มีการใช้งานบัตรเครดิตและเดบิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะหลัง เศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วอย่างที่เป็นจากวิกฤติสินเชื่อซับไพร์มเมื่อปี 2007 และ 2008 เนื่องจากการใช้บัตรต่างๆ นั้นส่งเสริมการใช้จ่ายและเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจต่างๆ ทำให้ GDP ของ 56 ประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 9.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระหว่างปี 2008 และ 2012 หรือเทียบเท่ากับการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านคน โดยระบบ e-payment นั้นช่วยให้ GDP ในประเทศกำลังพัฒนาโต 0.8% และ GDP ในประเทศพัฒนาแล้วโต 0.3% ซึ่งในกรณีของไทยนั้นอานิสงส์จากการใช้งาน e-payment ที่เพิ่มขึ้นทำให้ GDP เติบต่อกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า e-payment นั้นส่งเสริมปริมาณการใช้จ่ายและการบริโภค ผลการวิจัยยังได้บ่งชี้ว่า หากการใช้บัตรเครดิตและเดบิตเพิ่มขึ้นทั่วโลก 1% ปริมาณการบริโภคทั่วโลกในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 0.056% โดยเฉลี่ยต่อปี หากเงื่อนไขทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ซึ่งในกรณีของสหรัฐฯ นั้นระหว่างปี 2008 และ 2012 ปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้น 0.3% และทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น 127 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในไทยปริมาณการบริโภคก็เพิ่มขึ้นประมาณ 0.3% เช่นเดียวกัน ตัวเลขเหล่านี้ดูเล็กไปในทันทีเมื่อมองไปที่ตัวเลขการเติบโตของปริมาณการบริโภคของจีนซึ่งอยู่ที่ 4.89% สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นอันน่าตกใจของการใช้บัตรเครดิตและเดบิตเพื่อใช้จ่ายในประเทศจาก 31% ในปี 2008 เป็น 56% ในปี 2012 เท่ากับการเติบโตของ GDP ราว 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.7% เลยทีเดียว
นอกเหนือไปจากนี้ e-payment ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจในการแข่งขันระหว่างประเทศจากการลดต้นทุนที่มาจากธุรกรรมเงินสด และการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของรัฐบาล โดยการจัดการบริหารเงินสดนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่ เช่น ความเสี่ยงต่อการสูญหาย การขนส่ง การผลิต และการจัดเก็บรักษา ในปี 2006 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการคาดคะเนว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดการเงินสดนั้นอยู่ที่ 4% ถึง 9% ของทุกๆ มูลค่าการซื้อขาย ซึ่งตามการประมาณการของสมาคมธนาคารไทย e-payment มีความสามารถในการกำจัดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ได้กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากระบบดังกล่าวสามารถลดการผลิตธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ จำกัดความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินสด และลดภาระด้านเอกสารในการทำธุรกรรมทางการเงิน
ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังสามารถเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องครบถ้วนมากขึ้น เพราะว่า e-payment ทำให้ธุรกรรมการเงินทุกอย่างสามารถตรวจสอบบัญชีย้อนหลังได้ต่างจากเงินสด ผลการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด Kenneth Rogoff ออกมาว่า การใช้สกุลเงินสดในประเทศส่วนใหญ่นั้นมากกว่า 50% ทำเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและจัดเก็บภาษีของรัฐบาลในธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจผิดกฎหมายใต้ดิน การคอรัปชั่น และการซื้อขายในตลาดมืด ซึ่งในสหรัฐฯ ธุรกิจใต้ดินนั้นมีมูลค่าราว 10% ของ GDP และตามการประมาณการของ Harvard Business Review มูลค่าของภาษีที่มีการหลีกเลี่ยงจากการใช้เงินสดในประเทศกำลังพัฒนานั้น สามารถสูงได้ถึง 30% ถึง 44% ของ GDP เลยทีเดียว
Cashless society มีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ข้อเสียประการแรกของแนวคิดนี้คือ การสูญเสียความเป็นส่วนตัวในธุรกรรมทางการเงิน อันเนื่องมาจากความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของธนาคาร ผู้ประกอบการ และรัฐบาล ผู้คนบางส่วนได้ให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวและตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินได้จะทำให้ประชาชนสูญเสียเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การควบคุมอย่างเต็มรูปแบบของระบบการเงินการธนาคารโดยรัฐบาลในอนาคตก็เป็นได้ รวมถึงความเคลือบแคลงใจในระบบรักษาความปลอดภัยของระบบการเงินออนไลน์ต่างๆ เนื่องจากการนำข้อมูลการเงินทุกอย่างเข้าไปอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะทำให้การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวทำได้ง่ายขึ้น
ข้อเสียที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ cashless society จะทำให้การบริโภคสินค้าและบริการฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น เพราะว่าความสะดวกสบายจะเป็นสิ่งล่อลวงใจให้ผู้คนมีการใช้สอยจับจ่ายมากขึ้น หากไม่ได้ถือเงินสดอยู่ก็สามารถใช้แอพพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือในการใช้จ่ายได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินสดเพียงพออีกต่อไป ดังนั้น ความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของระบบ และแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเกินตัวจึงยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้แนวคิดนี้โดนต่อต้าน
ปฏิกิริยาตอบรับของผู้คนต่อ cashless society ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นานาประเทศได้มีการออกนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่ cashless society หนึ่งในประเทศผู้นำด้านนี้คือ สวีเดน กล่าวคือ มากกว่า 50% ของสาขาธนาคารพาณิชย์ในประเทศไม่รับเช็คเงินสด และไม่มีเงินสดสำรองไว้ ทั้งนี้ 80% ของการชำระเงินในปี 2015 ทำผ่าน e-payment ขณะที่ตัวเลขโดยเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่เพียงแค่ 25% ผู้ประกอบการหลายภาคส่วนไม่รับการชำระเงินเป็นธนบัตรและเหรียญ เช่น สถานีรถไฟใต้ดิน และพิพิธภัณฑ์ Abba ในกรุงสตอกโฮล์ม โดยการตอบรับจากประชาชนทั่วไปนั้นส่วนใหญ่เป็นเชิงบวก ซึ่งจากการสอบถามของหนังสือพิมพ์ The New York Times การใช้ e-payment นั้นแพร่หลายเป็นอย่างมากจนนักศึกษาชาวสวีเดนที่มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก Hannah Ek ได้กล่าวว่า ณ ปัจจุบันนี้ ไม่มีใครใช้เงินสดอีกต่อไปแล้ว แม้ว่าจะไม่พกเงินสดติดตัวไว้เธอก็ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ติดขัด หนังสือพิมพ์ The Guardian ได้รายงานเพิ่มเติมว่าผู้ช่วยสอนในมหาวิทยาลัย Louise Henrikson กล่าวว่า เธอไม่จำเป็นต้องถือเงินสดติดตัวไว้ เนื่องจากไม่มีร้านค้าไหน หรือแม้แต่ธนาคารรับมันอีกต่อไป ทุกๆ ธุรกรรมสามารถใช้บัตรเครดิตและโทรศัพท์มือถือทำแทนได้ รวมถึงการตอบรับจากภาคธุรกิจก็เป็นบวกเช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้รายงานว่า หลังจากที่เจ้าของร้านขายนิตยสาร Stefan Wikberg เริ่มติดตั้งเครื่องรับชำระผ่านบัตร ยอดขายของธุรกิจเขาได้เพิ่มขึ้นถึง 30% เนื่องจากเครื่องรับบัตรเป็นการเพิ่มช่องทางการบริโภคให้คนหนุ่มสาวยุคใหม่ของสวีเดนที่ไม่นิยมถือเงินสดนั่นเอง
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ลงมือทำอะไรมาแล้วบ้าง
ในขณะที่หลายๆ ประเทศกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค cashless society ทางรัฐบาลและกระทรวงการคลังได้มีการมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผลักดันแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เพื่อที่จะปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของระบบธนาคารในประเทศ และพร้อมยกระดับผลักดันประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลไร้เงินสดดังที่หลายๆประเทศชั้นนำทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ และจีน กำลังทำ โดยล่าสุดเปิดตัวบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ “พร้อมเพย์ – PromtPay” หรือ “Any ID” เดิมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากเปิดรับลงทะเบียนเข้าสู่ระบบข้อมูลกลางสำหรับทุกธนาคารในเดือนกรกฎาคมแล้ว ระบบจะพร้อมใช้งานได้ในเดือนตุลาคมนี้ทันที ซึ่ง “พร้อมเพย์” นี้ทำให้ค่าธรรมเนียมการโอนมีราคาถูกลง พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้สามารถใช้เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ในการทำธุรกรรมได้
อนึ่ง โครงการนี้เป็นเพียงขั้นแรกของแผนแม่บท National e-Payment จากทั้งหมด 5 โครงการ โดยโครงการต่อๆ มาจะเป็นการขยายเครื่องรับชำระบัตร การพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ การจ่ายเบี้ยช่วยเหลือจากภาครัฐผ่าน e-payment และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนด้านความปลอดภัยของระบบ ทั้งนี้ อีไอซีคาดหวังว่า หากโครงการทั้งหมดทำสำเร็จครบถ้วนตามที่วางไว้ แผนกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบการชำระเงินนี้จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตต่อไป