SHARE
SCB EIC ARTICLE
22 มิถุนายน 2016

วางแผนรถไฟ...ต้องมองไกลถึงซ่อมบำรุง

ปัจจุบันภาครัฐมีแผนการลงทุนระยะยาวในโครงการรถไฟฟ้ากว่า 10 โครงการ เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มูลค่าการลงทุนทั้งหมดกว่า 5.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าเม็ดเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาทหรือ 15% จะถูกนำไปใช้ในการนำเข้าขบวนรถไฟฟ้าจากต่างประเทศกว่า 1,000 คัน และส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในการก่อสร้างและจัดเตรียมอุปกรณ์ระบบรถไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ผู้เขียน: ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 22 มิถุนายน 2016

 

ThinkstockPhotos-497473255-s.jpg
 

ปัจจุบันภาครัฐมีแผนการลงทุนระยะยาวในโครงการรถไฟฟ้ากว่า 10 โครงการ เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มูลค่าการลงทุนทั้งหมดกว่า 5.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าเม็ดเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาทหรือ 15% จะถูกนำไปใช้ในการนำเข้าขบวนรถไฟฟ้าจากต่างประเทศกว่า 1,000 คัน และส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในการก่อสร้างและจัดเตรียมอุปกรณ์ระบบรถไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

 

จุดสนใจของการลงทุนโครงการรถไฟฟ้ามักจะอยู่ในระยะเริ่มต้นโครงการ แต่การบำรุงรักษาขบวนรถไฟฟ้า ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันกลับได้รับความสนใจที่น้อยกว่า เมื่อกล่าวถึงการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าในเมืองแล้ว คนทั่วไปมักจะนึกถึงมูลค่าการลงทุน แนวเส้นทางที่รถไฟพาดผ่าน และมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้น แต่น้อยคนนักที่จะมองถึงการบำรุงรักษาขบวนรถไฟฟ้าในระยะยาว ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น การซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นส่วนในรถไฟฟ้ามีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะการดำเนินงานดังกล่าวมีมูลค่าต่อปีประมาณ 3% - 5% ของมูลค่าขบวนรถ และยิ่งเมื่อคูณอายุการดำเนินงานประมาณ 30 ปีเข้าไปแล้ว มูลค่านั้นจะมีความใกล้เคียงกับขบวนรถไฟฟ้าชุดใหม่เลยทีเดียว

 

แน่นอนว่าการส่งเสริมการประกอบรถไฟฟ้าและผลิตชิ้นส่วนตั้งแต่เริ่มพิจารณาโครงการนั้นย่อมส่งผลถึงการบำรุงรักษาและการเปลี่ยนอะไหล่ในระยะยาว การส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าและระบบต่างๆ ภายในประเทศ อาจเป็นหนทางที่ชัดเจนที่สุดในการแก้ไขปัญหาแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะการผลิตชิ้นส่วนได้เองภายในประเทศย่อมหมายถึงการสร้างโอกาสในการเติบโตทางด้านวิศวกรรมและธุรกิจชิ้นส่วน ตลอดจนเป็นการพัฒนาบุคลากรและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการลดเงินลงทุนที่ต้องสูญเสียไปกับการซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วน อีกทั้ง ความล่าช้าในการจัดส่งอะไหล่หรืออุปกรณ์ที่จะนำมาสับเปลี่ยนในอนาคตอีกด้วย

 

นอกจากปริมาณความต้องการรถไฟฟ้าแล้ว การกำหนดเงื่อนไขในการจัดหารถไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการประกอบและผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าภายในประเทศ โดยทั่วไปแล้ว กำลังการผลิตอย่างต่ำที่เหมาะสมในการตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 300 คัน ขณะที่ความต้องการขบวนรถไฟฟ้าของไทยนั้นสูงกว่าพันคัน ดังนั้น ปริมาณความต้องการรถไฟฟ้าจึงไม่ใช่ประเด็นหลักในการจัดตั้งโรงงานดังกล่าว ถึงแม้ว่า ยังมีบางส่วนที่ต้องนำเข้าอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลัก 3 ประการที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการอนุมัติก่อสร้างโครงการเพื่อกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนภายในรถไฟฟ้าประเทศนั้น ได้แก่ การกำหนดสัดส่วนชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศต่อชิ้นส่วนที่นำเข้า (local content) การกำหนดชิ้นส่วนที่ควรผลิตในประเทศ และเงื่อนไขในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างชาติสู่ผู้ประกอบการไทย  และสำคัญ ต้องมีการติดตามว่าเงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปตามที่ภาครัฐได้กำหนดในระยะดำเนินการไว้หรือไม่อีกด้วย  

 

เมื่อหันไปมองดูเพื่อนบ้านของเราจะพบว่า มาเลเซียได้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าภายในประเทศก่อนหน้าเราไปเรียบร้อยแล้ว โดยได้ China Railway Rolling Stock Corp (CRRC) ผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนเป็นพันธมิตรในการลงทุนและบริหารงานโดย CRRC (Malaysia) Railway Vehicles Company ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 โดยมีกำลังผลิตรถไฟฟ้า 100 คันต่อปี และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า 150 คันต่อปี อีกทั้ง มีแนวโน้มที่จะส่งออกรถไฟฟ้าและชิ้นส่วนต่างๆ ในอนาคตอีกด้วย  ทั้งนี้  งบประมาณในการลงทุนในส่วนของโรงงานและอุปกรณ์ต่างๆ มีมูลค่าประมาณ 4.5 พันล้านบาท และคาดว่าจะสร้างรายได้ในอนาคตอีกกว่าปีละ 3 พันล้านบาท รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศอีกกว่า 800 ตำแหน่ง การลงทุนดังกล่าวถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของมาเลเซียสู่การผลิตรถไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าสูง ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

 

เมื่อย้อนกลับมามองที่ประเทศเราจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพต่อยอดสู่การผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้านั้นมีอยู่มากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น ส่วนประกอบหลัก เช่น ชิ้นส่วนโลหะและอุปกรณ์ ที่บริษัทยานยนต์สามารถต่อยอดได้ โดยกระบวนการผลิตที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงชิ้นส่วนที่หล่อจากพลาสติกที่เป็นผลผลิตจากปิโตรเคมีในส่วนต่างๆ เช่น ส่วนประกอบตู้โดยสาร ที่นั่ง พื้นกันลื่นในตู้โดยสาร เป็นต้น ส่วนประกอบเสริม เช่น ส่วนประกอบที่ทำจากยางพารา ได้แก่ ยางขอบกระจก ยางในลดการสั่นสะเทือน ยางมือจับในขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะส่งเสริมการใช้ยางดิบในประเทศให้เพิ่มขึ้น  รวมถึง ส่วนประกอบที่ทำจากแก้วและกระจก กระจกของรถไฟฟ้าทั้งด้านหน้าและด้านข้าง ทั้งนี้ รวมถึงส่วนประกอบเสริมในระบบอื่นๆ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ระบบจ่ายไฟฟ้า อย่าง สายไฟ หม้อแปลง และระบบปรับอากาศภายในตัวรถ ทั้งนี้ ประเมินว่า ถ้าหากสามารถยกระดับกลุ่มส่วนประกอบทั้งสามกลุ่มนี้ได้ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการผลิตชิ้นส่วนเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมดได้กว่า 3.5 พันล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ นอกจากการส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าภายในประเทศแล้วภาครัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนที่เกี่ยวเนื่องด้วย ปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ที่ภาครัฐและเอกชนไม่ควรมองข้าม เพื่อให้การลงทุนจากโครงการรถไฟฟ้าเหล่านี้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ การยึดถือในกระบวนการและมาตรฐานในการผลิต การทดสอบชิ้นส่วนรถไฟฟ้าก่อนที่จะส่งไปติดตั้งหรือเปลี่ยนต่อไป โดยศูนย์ทดสอบชิ้นส่วนและขบวนรถถือเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอย่างมาก ทั้งนี้ รวมถึงมาตรฐานการทดสอบที่นอกจากจะต้องกำหนดให้เหมาะสมตามหลักวิศวกรรมแล้ว ยังต้องสามารถอ้างอิงได้กับผู้ผลิตทุกค่ายอีกด้วย ตลอดจน การจัดตั้งสถาบันการศึกษา/หลักสูตรที่เน้นด้านวิศวกรรมและการผลิตส่วนประกอบการขนส่งทางรางเพื่อพัฒนาบุคลากรเตรียมพร้อมสู่การขยายตัวของระบบขนส่งทางรางในอนาคต  

 

จะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าเป็นรูปแบบการขนส่งทางรางที่มีการใช้เงินทุนสูงทั้งในการก่อสร้างและการบำรุงรักษา อีกทั้ง ยังใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมหลายแขนงที่มีความซับซ้อน ส่งผลให้เม็ดเงินจำนวนมากตกไปอยู่กับผู้ผลิตต่างชาติ อย่างไรก็ตาม หากอนาคตเราสามารถผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ภายในประเทศได้เอง นอกจากจะเป็นการลดการนำเข้าแล้ว ยังเป็นการสร้างธุรกิจอื่นๆ ให้ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ