แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3
The Financial Sector Master Plan Phase III
ผู้เขียน: ณฐกร วิสุทธิโก
เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤษภาคม 2016
“วันนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 (แผนพัฒนาฯ ระยะที่ 3) ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันเสนอ โดยแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 3 (2559-2563) จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดและทิศทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินสำหรับเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต”
|
ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 หน่วยงานของรัฐภายในประเทศได้มีความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันการเงินขึ้นเพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นับเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมดังกล่าว
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินคืออะไร
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Sector Master Plan) คือ แผนซึ่งจัดทำโดยผู้แทนจากรัฐบาล หน่วยงานกำกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และผู้แทนจากภาคการเงิน ผู้แทนจากลูกค้าและประชาชน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ แผนพัฒนาดังกล่าวจัดทำครั้งแรกในปี 2545 เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย โดยได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ 1) การให้บริการอย่างทั่วถึงทั้งด้านคุณภาพและปริมาณสำหรับผู้ใช้บริการที่มีศักยภาพ โดยไม่มีความแตกต่างระหว่างในเมืองและนอกเมือง 2) ระบบสถาบันการเงินต้องมีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ สามารถแข่งขันได้ และมีองค์ประกอบของระบบการเงินที่สมดุล ทั้งในส่วนของสถาบันการเงิน ตลาดตราสารหนี้ และตราสารทุน และ 3) ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองและความเป็นธรรม
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง
นับตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ระบบสถาบันการเงินไทยได้มีการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนา 3 ฉบับด้วยกัน โดยแผนแต่ละฉบับมีจุดมุ่งหมายและผลสัมฤทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยตารางสรุปดังนี้
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
สำหรับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ซึ่งเป็นแผนในระยะปัจจุบัน มีการมุ่งเน้นพัฒนาภายใต้แนวคิด “แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง ยั่งยืน” โดยมีกรอบนโยบายหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ (digitalization and efficiency) 2) สนับสนุนการเชื่อมต่อการลงทุนในภูมิภาค (regionalization) 3) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (access) และ 4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (enablers)
สิ่งที่คาดว่าจะเกิดกับผู้ใช้บริการในระยะ 5 ปีข้างหน้าคืออะไร
อีไอซีวิเคราะห์ว่าโครงสร้างของแผนดังกล่าวถูกกำหนดขึ้น ตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี (digitalization) การเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค(connectivity) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอายุของประชากร (aging demographic) และการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั้งนี้ ผลของแผนพัฒนาจึงเกิดขึ้นในวงกว้างในหลายมิติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สำหรับผลทางตรงสำหรับผู้ใช้บริการ การที่ธนาคารนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ นับเป็นการช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ในราคาที่ถูกลงหรือมีคุณภาพสูงขึ้น รวมถึง การส่งเสริมให้มีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะสร้างความรวดเร็วและความสะดวกสบายมากขึ้น
ในด้านการเชื่อมต่อการค้าการลงทุนในภูมิภาค จากการสนับสนุนการเปิดเสรีทางภาคธนาคารในอาเซียน (Qualified ASEAN Banks) ทำให้ตลาดของกลุ่มธนาคารมีการแข่งขันที่มากขึ้น จากการมีผู้เล่นรายใหม่และการมีสินค้าและบริการที่หลากหลาย อีกทั้ง ยังช่วยสร้างความสะดวกสะสบายที่มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของผู้ประกอบการที่ขยายกิจการไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนช่วยให้การค้าระหว่างประเทศเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินที่ลดลงจากการสนับสนุนให้ใช้เงินตราสกุลท้องถิ่นในการชำระสินค้าและบริการมากขึ้น
นอกจากนี้ การคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอายุของประชากรทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับการออมเพื่อรองรับวัยเกษียณเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งเสริมธุรกิจ SME จะช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น การพัฒนาในด้านนี้รวมถึงการเพิ่มบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ เช่น FinTech ซึ่งนับเป็นทางเลือกใหม่ของการระดมทุน อีกทั้ง การส่งเสริมการให้บริการทางการเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา จากทุกอุปกรณ์ (banking anywhere, anytime, any devices) สำหรับผลกระทบทางอ้อม แผนพัฒนาดังกล่าวดังกล่าวเป็นกลไกให้ระบบสถาบันการเงินมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น มีการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น ทำให้ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง อีกทั้ง ลดต้นทุนในการดำเนินงาน จนส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ความเสี่ยงใดบ้างที่อาจเกิดขึ้น
อีไอซีมีความเห็นว่าแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะ 3 ซึ่งเป็นแผนที่เน้นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการภายในและระหว่างธนาคารพาณิชย์ รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ทำให้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ การรักษาความปลอดภัยของระบบและการเก็บรักษารหัสระบุตัวตนซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ง่าย นอกจากนี้ ยังรวมถึงความเสี่ยงจากการเปิดเสรีทางภาคธนาคารในอาเซียน (Qualified ASEAN Banks) โดยการที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศมาประกอบการในไทยและธนาคารไทยไปประกอบการในต่างประเทศ นอกจากจะหมายถึงโอกาสในการแสวงหากำไรในตลาดใหม่ๆ แล้ว ยังหมายถึงการเปิดรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของระบบสถาบันการเงิน ทำให้ความเปราะบางหรือความอ่อนแอของเศรษฐกิจหนึ่งถูกส่งผ่านมายังอีกเศรษฐกิจหนึ่งได้ง่ายขึ้น ทำให้ความเชื่อมโยงของแต่ละระบบเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น เป็นเหตุให้ต้องกำกับป้องกันเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ตลอดจนระงับสภาวการณ์ดังกล่าวได้ ทั้งเพื่อรักษาระดับความเสี่ยงที่ประชาชนไทยต้องแบกรับและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ความคืบหน้าของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 เป็นอย่างไร
ในด้านนโยบายของภาครัฐ เราเริ่มเห็นความคืบหน้าของแผนงานที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 บ้างแล้ว เช่น ในส่วนของระบบชำระเงิน กับการอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ e-Payment โดยครอบคลุมถึงระบบการชำระเงินแบบ Any-ID ซึ่งสามารถใช้ ID 5 ประเภท ในการรับหรือโอนเงิน ได้แก่ เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ e-Wallet ID และ e-Mail Address โดยมีการวางแผนว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ในส่วนของภาคธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการตามแผนพัฒนานี้แล้วเช่นกัน ทั้งการเริ่มเจรจาเปิดเสรีทางภาคธนาคารในอาเซียนกับมาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้ว รวมถึงจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่นกับธนาคารกลางมาเลเซีย เพื่อช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเงินริงกิตได้สะดวกขึ้น โดยบริการในส่วนนี้ครอบคลุมถึง การรับฝากเงิน การทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อค้า และ การให้บริการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ