กางแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment รับยุคดิจิทัล
เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2016
National e-Payment เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการชำระเงินของประเทศให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร ซึ่งจะใช้รองรับการโอนเงิน รับจ่ายเงินระหว่างประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้ง บูรณาการระบบภาษี (e-Tax system) และศูนย์จ่ายเงินสวัสดิการของภาครัฐบูรณาการกระบวนการต่างๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบและดำเนินการได้โดยง่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment แบ่งออกเป็น 5 โครงการ ได้แก่
1. โครงการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบ Any ID: สามารถใช้ ID 5 ประเภทในการรับหรือโอนเงินได้ ได้แก่ เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ e-Wallet ID และ e-Mail address
2. โครงการขยายการใช้บัตร: โดยส่งเสริมการใช้บัตรเดบิตแทนเงินสด ขยายจุดรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ทั่วถึง
3. โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์: เพื่อจัดเก็บข้อมูลภาษีและข้อมูลชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ช่วยขยายฐานภาษีได้ครบถ้วนขึ้น
4. โครงการ e-Payment ภาครัฐ: เป็นช่องทางการจ่ายสวัสดิการภาครัฐแก่ประชาชนโดยใช้เลขที่บัตรประชาชน และใช้จัดเก็บฐานข้อมูลทะเบียนประชาชนให้ครบถ้วนขึ้น
5. โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์: โดยให้ทุกหน่วยงานร่วมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมการใช้ e-Payment อีกทั้ง ภาครัฐก็จะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้ e-Payment แทนเงินสดและเช็คด้วย
โดยแผนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ ดังนี้
1. ภาคประชาชน: การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนการใช้เงินสดผ่านจุดรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมากขึ้นจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกรวดเร็ว สามารถทำการโอนเงินและรับชำระเงินได้โดยง่าย เพียงใช้เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลข e-Wallet นอกเหนือจากการใช้เลขที่บัญชีธนาคารอย่างในปัจจุบัน และในส่วนของสวัสดิการจากทางภาครัฐนั้น ก็จะมีช่องทางการขึ้นทะเบียนที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อในการรับเงินช่วยเหลือ และนำไปใช้จ่ายกับร้านค้าและบริการต่างๆ ตามที่รัฐบาลจะกำหนดต่อไป (เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบการรักษาพยาบาล เป็นต้น)
2. ภาคธุรกิจ: โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถโอนเงินและรับชำระเงินในการซื้อขายสินค้าได้หลากหลายรูปแบบขึ้น ด้วยระบบ e-Payment ก็อาจเข้ามาทดแทนวิธีการชำระเงินแบบเดิมๆ ที่ใช้เงินสดหรือเช็ค ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและเอกสารต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจได้ ทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคตได้ง่ายขึ้นด้วย
3. ภาครัฐบาล: ทำให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลทะเบียนที่ครบถ้วน ทันสมัย จัดเก็บได้โดยง่าย อีกทั้ง การโอนเงินช่วยเหลือหรือสวัสดิการต่างๆ ก็จะตรงตามวัตถุประสงค์ และยังสามารถบูรณาการการจัดเก็บภาษีผ่านระบบ e-Tax ในการนำส่งข้อมูลภาษีให้ครบถ้วนมากขึ้นด้วย ช่วยให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการเงินงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประเมินว่าแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะช่วยประหยัดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี จาก 1) ภาคประชาชนที่มีต้นทุนลดลงจากการหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสด 2) ภาคการธนาคารที่จะสามารถประหยัดต้นทุนจากการพิมพ์ธนบัตร การบริหารจัดการเงินสดและเช็ค และต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินสดที่เก็บไว้ในศูนย์จัดการเงินสด ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี และ 3) ภาคธุรกิจที่สามารถลดต้นทุนการบริหารจัดเก็บเงินสดและเช็ค การพิมพ์และจัดส่งเอกสารใบกำกับภาษี ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
ที่มา: กระทรวงการคลัง