วิกฤติภัยแล้งปีนี้…อยู่อย่างตระหนักใช่ว่าตื่นตระหนก
- ไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งซ้ำแล้วซ้ำอีกเกือบทุกปี ไม่เว้นแม้แต่ในปัจจุบัน โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่ภาคการเกษตรมากที่สุด สะท้อนได้จากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรไทยหลายตัวมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล อย่างไรก็ดี จากปัจจัยดังกล่าวมีโอกาสที่ราคาสินค้าเกษตรบางตัวจะถูกหนุนให้ขยับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา - อีไอซีมองว่า ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากนักจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
ผู้เขียน: ธีระยุทธ ไทยธุระไพศาล
Highlight
|
ไทยต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งซ้ำแล้วซ้ำอีกเกือบทุกปี ไม่เว้นแม้แต่ในปัจจุบัน เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่า สาเหตุของภัยแล้งส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ส่งผลให้ปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย หรือไม่ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณฝนสะสมในแต่ละปีของไทย เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างปี 2011-2014 ปริมาณฝนสะสมทั้งปีของไทยอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี มาโดยตลอด (รูปที่ 1) แต่เหตุใดไทยก็ยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเกือบทุกปีอยู่ดี ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดิน อีไอซีพบว่าพื้นที่แล้งซ้ำซากของไทยยังมีมากถึงราว 40% ของพื้นที่ภาคการเกษตรทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านอกเหนือจากปัจจัยเรื่องปริมาณฝนตกน้อยแล้ว ยังมีปัจจัยน่าจับตามองอื่นๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดปัญหาภัยแล้งทั้งในระยะนี้และในระยะต่อไปด้วย เช่น พฤติกรรมการใช้น้ำของประชาชน การพัฒนาพื้นที่ทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเพิ่มของจำนวนประชากรในประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี 2014-2015 ปริมาณฝนสะสมทั้งปีของไทยปรับตัวลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี (1981-2010) ติดต่อกันถึง 2 ปี เป็นเหตุให้ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ของไทยในปี 2016 ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งในปัจจุบัน
ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเป็นอันดับแรกเสมอ จากผลผลิตที่มีการปรับตัวลดลง ทั้งนี้ สินค้าเกษตรที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดก็คือ ข้าวนาปรัง (ปัจจุบันตรงกับฤดูกาลเพาะปลูก) ที่มีการเพาะปลูกทั่วประเทศไปแล้วกว่า 3.4 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูก้ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความเสี่ยงที่จะเสียหายกว่า 2 ล้านไร่ เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือพอใช้แค่ในส่วนของการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ (ผลักดันน้ำเค็ม) เท่านั้น อนึ่ง สินค้าเกษตรที่จะได้รับผลกระทบรองลงมาก็คือ มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล เนื่องจากปริมาณฝนในปีที่ผ่านมามีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ (yield) มีการปรับตัวลดลง ซึ่งมีผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คาดการณ์ว่าด้วยผลผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจะส่งผลให้กำลังซื้อของเกษตรกรในช่วงครึ่งปีแรกมีการปรับตัวลดลง คิดเป็นมูลค่าที่จะหายไปราว 2 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งจะกระทบให้กำลังซื้อรวมของทั้งประเทศมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงเช่นกัน คิดเป็นมูลค่าราว 6 หมื่นกว่าล้านบาท
แนวโน้มปริมาณผลผลิตของสินค้าเกษตรทั่วโลกที่ลดลงในปีนี้จะช่วยผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรบางตัวเริ่มมีการขยับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2015-2016 นั้น ถือว่ามีความรุนแรงที่สุดในรอบ 65 ปี ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลักรายอื่น ได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าความรุนแรงของ El Nino ได้ส่งผลกระทบให้อุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรโลกหลายตัวปรับเข้าสู่ภาวะขาดดุล (deficit) อาทิ ข้าว น้ำตาล และข้าวโพด เป็นต้น โดยปัจจัยดังกล่าวมีโอกาสที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกจะถูกหนุนให้เริ่มขยับตัวสูงขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กดดันการขยับตัวขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เช่น การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล (ข้าว) การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (ยางพารา) นโยบายการกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดของรัฐบาลจีน (มันสำปะหลัง) รวมไปถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินต่างประเทศต่างๆ เป็นต้น
ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมไปถึงน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้มากนัก จากข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 13 มีนาคม 2016 ที่มีอยู่ราว 2,731 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบกับกรมชลประทานมีแผนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนรวมกันเฉลี่ยวันละ 18-19 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำยังเพียงพอสามารถใช้ได้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมของปีนี้ อีกทั้ง ข้อมูลองค์กร National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่ามีโอกาสประมาณ 50% ที่ความรุนแรงของ El Nino จะค่อยๆ ลดระดับความรุนแรงลง และปรับเข้าสู่สภาวะปกติ (neutral) ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณฝนในไทยเริ่มตกตามปกติ และสถานการณ์ภัยแล้งจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในระยะนี้แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมไปถึงน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจะยังมีเพียงพอจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม แต่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ควรที่จะร่วมมือร่วมแรงไปด้วยกัน เพื่อให้ทิศทางในการแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศในปีนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตามองคือหากเลยเดือนกรกฎาคมไปแล้ว ฝนยังไม่ตกหรือตกไม่เพียงพอสำหรับเติมปริมาณน้ำในเขื่อนให้มากขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลให้ไทยต้องเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งขั้นขีดสุด เนื่องจากหากเกิดกรณีดังกล่าว มีความเสี่ยงที่ผลกระทบนั้นจะขยายตัวในวงกว้างมากขึ้นไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมไปถึงปริมาณน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคได้ในระยะต่อไป ทั้งนี้ จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง พบว่าในปัจจุบันประชาชนมากกว่า 50% ค่อนข้างวิตกกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการแย่งชิงน้ำมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภัยแล้งต่างๆ ของรัฐบาลที่มีอยู่ในตอนนี้ อีไอซีมองว่าการเตรียมแผนรับมือกับปัญหาที่มีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ควรมุ่งเน้นเป็นพิเศษในระยะนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป
อีไอซีมองในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ วิกฤติภัยแล้งกับโอกาสของธุรกิจเกี่ยวกับน้ำก็เช่นกัน ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ (water management) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบต่างๆ ในเทคโนโลยีการจัดการน้ำ (water technology) รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ (water related business) จะเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในอนาคต นอกจากนี้ เกษตรกรที่มีความรู้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำในช่วงเวลาต่างๆ ยังสามารถที่จะสร้างธุรกิจใหม่ด้วยการแบ่งปันความรู้ (know-how) ให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน
![]() |
|
|
รูปที่ 1: ปริมาณฝนสะสมทั้งปีของไทยจากปี 2010-2015 |
||
![]() |
||
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน |