SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 มีนาคม 2016

กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund)

ผู้เขียน: ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2016

 

ThinkstockPhotos-485525819.jpg


 

 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้สั่งการให้ สคร.เร่งจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) วงเงิน 1 แสนล้านบาทและโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชน หรือพีพีพี จำนวน 5 โครงการ โดยเร็วที่สุด”

ที่มา : โพสต์ทูเดย์ 10 กุมภาพันธ์ 2559

 

 

กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) คืออะไร?

กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ คือ กองทุนรวมประเภทหนึ่งที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นเพื่อระดมเงินทุนจากภาคเอกชนทั้งสถาบันและรายย่อยเพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มอเตอร์เวย์ และอื่นๆ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนของรัฐบาลนอกเหนือจากการกู้ยืมเงินในแบบเดิม ทั้งนี้ กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จะเป็นกองทุนที่ไม่จำกัดอายุซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ประกาศและหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยในระยะการจัดตั้งกองทุน รัฐบาลจะนำเงินจากกองทุนรวมวายุภักษ์ และเงินลงทุนจากกระทรวงการคลัง จำนวน 1 หมื่นล้านบาทเป็นเงินตั้งต้น สำหรับระยะต่อไปจะขายหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนทั่วไปมูลค่าการระดมทุนราว 1 แสนล้านบาท และสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคต โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการจัดตั้งกองทุนให้แล้วเสร็จภายในปี 2559

 

เหตุใดจึงต้องจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์?

1) เพื่อลดภาระทางการคลังของรัฐบาล เพราะการระดมเงินทุนในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการก่อหนี้สาธารณะ รัฐบาลจึงสามารถลงทุนได้ในวงเงินและจำนวนโครงการที่มากกว่า ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่าถ้าหากรัฐบาลหาแหล่งเงินทุนโดยการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกโครงการซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท จะส่งผลกระทบให้หนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่สูงกว่าระดับ 50% ของ GDP (รูปที่ 1) ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นสูงกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้ระดับหนี้สาธารณะมีค่าไม่เกิน 60% ของ GDP

 

รูปที่ 1: สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นเกินระดับ 50% หากรัฐบาลหาแหล่งเงินทุนโดยการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกโครงการซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท

 

mb_01.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ EIC Insight: เฟ้นธุรกิจเด่นรับเมกะโปรเจกต์คมนาคมไทย

 


2) เป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนรู้จักและหันมาลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ปัจจุบันมีสภาพคล่องและปริมาณเงินสดในมือสูง เห็นได้จากอัตราส่วนทุนหมุนเวียน (สินทรัพย์หมุนเวียนต่อหนี้สินหมุนเวียน) (current ratio) อยู่ที่ระดับสูงกว่า 1.4 เท่า ซึ่งเป็นระดับสูงมากเมื่อเทียบกับรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นต่อสินทรัพย์รวม (cash ratio) ก็อยู่ระดับ 12% ซึ่งถือว่าสูงเช่นเดียวกัน (รูปที่ 2) ดังนั้น กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวที่อยากลงทุนในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น รวมไปถึงนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความเสี่ยงสูง

 

รูปที่ 2: บริษัทจดทะเบียนมีสภาพคล่องทางการเงินที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับในอดีต

mb_02.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

 


ข้อแตกต่างระหว่างกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปคืออะไร
?

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปจะเน้นการลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างเสร็จและมีรายรับจากการดำเนินงานแล้ว (brownfield project) มากกว่าโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จ (greenfield project) ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีกำหนดเงื่อนไขว่า หากกองทุนใดลงทุนใน greenfield project เกินกว่า 30% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุนจะต้องเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่เท่านั้น (เงินลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป) จำนวนไม่น้อยกว่า 35 ราย แต่ถ้าหากกองทุนนั้นลงทุนใน greenfield project ต่ำกว่า 30% จะสามารถเสนอขาย IPO ให้แก่นักลงทุนรายย่อยได้ แต่ต้องมีจำนวนนักลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ราย

สำหรับกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ที่คาดว่าจะเน้นการลงทุนใน greenfield project เป็นสัดส่วนที่สูงและยังไม่มีการขายหน่วยลงทุนให้แก่สาธารณะชนในระยะแรกของการจัดตั้งกองทุน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. นายประกิต บุณยัติฐิติ กล่าวว่าอาจต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันเฉพาะกลุ่ม (เช่น กองทุนรวมวายุภักษ์) สามารถเข้าถือหน่วยและจัดตั้งกองทุนได้1

 

นักลงทุนได้ผลตอบแทนอะไรจากการลงทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์?

ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จะมีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป กล่าวคือ นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผล (dividend) ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรายได้ของการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ ที่กองทุนรวมเป็นเจ้าของ (freehold) หรือ ทำสัญญาเช่า (leasehold) ตัวอย่างเช่น หากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ซื้อโครงการมอเตอร์เวย์สาย 7 ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วมาบริหาร รายได้จากการเก็บค่าผ่านทางจะเป็นรายได้ของกองทุนและนำมาจ่ายเป็นเงินปันผล ทั้งนี้ ก.ล.ต. กำหนดให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจะต้องจ่ายเงินปันผลอย่างน้อย 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว2 อีกกรณีหนึ่งคือ หากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์นำเงินไปลงทุนใน greenfield project เช่น โครงการรถไฟความเร็วปานกลาง-สูง หรือโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งยังไม่มีรายได้จากการดำเนินงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่ารัฐบาลอาจต้องจัดหาเงินงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ลงทุนจนกว่าโครงการนั้นจะก่อสร้างเสร็จ

 

นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินปันผลแล้ว นักลงทุนอาจได้รับผลตอบแทนในรูปส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น (capital gain) คล้ายคลึงกับการลงทุนในหุ้น หากผลประกอบการของโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ราคาหน่วยลงทุนก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ หากสินทรัพย์ที่กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ซื้อมามีมูลค่าเพิ่มขึ้นในภายหลังย่อมทำให้มูลค่าหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนจะได้รับคืนก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

กล่าวโดยสรุป กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์เป็นกองทุนที่ต้องการระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการระดมทุนนอกเหนือจากการกู้ยืมเงินในแบบเดิมเพื่อลดภาระทางการคลัง ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนสำหรับนักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยในการกระจายความเสี่ยงในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน

 

1ข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 ธันวาคม 2558 เรื่อง “คลอดเกณฑ์ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ก.ล.ต.ชี้เฟสแรกดีเดย์ก.พ.59 รองรับรัฐลุยลงทุน”

2กำไรสุทธิที่หักกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้น (unrealized gain) จากการประเมินค่าหรือการสอบทานการประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งปรับปรุงด้วยรายการอื่นตามแนวทางที่ ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะเงินสดของกองทุนรวม

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ