SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 กุมภาพันธ์ 2016

ความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์จีน : ความผันผวนของตลาดเงินโลก

Wobbly Chinese stocks can shake the global markets.

ผู้เขียน: ณฐกร วิสุทธิโก

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2016

 

ThinkstockPhotos-503951240-s.jpg
 

 

“China's major stock exchanges tanked on the first trading day of the year, triggering a "circuit-breaker" that suspended equities trade nationwide for the first time and putting at risk months of regulatory work to restore market stability.”

ที่มา : Reuters Jan 4,2016

 

 

เกิดอะไรขึ้นกับหลักทรัพย์จีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ในวันที่ 4 มกราคม 2016 ซึ่งเป็นวันทำการแรกของปี 2016 ดัชนีหลักทรัพย์จีนปรับลดลงกว่า 7% จนเป็นเหตุให้ทางการจีนระงับการซื้อขาย (Circuit Breaker) ในวันดังกล่าว หลังจากนั้น ในช่วงเช้าของวันที่ 7 มกราคม ดัชนีหลักทรัพย์จีนก็ได้ปรับลดลงกว่า 7% อีกครั้งหลังจากเปิดซื้อขายได้เพียง 15 นาที ทำให้ทางการจีนระงับการซื้อขายเป็นครั้งที่สองในรอบสัปดาห์ ซึ่งโดยรวมดัชนีหลักทรัพย์จีนลดลงกว่า 10% ในช่วงสัปดาห์แรกของปี

 

การลดลงของดัชนีหลักทรัพย์จีนเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร

แม้ว่ายังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนนัก แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีข้อมูลหลายอย่างที่อาจก่อให้เกิดความวิตกต่อเศรษฐกิจและตลาดหลักทรัพย์จีน โดยตั้งแต่ต้นปีทางการจีนประกาศลดค่าเงินหยวนอิงอ้าง(CNY fixing) หลายวันติดต่อกัน โดยรวมในสัปดาห์แรกของปี ค่าเงินหยวนลดลงกว่า 1.1% ทำให้เกิดความสงสัยในการเติบโตของเศรษฐกิจจีนว่าอาจไม่สามารถรักษาระดับการเติบโตต่อไปได้จึงต้องลดค่าเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือการส่งออก ประกอบกับมาตรการห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนซื้อขายหุ้นเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงปลายสัปดาห์ทำให้เกิดความวิตกต่อการเทขายของนักลงทุนรายใหญ่เมื่อพ้นจากมาตรการดังกล่าว อีกทั้งค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin PMI ซึ่งประกาศออกมาช่วงต้นปีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้จึงยิ่งทำให้เกิดความกังวลในการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น

 

การลดลงของดัชนีหลักทรัพย์จีนส่งผลต่อตลาดเงินโลกและตลาดเงินไทยอย่างไร

การปรับลดลงของดัชนีหลักทรัพย์จีนส่งผลให้ทิศทางการลงทุนของโลกอยู่ในลักษณะกลัวความเสี่ยง (risk off sentiment) ซึ่งส่งผลต่อราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก โดยสำหรับราคาสินทรัพย์เสี่ยง (risky asset) ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น และ ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ปรับลดลง พร้อมทั้งทำให้เงินสกุลของประเทศกำลังพัฒนาอ่อนค่าลง ในขณะที่ราคาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (safe haven) เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ค่าเงินเยน และ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นสกุลเงินที่มีความเสี่ยงต่ำแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ยังกดดันให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงตามความวิตกต่ออุปสงค์ต่อน้ำมันที่ลดลงของจีน

สำหรับตลาดเงินไทย ในช่วงสัปดาห์แรกของปีมีเงินไหลออกจากตลาดเงินไทยทั้งสิ้นราว 5 พันล้านบาท โดยเป็นการไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ 8 พันล้านบาทและเป็นการไหลเข้ามายังตลาดพันธบัตร 3 พันล้านบาท ในขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงราว 0.5% โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง สิงหาคม 2015 ซึ่งทางการจีนประกาศลดค่าเงิน 1.9% พบว่ามีเงินทุนไหลออกจากตลาดไทยมากกว่าในปี 2016 หนึ่งเท่าตัว ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ในช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังจากการลดค่าเงิน

 

ทางการจีนรับมือกับการลดลงของดัชนีหลักทรัพย์อย่างไร

เนื่องจากการปรับลดลงของดัชนีหลักทรัพย์จีนเกิดขึ้นพร้อมกับการอ่อนค่าของเงินหยวนอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการเก็งกำไรค่าเงิน ทางการจีนจึงมีการดำเนินนโยบายใน 2 ส่วนควบคู่กัน โดยสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ทางการจีนก็ได้กำหนดเกณฑ์การซื้อขายใหม่สำหรับนักลงทุนรายใหญ่โดยจำกัดการขายหุ้นของนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ในสัดส่วนไม่เกิน 1% ของหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทจดทะเบียนเป็นระยะเวลา 3 เดือนมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมเป็นต้นไปทดแทนมาตรการห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนซื้อขายหุ้นเป็นเวลา 6 เดือน ที่สิ้นสุดลง อีกทั้งยกเลิกมาตรการการระงับการซื้อขาย (Circuit Breaker) เนื่องจากการระงับการซื้อขายอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เกิดการเทขายหลักทรัพย์มากขึ้น ในขณะที่มาตรการด้านการกำกับการแลกเปลี่ยน ทางการจีนเริ่มมีการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินเพิ่มเติมโดยกำหนดให้มีการกำหนดอัตรากันสำรอง (reserve requirement) สำหรับเงินฝากสกุลหยวนซึ่งฝากกับธนาคารต่างประเทศ (offshore banks )ในจีน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนทางอ้อมของการ short-selling เงินหยวนอันเป็นการเก็งกำไรค่าเงินในรูปแบบหนึ่ง โดยหากเปรียบเทียบกับไทย ตลาดหลักทรัพย์ไทยเองก็มีการระงับการซื้อขายในกรณีที่ราคาหลักทรัพย์ลดลงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเช่นกัน แต่ที่ผ่านมายังไม่ปรากฎว่าไทยเคยออกมาตรการห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะใกล้เคียงกับจีน

 

ในปัจจุบันจีนมีบทบาทต่อตลาดเงินโลกมากแค่ไหน

จีนมีบทบาทต่อตลาดเงินโลกมากขึ้นเรื่อยๆนับแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกปี 2009 ในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์จีน1 มีขนาดกว่า 8.26 ล้านล้านหยวนซึ่งคิดเป็น 4 เท่าของตลาดหลักทรัพย์ไทย ในช่วง 5 ปีให้หลังเห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจจีนเป็นที่จับตาของโลกและมีผลต่อการเคลื่อนไหวในตลาดเงินอย่างมาก นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ในตลาดโลกก็มีความสัมพันธ์ไปตามการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์จีนมากขึ้น อีกทั้งจีนยังเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุน (sentiment) การลงทุนในตลาดเงินโลก

 

นอกจากนี้ด้วยขนาดเศรษฐกิจและความพยายามของจีนเอง ก็ทำให้จีนเข้ามามีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดเงินมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาเงินหยวนได้ก้าวขึ้นมาเป็นสกุลเงินที่มีการใช้เป็นสื่อกลางมากเป็นอันดับ 4 ของโลกจากเดิมซึ่งอยู่ในอันดับ 7 ในปี 2014 ตามข้อมูลของ SWIFT2 อีกทั้งในปัจจุบัน เงินหยวนยังได้รับการยอมรับจาก IMF ให้อยู่ในตระกร้าหน่วยสิทธิเบิกถอนพิเศษ (SDR) ซึ่งเป็นนัยว่าในอนาคตธนาคารกลางชาติต่างๆ น่าจะต้องเพิ่มสัดส่วนทุนสำรองในรูปเงินสกุลหยวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเราเริ่มเห็นความตื่นตัวของประเด็นดังกล่าวมาเป็นระยะ เช่น การออกพันธบัตรเป็นเงินสกุลหยวนของธนาคารกลางอังกฤษเพื่อระดมทุนสำรองในรูปหยวน การจำหน่ายพันธบัตรเงินหยวนของรัฐบาลจีนในอังกฤษซึ่งเป็นที่สนใจของกองทุนและธนาคารต่างชาติเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในปี 2016 ทางการจีนยังได้มีการขยายเวลาในการซื้อขายเงินหยวนให้ครอบคลุมเวลาในโซนยุโรปเพื่อส่งเสริมสภาพคล่องของเงินหยวนในตลาดเงินโลกอีกด้วย

 

เศรษฐกิจจีนและค่าเงินหยวนจะเป็นอย่างไร

แม้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาดัชนีหลักทรัพย์จีนจะปรับลดลงอย่างมาก แต่อีไอซีมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจจีนยังคงไม่แตกต่างไปจากปีที่ผ่านมา ด้วยธุรกิจภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์ของตลาดโลกที่น้อยลงและกำลังการผลิตส่วนเกินของจีนที่เกินความต้องการอยู่มาก โดยในปี 2016 อีไอซีประเมินว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 6.3% จากธุรกิจภาคบริการที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่หากการขยายตัวในภาคบริการของจีนชะลอตัวลงก็อาจเป็นอุปสรรคของการเติบโตของเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้หนี้ภาคธุรกิจก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจับตามองเนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาการขยายตัวของหนี้ภาคธุรกิจเป็นไปอย่าวรวดเร็ว หากธุรกิจเผชิญปัญหาในการชำระหนี้ก็อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการขยายตัวของเศรษฐกิจได้เช่นกัน

 

สำหรับทิศทางในการดำเนินนโยบายการเงินของจีน อีไอซีมองว่าจีนจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางผ่อนคลายต่อไปเนื่องจากเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงที่ขยายตัวน้อยลง ประกอบกับภาระหนี้สินของภาคเอกชนค่อนข้างมาก การดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่ผ่อนคลายจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวและบรรเทาภาระทางการเงินของผู้ประกอบการได้

 

สำหรับทิศทางของค่าเงินหยวน อีไอซีมองว่าหยวนยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องและมีความผันผวนมากขึ้น เนื่องจากหยวนเข้าไปอยู่ในตะกร้า SDR ทำให้ทางการจีนพึงจะลดการแทรกแซงค่าเงินให้น้อยลงและปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวไปตามกลไลตลาดมากขึ้น นอกจากนี้จีนได้ปรับกำหนดค่าอัตราแลกเปลี่ยนจากเดิมซึ่งอ้างอิงกับกับดอลลาร์สหรัฐฯ ให้อ้างอิงกับตระกร้างอัตราแลกเปลี่ยน 12 สกุลซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ การที่หยวนอ้างอิงกับตระกร้าอ้างอิงที่มีแนวโน้มอ่อนค่าย่อมหมายถึงการที่หยวนจะอ่อนค่าลงตามไปด้วย ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งอ้างอิงกับตระกร้าอัตราแลกเปลี่ยนคือเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหากในอนาคต ยุโรป หรือ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญมีการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมก็อาจกดดันต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของจีน ทำให้จีนอาจลดค่าเงินหยวนลงอีกก็เป็นได้

 

โดยสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยในปี 2016นี้ เศรษฐกิจและตลาดเงินจีนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจีนจะมีอิทธิพลต่อตลาดเงินและค่าเงินของโลกแล้ว ในแง่เศรษฐกิจ จีนเป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ของโลก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานของจีนจึงมีผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาที่มีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ เช่น ไทย และ อาเซียน เป็นต้น    

 

20160215-2.jpg

20160215-3.jpg   

 

1 Shanghai Shenzhen CSI300

2 Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ