นักท่องเที่ยวจีนยังแกร่ง แม้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว
การท่องเที่ยวไทยจะยังคงโดดเด่นในปี 2016 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโต 9% นำโดยนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นอกจากจำนวนเพิ่มขึ้นแล้วยังมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะไม่ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาไทย เนื่องจากรายได้ของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ขยายตัวโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ไม่แพงและเพิ่มขึ้นในอัตราช้ากว่ารายได้ อีกทั้ง ยังได้รับผลทางอ้อมจากการเปลี่ยนจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่ได้รับผลกระทบจากราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงรุนแรง อย่างไรก็ตาม ด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เติบโตสูง ทำให้มีการลงทุนจากจีนในธุรกิจบริการในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่จะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและธุรกิจท่องเที่ยวควรมีการปรับตัว และหากลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ที่เข้าถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนให้มากขึ้น รวมถึง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่สะดวกสบายเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวเองได้มากขึ้น
ผู้เขียน: ลภัส อัครพันธุ์
Highlight
|
ภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2016 จะเติบโตต่อเนื่องได้อีกจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวราว 9% นำโดยนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งมีการใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้นมาก ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติสร้างรายได้ให้กับไทยมากถึง 2.23 ล้านล้านบาท จากปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 20% ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 29.8 ล้านคน (รูปที่ 1) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีจำนวนมากถึง 7.9 ล้านคน หรือเติบโต 71% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ในปี 2016 อีไอซีคาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจะยังคงเติบโตได้ดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งสวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ยังคงมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2013 มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้ามาไทยมากถึง 1.7 ล้านคน แต่ลดลงเหลือเพียง 0.9 ล้านคนในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงไปจากนักท่องเที่ยวรัสเซียได้มาก เนื่องจากคุณภาพการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนสูงขึ้น โดยการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 4,425 บาท ในปี 2010 เป็น 5,748 บาท ในปี 2015 และนอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแล้ว สนามบินนานาชาติต่างๆ ภายในประเทศได้มีการขยายความจุเพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสนามบินดอนเมืองและอู่ตะเภาที่ได้เปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อีกทั้ง ยังมีสนามบินภูเก็ตที่มีแผนจะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคมปีนี้เพิ่มอีกด้วย ซึ่งการขยายสนามบินทั้ง 3 แห่งนี้จะทำให้ไทยสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นถึง 20.5 ล้านคนต่อปี
คาดว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง จะไม่กระทบจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาไทย เนื่องจากไทยยังมีจุดแข็งในด้านราคา ในปี 2015 ไทยถือเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามามากที่สุดในโลก* โดยเดินทางเข้ามาไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เป็นไปตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ของชาวจีนที่ขยายตัวสูงตามเศรษฐกิจที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 11% ในช่วงปี 2009-2014 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลง และเงินหยวนมีทิศทางอ่อนค่าลง รวมไปถึงการลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหลักทรัพย์ในจีน ได้สร้างความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาไทย อย่างไรก็ดี หากมองถึงรายได้ต่อหัวของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (รูปที่ 2)สังเกตได้ว่าจำนวนผู้มีรายได้ปานกลางในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของชาวจีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (รูปที่ 3) แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้จ่ายได้อยู่มาก และเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไทยที่ไม่ได้แพงนักและเพิ่มขึ้นในอัตราช้ากว่ารายได้ ดังนั้น การที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงแต่ยังเติบโตในระดับสูงราว 6%-7% จึงจะไม่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนมาไทยลดลง ในทางกลับกัน อาจจะได้ประโยชน์จากการที่ผู้มีรายได้สูงได้รับผลกระทบจากราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงและหันมาท่องเที่ยวในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายถูกลงอีกด้วย
ตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซียจะยังไม่ฟื้นตัวและคาดว่าจะยังมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียหดตัว ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่พึ่งพานักท่องเที่ยวรัสเซียจะต้องหันมามุ่งเน้นนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซียยังคงไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียลดลงแปรผันตามราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวรัสเซียลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากรายได้ของการส่งออกหลักของประเทศมาจากการส่งออกน้ำมันถึง 70% ทั้งนี้ อีไอซี คาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการคงการผลิตน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงของกลุ่ม OPEC รวมถึง อิหร่านมีแนวโน้มที่จะสามารถกลับมาเพิ่มปริมานการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบได้หลังจากสหรัฐฯ ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร โดยจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ลดลงนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพัทยาและภูเก็ตเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์และหันไปพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวจีนแทน
อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เติบโตทำให้มีนักลงทุนจีนสนใจลงทุนในธุรกิจบริการในไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการของไทยเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากกลายเป็นปัจจัยดึงดูดให้มีนักลงทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับชาวจีนด้วยกันมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณ FDI ในภาคธุรกิจบริการที่มีนักลงทุนจากจีนและฮ่องกงหันมาลงทุนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยมีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาทในช่วง10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่มีสัดส่วนมากถึง 20% และ 23% ตามลำดับ (รูปที่ 4) ทั้งนี้ ธุรกิจไทยจึงมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะชาวรัสเซียก็เข้ามาทำธุรกิจหลากหลายในพัทยาเช่นกัน แต่โครงสร้างนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกันทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวจีนยังมาเที่ยวผ่านบริษัททัวร์เป็นส่วนใหญ่ถึง 44% (รูปที่ 5) ทำให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องเที่ยวตามโปรแกรมที่บริษัททัวร์จัดไว้ รวมถึงการใช้บริการตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งร้านขายของที่ระลึกตามที่บริษัททัวร์กำหนด ทำให้รายได้ในส่วนนี้อาจจะไม่กระจายไปถึงผู้ประกอบการไทย โดยธุรกิจที่คาดว่ามีโอกาสทำเงินรั่วไหลออกจากประเทศนั้นมีตั้งแต่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าปลีกค้าส่งที่ขายของให้ชาวจีน ซึ่งแต่ละปีนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมากับทัวร์มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม (ร้านอาหาร) และ ช้อปปิ้งมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท (รูปที่ 6) ในขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเองถึง 74% ส่งผลให้เกิดมีข้อจำกัดในการท่องเที่ยวและใช้บริการธุรกิจท่องเที่ยวในไทยไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน
การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นอีกกระแสการท่องเที่ยวที่น่าจับตามอง ถ้าเปรียบเทียบประเทศในเอเชียด้วยกันแล้ว ไทยและเกาหลีใต้เป็นประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยเฉพาะด้านศัลยกรรมที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการอย่างแพร่หลาย แต่ในปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้ประสบปัญหาด้านคุณภาพจากการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่สามารถควบคุมการทำธุรกิจของศัลยแพทย์ที่ผิดกฎหมายได้ รัฐบาลและชาวจีนจึงได้มีการต่อต้านการทำศัลยกรรมที่เกาหลีใต้ ทำให้โอกาสการเติบโตจึงตกมาอยู่ที่ไทย นอกจากนี้ ชาวจีนยังนิยมใช้บริการตรวจสุขภาพในไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากได้รับการบริการที่ดีกว่าและโรงพยาบาลในจีนค่อนข้างมีผู้ใช้บริการหนาแน่น โดยในปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในไทยแห่งหนึ่งมีรายได้จากผู้ป่วยชาวจีนเพิ่มขึ้นถึง 39% นอกจากนี้โรงพยาบาลบางแห่งได้มีแผนการลงทุนด้านธุรกิจความงามถึง 1.5 พันล้านบาท เพื่อผลักดันการเป็นศูนย์กลางการศัลยกรรมความงามและได้ลงทุนอีก 800 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างอาคารไว้รองรับลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะ
![]() |
|
|
รูปที่ 1: จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทย |
||
หน่วย: ล้านคน | ||
![]() |
||
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC |
รูปที่ 2: Index เปรียบเทียบการเติบโตระหว่าง GDP per capita และค่าใช้จ่ายในการเที่ยวไทยของชาวจีน |
รูปที่ 3: สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของชาวจีน |
|
หน่วย: % นักท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ |
หน่วย: % ต่อ GDP |
|
![]() |
![]() |
|
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว และ CEIC |
รูปที่ 4: การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศด้านภาคบริการในช่วงปี 2005-2014 |
||
หน่วย: ล้านบาท, % ต่อการลงทุนรวมแต่ละภาคบริการ | ||
![]() |
||
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย |
รูปที่ 5: อัตราส่วนนักท่องเที่ยวรัสเซียและจีน (ม.ค.-มิ.ย. 2015) |
รูปที่ 6: ประมาณการค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมากับทัวร์ |
|
หน่วย: % นักท่องเที่ยวรวมของแต่ละประเทศ |
หน่วย: ล้านบาท |
|
|
||
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว และ CEIC |