SHARE
INSIGHT
25 มิถุนายน 2010

อะไรขับเคลื่อนสภาพคล่องในเศรษฐกิจไทย

สภาพคล่องเป็นตัวหล่อลื่นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยหากเปรียบการขยายตัวของเศรษฐกิจเหมือนรถยนต์ที่กำลังวิ่งไปข้างหน้า การเติบโตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก็เปรียบเสมือนการเหยียบคันเร่ง ขณะที่สภาพคล่องเปรียบเสมือนการเข้าเกียร์ กล่าวคือ หากสภาพคล่องในระบบมีมากก็เหมือนขับรถเข้าเกียร์สูงๆ เมื่อต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว แค่แตะคันเร่งนิดเดียว สภาพคล่องก็อัดฉีดเข้าไปในระบบ มีเงินไปขยายธุรกิจ เศรษฐกิจก็เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

994_20100705143046.jpg อะไรขับเคลื่อนสภาพคล่องในเศรษฐกิจไทย
ฉบับที่ 13 - ประจำเดือน มิถุนายน 2553

สภาพคล่องเป็นตัวหล่อลื่นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยหากเปรียบการขยายตัวของเศรษฐกิจเหมือนรถยนต์ที่กำลังวิ่งไปข้างหน้า การเติบโตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก็เปรียบเสมือนการเหยียบคันเร่ง ขณะที่สภาพคล่องเปรียบเสมือนการเข้าเกียร์ กล่าวคือ หากสภาพคล่องในระบบมีมากก็เหมือนขับรถเข้าเกียร์สูงๆ เมื่อต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว แค่แตะคันเร่งนิดเดียว สภาพคล่องก็อัดฉีดเข้าไปในระบบ มีเงินไปขยายธุรกิจ เศรษฐกิจก็เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

และมีบทบาทสำคัญต่อราคาสินทรัพย์ เห็นได้จากไม่ว่าเมื่อไรที่ประเทศไหนก็ตาม เมื่อมีขนาดของสภาพคล่องเพิ่มขึ้นสูง ก็มักจะเห็นราคาสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ราคาอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

แนวโน้มสภาพคล่องมีความสำคัญต่อผู้ระดมทุน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกิจการ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทจัดการกองทุนรวม นักบริหารเงิน (corporate treasurer) เช่น ในช่วงเวลาที่สภาพคล่องมีเหลืออยู่มาก ผู้ประกอบการสามารถออกหุ้นกู้ภาคเอกชน (corporate bonds) เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทุนด้วยต้นทุนต่ำ เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ที่สามารถระดมเงินฝากเพื่อรองรับวงเงินสินเชื่อด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก บริษัทจัดการกองทุนรวมเองก็ไม่ต้องเร่งออกกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเสนออัตราผลตอบแทนที่สูง

สภาพคล่องเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ เช่น การหารายได้หรือระดมทุนเพื่อมารองรับการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐเป็นการดูดสภาพคล่องออกจากระบบ ขณะที่การลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นของภาคเอกชนเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบ เป็นต้น ดังนั้น การวิเคราะห์การไหลเวียนเงินทุนของประเทศ (flow-of-funds analysis) ตามกรอบการทำบัญชีซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยรวมการไหลเวียนของเงินต่างๆ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว ได้อย่างเป็นระบบ จึงสามารถใช้สำหรับประมาณการสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจหนึ่งๆ ได้ อีกทั้ง ยังช่วยให้สามารถระบุได้ว่าอะไรที่ควรจับตามอง และดูผลของนโยบายหนึ่งๆ ต่อเศรษฐกิจ

จาก flow-of-funds analysis ของเรา คาดว่าในปี 2010 สภาพคล่องในประเทศยังคงเหลืออยู่ แม้เริ่มชะลอตัวกว่าปีก่อน โดยเติบโตประมาณ 9% ขณะที่ในปี 2009 เติบโตสูงกว่า 12% ทั้งนี้ เนื่องจากเงินยังคงไหลเข้าสู่ระบบค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินจากต่างประเทศ เป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุล และเงินจากกองทุนพันธบัตรเกาหลีที่ไหลกลับเข้าสู่ระบบมากในปีนี้ ทั้งนี้ ผลกระทบของสภาพคล่องที่ยังเหลืออยู่มากแตกต่างกันไปตามผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำหรับภาคเอกชน ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มาซึ่งแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก ผ่านการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน

นอกจากนี้ สภาพคล่องไม่ได้มีผลเฉพาะทางการเงิน แต่มีผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงด้วย เห็นได้จากการที่คนส่วนมากเมื่อนึกถึงเรื่องการลงทุนภาคเอกชน มักคิดถึงแต่เรื่องอัตราดอกเบี้ย ทั้งที่จริงๆ แล้วอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่มีผลต่อการลงทุน เช่น อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ เป็นต้น ดังนั้น เราจึงได้พัฒนาดัชนี SCB EIC Thailand Financial Condition Index (EIC TFCI) เพื่อสะท้อนถึงการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ที่ได้รวมปัจจัยทางการเงินที่สำคัญและมีผลต่อความคล่องตัวของการไหลเวียนเงินทุนของไทยอย่างครบถ้วน ซึ่งประกอบด้วย อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดัชนีค่าเงินบาท และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไร ทั้งนี้ ผลจาก EIC TFCI แสดงให้เห็นว่าความคล่องตัวของการไหลเวียนเงินทุนมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และทำให้คาดได้ว่าความคล่องตัวของการไหลเวียนเงินทุนในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน (loosen) เอื้อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้โดยง่าย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ความคล่องตัวของการไหลเวียนเงินทุนของไทยที่สูงขึ้นในปี 2010 ก็เป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานเท่านั้น การเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริงก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศการลงทุนที่ถดถอย ปัญหาการเมือง ปัญหามาบตาพุด ได้มากน้อยและรวดเร็วแค่ไหน

 

 สมัครสมาชิก เพื่อดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ