SHARE
SCB EIC ARTICLE
16 พฤศจิกายน 2015

Trans-Pacific Partnership (TPP): การเจรจาเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก คือ ข้อตกลงการค้าเสรีของประเทศในแถบแปซิฟิกที่กำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มการค้า การบริการและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก อีกทั้งสร้างมาตรฐานการค้าและกฎระเบียบร่วมกันในเรื่องการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยปัจจุบันสมาชิกที่เข้าร่วม TPP ประกอบไปด้วย 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ GDP โลก ทั้งนี้ทำให้ TPP เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก

วรดา ตันติสุนทร

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2015

 

! (update 26/01/17) 
คลิกอ่านนบทวิเคราะห์ล่าสุด 12 ประเทศบรรลุข้อตกลง TPP เขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดในโลก
! (update 20/03/17) 
คลิกอ่านนบทวิเคราะห์ล่าสุด RCEP กลับมาผงาดอีกครั้งหลัง TPP ส่อล่ม?

 

tpp.jpg
 

 

“The Trans-Pacific Partnership covers 40 per cent of the global economy and will create a Pacific economic bloc with reduced trade barriers to the flow of everything from beef and dairy products to textiles and data, and with new standards and rules for investment, the environment and labour.”

 

ที่มา: Financial Times, October 5, 2015

 

 

Trans-Pacific Partnership (TPP) คืออะไร?

Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก คือ ข้อตกลงการค้าเสรีของประเทศในแถบแปซิฟิกที่กำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มการค้า การบริการและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก อีกทั้งสร้างมาตรฐานการค้าและกฎระเบียบร่วมกันในเรื่องการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยปัจจุบันสมาชิกที่เข้าร่วม TPP ประกอบไปด้วย 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของ GDP โลก ทั้งนี้ทำให้ TPP เป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก

 

สถานะปัจจุบันของการเจรจา TPP เป็นอย่างไร?

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาสมาชิกทั้ง 12 ประเทศได้เห็นชอบข้อตกลง TPP หลังจากเริ่มมีการเจรจามาตั้งแต่เมื่อปี 2008 แต่ทว่าขั้นตอนการบังคับใช้คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้นำของทั้ง 12 ประเทศต้องมีการลงนามอย่างเป็นทางการก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการการบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ในแต่ละประเทศ โดยสำหรับสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโอบามาจะต้องแจ้งให้สภาคองเกรสทราบก่อนการลงนามเป็นเวลา 90 วัน ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องผ่านการตรวจสอบจากทั้งรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ การบังคับใช้อาจถูกชะลอออกไปอีก เนื่องจากบางประเทศสมาชิกยังคงมีข้อคัดค้านบางอย่างอยู่ อย่างเช่น ในแคนาดาที่จะมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคมนี้ โดยผู้นำฝ่ายค้านและอีกหลายกลุ่มมองว่าข้อตกลง TPP ทำให้แคนาดาเสียเปรียบและจะไม่เข้าร่วม TPP หากเป็นฝ่ายชนะ เช่นเดียวกับในสหรัฐฯ ที่ผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 หลายคนมองว่า TPP จะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯ มากกว่าและจะไม่ผลักดันข้อตกลง TPP ล่าสุดนี้

 

ตัวอย่างข้อตกลงใน TPP มีอะไรบ้าง แล้วประเทศสมาชิกใน TPP จะได้รับผลประโยชน์จากการเจรจาครั้งนี้อย่างไร?

ประเทศสมาชิกในกลุ่ม TPP จะได้รับการลดภาษีหรือได้รับการยกเว้นภาษีการนำเข้าสินค้าต่างๆ ตามแต่ละเงื่อนไขของสินค้าในแต่ละประเภท ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์และส่วนประกอบ โดยอัตราภาษีการนำเข้าจะลดลงไปอยู่ที่ 0% โดยจะค่อยๆ ปรับลงมาภายใน 30 ปี ทั้งนี้ การลดภาษีนำเข้ารถยนต์ จะส่งผลดีต่อบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น เนื่องจากช่วยให้สามารถแข่งขันในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาจากญี่ปุ่นมากขึ้น ทั้งนี้ก่อนหน้าบริษัทญี่ปุ่นเคยต้องเผชิญกับกำแพงภาษีรถยนต์ที่ค่อนข้างสูงในสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ ได้มีการป้องกันอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของตน

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงที่จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล ซึ่งจะส่งผลดีต่อมาเลเซียและเวียดนามที่มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐฯ กว่า 47% และ 12% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด ด้านภาษีการนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลงยังช่วยส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และขยายการลงทุนภายในกลุ่มประเทศ TPP ด้วยกันเองอีกด้วย อีกทั้ง การลดภาษีการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากประเทศ TPP ที่จะเป็นผลดีต่อบริษัทข้ามชาติหลายแห่งในการส่งสินค้ากลับประเทศหลังจากได้ย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อย่างเวียดนามและเม็กซิโกเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ด้านสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งเป็นประเภทสินค้าที่มีการกีดกันทางการค้าค่อนข้างสูงในหลายประเทศนั้น ทางญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะค่อยๆ เพิ่มโควตาการนำเข้าข้าวจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม TPP ในแต่ละปีให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มโควตาการนำเข้าข้าวนี้จะส่งผลกระทบให้ราคาข้าวในญี่ปุ่นลดลง นอกจากนี้ ยังได้ลดภาษีการนำเข้าในสินค้าเกษตรอื่นๆ อีก เช่น น้ำมันปาล์ม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อมาเลเซียที่มีการส่งออกน้ำมันปาล์มกว่า 9% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ อีกทั้ง น้ำตาล ผลไม้ ไก่ เนื้อ และผลิตภัณฑ์จากนมซึ่งจะส่งผลให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นระหว่างประเทศที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมหลักของโลกอย่างนิวซีแลนด์และแคนาดา

 

ทั้งนี้ ข้อตกลง ยังครอบคลุมในเรื่องของการสร้างกฎระเบียบการค้าและการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยประเทศสมาชิกในกลุ่ม TPP ต้องนำมาตรฐานแรงงานตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) มาบังคับใช้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนี้จะกดดันประเทศกำลังพัฒนาอย่างเวียดนาม เม็กซิโก และมาเลเซียที่ยังคงมีปัญหาด้านการค้ามนุษย์ ในด้านการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญานั้นได้มีการพูดถึงสิทธิบัตรยา โดยในข้อตกลง TPP คาดว่าระยะเวลาการห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลการทดลองยาในกลุ่มชีวภาพตัวใหม่จะลดลงเหลือ 8 ปี จากที่สหรัฐฯ ต้องการให้เป็น 12 ปี ทำให้บริษัทยาในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้นและอาจทำให้ราคายาถูกลง ในขณะที่ราคายาในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นประเทศกลุ่มสมาชิกที่ไม่เคยมีเงื่อนไขดังกล่าวมาก่อน จะต้องเผชิญกับราคายาที่แพงขึ้นและอาจเข้าถึงยาได้ช้าลง

นอกจากนี้ ข้อตกลง TPP ยังได้มีกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ เช่น ห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่ฟ้องร้องรัฐบาลในกลุ่มประเทศ TPP ในกฎหมายด้านการป้องกันการสูบบุหรี่ (anti-smoking law)

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการไม่ได้เป็นสมาชิกใน TPP มีอะไรบ้าง?

การที่ไทยไม่ได้เข้าไปเป็นสมาชิก TPP อาจจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในด้านการส่งออกและด้านการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้แก่สมาชิกใน TPP โดยผลกระทบต่อภาคการส่งออกนั้น ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกใน TPP ราว 40% ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ดี ไทยได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศในกลุ่ม TPP แล้ว 9 ประเทศยกเว้น สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ในขณะที่แคนาดาและเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่เพียง 1.6% และ 0.001% ตามลำดับ ดังนั้น อุตสาหกรรมที่จะเสียผลประโยชน์ คือ อุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ อย่าง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลแปรรูปและผลไม้แปรรูป เป็นต้น นอกจากนี้สินค้าส่งออกเหล่านี้ของไทยยังมีคู่แข่งสำคัญเป็นมาเลเซียและเวียดนามอีกด้วย

 

รถยนต์และส่วนประกอบของไทยเป็นอีกสินค้าที่มีการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใน TPP อยู่มากไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย (16.2%) มาเลเซีย (6.5%) ญี่ปุ่น (5.4%) สหรัฐฯ (2.6%) และเวียดนาม (2.1%) แต่ทว่าผลกระทบในระยะสั้นจะยังมีอยู่จำกัด เนื่องจากไทยได้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายคู่ค้าหลัก เว้นแต่เพียงสหรัฐฯ นอกจากนี้ ภาษีการนำเข้ารถยนต์และส่วนประกอบในกลุ่ม TPP จะทยอยปรับลดลงมาในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งจะค่อยๆ เอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิก TPP ด้านข้อบังคับการใช้วัตถุดิบภายในกลุ่มประเทศ TPP นั้น เมื่อก่อนการที่จะส่งออกรถยนต์ไปยัง สหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา จำเป็นต้องมีการใช้วัตถุดิบในประเทศดังกล่าว (local content) อยู่ที่ 62.5% ตามข้อตกลง NAFTA เพื่อป้องกันการแข่งขันจากรถยนต์ญี่ปุ่น แต่ทว่าการเจรจาข้อตกลงใน TPP ญี่ปุ่นได้ขอให้ทั้ง 3 ประเทศลดข้อบังคับการใช้วัตถุดิบภายในกลุ่มประเทศลง โดยได้สรุปให้มีการใช้วัตถุดิบภายในกลุ่มประเทศที่เพียง 45% โดยจะส่งผลดีต่อบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทย

 

ด้านผลกระทบจากการลงทุนจากต่างชาตินั้น ไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งใน TPP อย่างเวียดนามและมาเลเซีย ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ TPP อีกทั้งในข้อตกลงของ TPP มีการคุ้มครองผู้ลงทุนต่างชาติผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนกับภาครัฐ โดยปัจจุบันการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาในไทยค่อนข้างทรงตัว ต่างจากเวียดนามที่การลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ไทยอาจจำเป็นต้องพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP โดยไทยต้องศึกษาข้อดีและข้อเสียที่จะได้รับหากจะเข้าร่วมอย่างละเอียด เนื่องจากสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมกับสมาชิกทั้ง 12 ประเทศได้ นอกจากนี้ ไทยควรจะเร่งการเจรจาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนและญี่ปุ่น (RCEP) อีกทั้งฟื้นการเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางภาษีอีกครั้ง หลังสิทธิ GSP ได้หมดไป นอกจากนี้ด้านผู้ประกอบการไทยควรใช้สิทธิประโยชน์จากการเจรจาการค้าเสรีต่างๆ ให้มากขึ้น หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษ TPP และมีต้นทุนที่ต่ำการผลิตที่ต่ำกว่า อย่างเวียดนาม เป็นต้น

 

201511moneybanking.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ