ผู้เขียน: อิสระสรรค์ กันทะอุโมงค์
![ThinkstockPhotos-180181046.jpg]()
![Event.png]() |
![Event.gif]()
|
- กสทช. แถลงผลการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต แบ่งเป็นใบอนุญาตละ 15 MHz โดย TRUE เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นใบอนุญาตแรกที่ราคา 39,792 ล้านบาท ส่วน AIS เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นใบอนุญาตที่สองที่ราคา 40,986 ล้านบาท รวมมูลค่าเงินประมูล 80,778 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ กทค. จะทำการรับรองการประมูลภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2015 เพื่อออกใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ให้กับผู้ที่ชนะการประมูลทั้ง 2 ราย ซึ่งคาดว่าผู้ชนะประมูลจะนำคลื่นดังกล่าวเพื่อให้บริการ 4G ต่อไป
|
![Analysis.png]() |
![Analysis.gif]() |
- การประมูลคลื่น 1800 MHz มีมูลค่าเงินประมูลรวมสูงกว่าราคาตั้งต้นถึง 48,954 ล้านบาท หรือ 154% สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อขยายโครงข่ายให้รองรับกับความต้องการใช้งานด้านข้อมูลที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ในช่วงปี 2010-2014 ผู้ใช้บริการมือถือมีความต้องการใช้งานด้านข้อมูลเพิ่มขึ้นกว่า 35% ต่อปี จึงทำให้ผู้ประกอบการมีความต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติม เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานข้อมูลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อประกอบกับการประมูลคลื่นที่มีผู้เข้าร่วมประมูลมากถึง 4 ราย ในขณะที่ใบอนุญาตมีเพียง 2 ใบ จึงทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงและราคาประมูลรวมถูกดันให้สูงกว่าราคาตั้งต้นกว่า 154% และสูงกว่ามูลค่าประเมินคลื่นความถี่ โดยใบอนุญาตแรก คิดเป็น 200% ของมูลค่าคลื่น และใบอนุญาตที่สอง คิดเป็น 206% ของมูลค่าคลื่น
- อีไอซีประเมินว่าราคาประมูลสูงมีผลกระทบบางส่วนต่อผู้ประกอบการ แต่จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเท่าการประมูลดิจิทัลทีวี จากกรณีดิจิทัลทีวีที่มีมูลค่าการประมูลค่อนข้างสูง และส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน ความมั่นคง และสภาพคล่องของผู้ประกอบการบางรายนั้น อีไอซีมองว่ากรณีดังกล่าวมีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการมือถือ เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้เล่นน้อยราย และผู้เล่นแต่ละรายต่างมีฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ อีกทั้งยังมีเงินทุนและสายป่านที่ยาวกว่าผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี แต่ต้นทุนค่าใบอนุญาตที่สูงอาจกระทบต่อผลประกอบการและกำไรในช่วงแรกราว 5-10% และทำให้ระยะเวลาคืนทุนของผู้ประกอบการนานขึ้น
- ด้วยเงื่อนไขเรื่องค่าบริการของ กสทช. ทำให้ผู้ชนะประมูลต้องหากลยุทธ์อื่นที่ไม่ใช่ด้านราคา เพื่อรักษาฐานรายได้และกำไรของบริษัท ทั้งนี้ แม้ว่าราคาประมูลที่ดีดตัวสูงจากราคาตั้งต้นและมูลค่าคลื่นค่อนข้างมาก แต่เนื่องจาก กสทช. กำหนดให้ค่าบริการทั่วไปของคลื่น 1800 MHz จะต้องถูกลงกว่าค่าบริการเฉลี่ยของการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz และจะต้องมีแพ็คเกจราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส จึงเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ผู้ประกอบการต้องหาแนวทางอื่นๆ เพื่อทำให้บริษัทยังคงมีการเติบโตของรายได้และกำไร ยกตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับผู้ผลิต content เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเรียกใช้งานข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และนำเสนอแพ็คเกจที่ให้ใช้ข้อมูลในปริมาณมากในราคาที่เพิ่มขึ้นไม่มาก ซึ่งจะยังทำให้ราคาค่าบริการต่อหน่วยยังคงถูกกว่าค่าบริการของคลื่น 2100 MHz เป็นต้น
- แม้ว่าผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz จะเป็นผู้เล่นรายเดิม แต่ยังคงต้องจับตามองการประมูลคลื่น 900 MHz ซึ่งคาดว่า JAS อาจมีโอกาสสอดแทรกเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดได้ โดยอีไอซีประเมินว่า JAS มีแนวโน้มต้องการคลื่น 900 MHz มากกว่าคลื่น 1800 MHz และอาจทุ่มเม็ดเงินเพื่อก้าวเข้ามาทำธุรกิจในตลาดมือถือ เนื่องจากคลื่นความถี่ต่ำสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากกว่า 2 เท่าและสามารถลดการลงทุนด้านโครงข่ายลงได้กว่า 10 เท่า ทั้งนี้ หาก JAS สามารถประมูลคลื่น 900 MHz ได้ ก็จะช่วยส่งเสริมธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของบริษัท และต่อยอดบริการข้อมูลให้ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่า การประมูลคลื่น 900 MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม 2015 จะมีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงคลื่นความถี่จากผู้เล่นรายเดิมอย่างดุเดือด เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุด
|
![Implication.png]()
|
![Implication.gif]()
|
- ในภาพรวมการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 4G มีโอกาสสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อีไอซีมองว่าหากผู้ประกอบการเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการทำการตลาดและลงทุนระบบ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz จะมีโอกาสช่วยเร่งอัตราการใช้ข้อมูลของลูกค้า (data usage) และเพิ่มรายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ โดยในกรณีศึกษาของเกาหลีใต้พบว่าเมื่อ SK Telecom ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ของเกาหลีใต้เริ่มให้บริการ 4G และใช้กลยุทธ์ Unlimited LTE data plan ซึ่งมีราคาแพ็คเกจที่สูงขึ้นเกือบ 1 เท่าของอัตราค่าใช้บริการเฉลี่ย เพื่อจับกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่ต้องการใช้งานข้อมูลในปริมาณมาก ทำให้รายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 14% ภายในระยะเวลา 3 ปี ส่วนกรณีของไทย อีไอซีคาดว่าการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยี 4G จะทำให้รายได้จากการให้บริการข้อมูลของผู้ประกอบการมือถือในปี 2016 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 20-25%YOY
- นอกจากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์ตามมา การประมูลคลื่นความถี่และการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 4G มีผลโดยตรงต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม โดยการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซียและอินเดีย ก่อให้เกิดการลงทุนด้านโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นกว่า 16-40%YOY ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกแก่ผู้รับเหมาติดตั้งและขยายโครงข่าย รวมถึงผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ผู้ผลิตและจำหน่ายสมาร์ทโฟน การค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมผ่านมือถือ รวมถึงการให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง อีกด้วย
|
รูปที่ 1: การเปิดให้บริการ 4G LTE ของ SK Telecom ในเกาหลีใต้ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
![20151113.jpg]()
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ SK Telecom