เจาะสภาวะตลาดที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า
จากโครงการรถไฟฟ้าที่มีกำหนดเปิดดำเนินการเพิ่มเติมอีก 4 สาย ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ส่งผลให้บริเวณรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดงครองแชมป์จำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง เปิดตัวรวมกันสูงสุด 58,900 และ 48,800 ยูนิต หรือเฉลี่ย 8,400 และ 7,000 ยูนิตต่อปี ตามลำดับ นับตั้งแต่ปี 2008 – 2014 ในขณะที่บริเวณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเส้นทางหัวลำโพง-บางแค มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยน้อยที่สุด 10,700 ยูนิต หรือเฉลี่ย 1,500 ยูนิตต่อปี ซึ่งถือว่าตลาดนี้ยังมีศักยภาพจากยอดขายที่ค่อนข้างสูงแต่ติดข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย
ผู้เขียน: วิภาวดี ศรีโสภา
Highlight
|
ตลาดที่อยู่อาศัยได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการขยายของโครงการระบบขนส่งมวลชนเส้นทางสายใหม่เพิ่มเติม 4 สาย 5 เส้นทางที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2015-2020 ดังนี้
|
การพัฒนาที่อยู่อาศัยได้รับอานิสงส์จากโครงการระบบขนส่งมวลชน โดยแต่ละพื้นที่มีลักษณะและสภาวะตลาดแตกต่างกันตามปัจจัยและข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน
สายสีม่วง: ในปี 2008-2009 ตลาดมีโครงการใหม่เปิดตัวรวมกันเพียง 10,600 ยูนิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการแนวราบ ที่ระดับราคาประมาณ 3-5 ล้านบาท แต่ภายหลังจากที่ครม.มีการอนุมัติโครงการในเดือนพฤศจิกายนปี 2009 ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ในปีถัดมา มีโครงการใหม่เปิดตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8,400 ยูนิต คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 83%YOY อีกทั้งภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2011 ทำให้ผู้ประกอบการเปิดตัวโครงการแนวสูงเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในปี 2012-2013 จำนวนยูนิตที่เปิดใหม่นั้นอยู่ที่ประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ยูนิต โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท (รูปที่ 1)
สายสีน้ำเงิน: ตลาดที่อยู่อาศัยถูกแบ่งเป็น 2 ตลาดย่อยตามส่วนขยายเส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ และส่วนขยายเส้นทางหัวลำโพง-บางแค[1] ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติโครงการในเดือนพฤศจิกายนปี 2006 และเริ่มก่อสร้างปี 2011 ส่งผลให้จำนวนยูนิตที่ขายได้เพิ่มขึ้นในปีถัดมาถึง 37%YOY อย่างไรก็ตาม โครงการที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างช้าแม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ด้วยปัจจัยมาจากข้อจำกัดในด้านปริมาณที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังมีข้อจำกัดเพิ่มเติมในด้านกฎหมายควบคุมอาคาร โดยเฉพาะบริเวณส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค ทำให้ลักษณะของที่อยู่อาศัยที่พัฒนาเพิ่มเติมส่วนใหญ่มักจะเป็นโครงการแนวสูง อย่างไรก็ตาม บริเวณพื้นที่ส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระยังมีการเปิดตัวโครงการแนวราบประมาณหนึ่งในสามของจำนวนโครงการทั้งหมด (รูปที่ 2)
สายสีแดง: ครม.อนุมัติโครงการวันที่ 22 พฤษภาคม 2007 ตลาดที่เปิดขายในช่วงก่อนปี 2008-2012 ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการแนวราบ เนื่องจากที่ดินในบริเวณดังกล่าวยังมีที่ให้พัฒนาอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในปี 2011 พื้นที่บริเวณดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์น้ำท่วม จนทำให้ตลาดชะงักตัวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2012 ทั้งนี้ ภายหลังที่เหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ตลาดจึงกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง บวกกับโครงการรถไฟฟ้าที่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2013 ส่งผลให้มีการพัฒนาโครงการแนวสูงในสัดส่วนที่สูงถึง 78% โดยส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมในระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเจาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก โดยโครงการเปิดใหม่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่หนาแน่นในบริเวณรังสิตคลอง 1-7 (รูปที่ 3)
สายสีเขียว: ครม.ได้อนุมัติโครงการส่วนขยายช่วงที่สองเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2008 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2012 ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณโดยรอบส่วนต่อขยายช่วงที่สองนั้นได้รับอานิสงส์จากการเปิดดำเนินการเดินรถไฟฟ้าของส่วนต่อขยายที่หนึ่งซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2011 โดยการเปิดตัวโครงการแนวสูงมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดราว 70% ของจำนวนยูนิตที่เปิดตัวทั้งหมด ส่วนใหญ่ระดับราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการที่อยู่อาศัยซึ่งเปิดตัวก่อนเริ่มการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นโครงการแนวราบ เนื่องจากถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ที่ตัดผ่าน ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ซื้อบ้านในการเดินทางเข้าไปทำงานในเมือง (รูปที่ 4)
สถานการณ์ปัจจุบันของตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่แนวรถไฟฟ้าสายต่างๆ มีปริมาณค่อนข้างสูง แต่ขายได้ช้าลงเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับตัวชะลอการเปิดโครงการใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2010-2014 พื้นที่บริเวณสายสีเขียวมีอัตราการเติบโตของจำนวนยูนิตโดยเฉลี่ยต่อปีสูงสุดอยู่ที่ 27% ถัดมาเป็นพื้นที่บริเวณสายสีน้ำเงินทั้งสองสายประมาณ 18% ต่อปี บริเวณสายสีม่วง 6% ต่อปี ส่วนสายสีแดงมีอัตราการเติบโตลดลง เนื่องจากมีการเปิดตัวยูนิตใหม่จำนวนมากในปี 2013 ทั้งนี้ เมื่อรถไฟฟ้าเริ่มก่อสร้าง โครงการที่เปิดใหม่ส่วนใหญ่จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นโครงการแนวสูงมากขึ้น อย่างไรก็ดี โครงการแนวราบกลับมีสัดส่วนของจำนวนยูนิตที่ขายได้มากกว่า ขณะที่พื้นที่บริเวณสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระ พื้นที่บริเวณจุดตัดระหว่างสถานีสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ พื้นที่บริเวณสายสีน้ำเงินทั้งสองส่วนขยาย ตลอดจนพื้นที่บริเวณสายสีม่วงและสายสีแดง เปิดตัวโครงการแนวสูงในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากแม้ว่าจะยังไม่มีการเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้า เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดและยากต่อการพัฒนาโครงการแนวราบ อย่างไรก็ตาม ยูนิตที่ขายได้กลับมีจำนวนลดลง สาเหตุหลักเป็นผลมาจากจำนวนการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ค่อนข้างสูงในทุก ๆ ปี โดยที่ผู้ซื้อทยอยซื้อไว้ตั้งแต่ครม.อนุมัติหรือช่วงเริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า อีกทั้ง ผลจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ผู้ซื้อมีความมั่นใจในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลงหรือชะลอการซื้อออกไปก่อน ผู้ประกอบการจึงควรเริ่มชะลอการเปิดตัวโครงการให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการของตลาด ทำให้อัตราการขายต่อเดือนของตลาดที่อยู่อาศัยยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว
คาดว่าจะใช้เวลากว่า 2 ปีในการระบายยูนิตเหลือขายทั้งหมดได้ โดยโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดงจะใช้เวลาระบายสต๊อคเก่านานที่สุด โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้ประกอบการเปิดตัวโครงการใหม่ค่อนข้างมากในปี 2013-2014 สวนทางกับอัตราการซื้อที่ไม่สูงตามไปด้วย ส่งผลให้มียูนิตเหลือขายอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยูนิตดังกล่าวจะมีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนราว 71% ของทั้งหมด ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ใช้ในการขายยูนิตที่เหลืออยู่ (Time-to-go) ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่นั้นส่งผลต่อการเปิดตัวโครงการของผู้ประกอบการเช่นกัน ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าจะใช้ระยะเวลากว่า 2 ปีที่จะระบายยูนิตเหลือขายทั้งหมดได้ อนึ่ง ตลาดที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าทั้ง 4 สายโดยรวม มียูนิตเหลือขายทั้งหมดประมาณ 56,800 ยูนิต แบ่งสัดส่วนเป็นแนวราบ 51% และแนวสูง 49% ทั้งนี้ 1) บริเวณรถไฟฟ้าสายสีม่วงมียูนิตเหลือขายมากที่สุด คิดเป็น 30% ของทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นโครงการแนวราบที่ระดับราคา 1-5 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 16% ของทั้งหมด โดยเฉพาะในพื้นที่บางบัวทอง รัตนาธิเบศร์-จัสโก้ 2) บริเวณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมียูนิตเหลือขายคิดเป็น 29% ของทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นโครงการแนวสูงที่ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 14% ของทั้งหมด โดยเฉพาะในพื้นที่พระราม 5-บางกรวย บางซื่อ 3) บริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดงมียูนิตเหลือขายคิดเป็น 26% ของทั้งหมด ซึ่งมีทั้งโครงการแนวราบและแนวสูงที่ระดับราคา 1-5 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนที่ค่อนข้างเท่ากันและเหลือขายค่อนข้างมากในพื้นที่รังสิตคลอง 1-7 และ 4) บริเวณรถไฟฟ้าสายสีเขียวมียูนิตเหลือขายน้อยสุด คิดเป็น 15% ของทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นโครงการระดับล่างในพื้นที่ศรีนครินทร์และเทพารักษ์ (รูปที่ 5)
มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งประกาศใช้มีแนวโน้มช่วยกระตุ้นตลาดได้มากขึ้น โดยโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะได้รับประโยชน์มากเนื่องจากมีโครงการที่จะสร้างแล้วเสร็จทันอายุมาตรการมากที่สุด อีไอซีมองว่าโครงการแนวสูงที่เปิดตัวตามแนวรถไฟฟ้าในปี 2012-2013 มีประมาณ 56,900 ยูนิต จะได้รับประโยชน์จากมาตรการครั้งนี้เป็นหลัก ซึ่งจำนวนโครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดงประมาณ 22,700 และ 17,600 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 40% และ 30% ตามลำดับ ส่วนโครงการแนวราบที่เปิดตัวช่วงปี 2014 ถึงครึ่งปีแรกของปี 2015 มีรวมกันประมาณ 62,200 ยูนิต ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณสายสีแดงและสีน้ำเงินประมาณ 19,200 และ 18,700 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 30% และ 31% ตามลำดับ ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ ยูนิตบางส่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จน่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว ทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการด้านภาษีได้ ทั้งนี้ ประโยชน์ทางอ้อมของมาตรการดังกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ การระบายจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยแนวสูงในตลาดที่สร้างแล้วเสร็จแต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการที่เน้นโครงการระดับดังกล่าวและส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวม (รูปที่ 6)
ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเข้มและอ่อนที่เปิดให้บริการแล้วถือเป็นกรณีตัวอย่างของทิศทางการเติบโตของตลาดที่ผู้ประกอบการเน้นตลาดกลางถึงบนของที่อยู่อาศัยแนวสูงมากขึ้น รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนส่วนต่อขยายสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่เริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมปี 2009 ส่งผลให้จำนวนยูนิตที่เปิดใหม่และขายได้ในปีถัดมามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง2และ3เท่า ตามลำดับ และในส่วนต่อขยายวงเวียนใหญ่-บางหว้าที่เปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปี2013ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเปิดให้บริการในส่วนต่อขยายแรกเพิ่มเติม ทำให้ในช่วงปี2012-2014มีจำนวนยูนิตที่เปิดใหม่และขายได้โดยเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า10,000 ยูนิต ส่วนสีเขียวเข้มส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง ที่เปิดให้ใช้บริการเดือนสิงหาคมปี2011ก็ส่งผลให้จำนวนยูนิตเปิดใหม่และขายได้ในปีถัดมามีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ3 และ2 เท่า ตามลำดับ ทำให้อัตราการขายต่อเดือนของแต่และพื้นที่สูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี2011ทำให้มีแรงดีดตัวกลับคืนจากผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น ทำให้จำนวนยูนิตที่เปิดตัวและขายได้ในปี2012เพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ พื้นที่เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยเริ่มมีจำนวนน้อยลง ทำให้ต้นทุนที่ดินสูงขึ้น สะท้อนจากราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ในรอบบัญชีปัจจุบัน ในช่วงปี2012-2015ซึ่งส่วนต่อขยายทั้ง3ช่วงดำเนินการแล้ว โดยที่ดินบริเวณถนนกรุงธนบุรีมีอัตราการเติบโตสูงสุด คือ 115% เมื่อเทียบกับรอบก่อนหน้า ในขณะที่บริเวณถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินและถนนสุขุมวิท103(อุดมสุข) เติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกัน คือ 27%และ25%ตามลำดับ (รูปที่7) ส่งผลให้ยูนิตที่เปิดขายในช่วงหลังมักมีราคาต่อตารางเมตรค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น สายสีเขียวเข้มช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ก่อนที่รถไฟฟ้าเริ่มดำเนินการ โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายมักจะเน้นระดับกลางถึงล่าง ซึ่งมีราคาขายโดยเฉลี่ยต่ำกว่า100,000บาทต่อตารางเมตร ทั้งนี้ ภายในปี2011มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น122,083บาทต่อตารางเมตร และจนมาถึงกลางปี2015มีราคาปรับขึ้นเป็น161,667บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเติบโตขึ้นจากปีที่รถไฟฟ้าเปิดให้บริการถึง32% นอกจากนี้แนวโน้มของโครงการเปิดใหม่ในบริเวณดังกล่าวมีการขยายไปเจาะตลาดระดับบนมากขึ้น เช่น โครงการในบริเวณถนนสุขุมวิทตอนปลาย
[1]ซึ่งเป็นผลมาจากมีบริเวณที่รถไฟฟ้าสองสายวิ่งผ่านกับบางพื้นที่ที่สายสีเขียวส่วนต่อขยายเส้นทางสะพานตากสิน-บางหว้าที่เปิดให้ใช้บริการไปแล้ว อีไอซีจึงไม่นับรวมยูนิตที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นเข้ามาในการศึกษา
![]() |
|
|
รูปที่ 1: ภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2011 ตลาดแนวสูงในบริเวณรถไฟฟ้าสายสีม่วงกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2012 เป็นต้นมา
จำนวนยูนิตที่เปิดตัวใหม่และขายได้ในแต่ละปี ในบริเวณรถไฟฟ้าสายสีม่วงเส้นทางเตาปูน-บางใหญ่
หน่วย: พันยูนิต
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ AREA
รูปที่ 2: ตลาดในบริเวณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทั้งสองเส้นทางมีแนวโน้มเติบโตได้อีกจากปริมาณความต้องการที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่
จำนวนยูนิตที่เปิดตัวใหม่และขายได้ในแต่ละปี ในบริเวณสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทั้งสองเส้นทาง
หน่วย: พันยูนิต
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ AREA
รูปที่ 3: ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2011 ตลาดในบริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดงกลับมาขยายตัวอย่างมากในปี 2013 ส่งผลให้มีการพัฒนาตลาดแนวสูง
จำนวนยูนิตที่เปิดตัวใหม่และขายได้ในแต่ละปี ในบริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทางบางซื่อ-รังสิต
หน่วย: พันยูนิต
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ AREA
รูปที่ 4: ตลาดในบริเวณรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ขยายตัวตามความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟฟ้าทำให้ตลาดแนวสูงขยายตัวอย่างมากในปี 2014
จำนวนยูนิตที่เปิดตัวใหม่และขายได้ในแต่ละปี ในบริเวณรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทางทิศใต้จากสถานีแบริ่ง-สมุทรปราการ
หน่วย: พันยูนิต
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ AREA
รูปที่ 5: สายสีม่วงครองแชมป์ยูนิตเหลือขายมากที่สุด โดยเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา
จำนวนยูนิตเหลือขาย จำแนกตามราคา
หน่วย: ยูนิต
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ AREA
รูปที่ 6: ประมาณการจำนวนยูนิตที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์
จำนวนยูนิตที่เปิดตัวใหม่ จำแนกตามสายรถไฟฟ้า
หน่วย: %
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ AREA
รูปที่ 7: ราคาประเมินที่ดินสูงขึ้นอย่างมากหลังจากโครงการรถไฟฟ้าเริ่มให้บริการ
ราคาประเมินที่ดิน
หน่วย: บาท/ตารางวา
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมธนารักษ์