SHARE
INSIGHT
11 กุมภาพันธ์ 2011

ธุรกิจไทยจะก้าวอย่างไรในยุค AEC

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) จะทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจ มีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกแบบเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) ด้วยตลาดที่มีขนาดประชากรกว่า 580 ล้านคน มากกว่าทั้งสหภาพยุโรป มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถึงแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับเพียงเกาหลีใต้ แต่เป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันคิดเป็นอันดับสองของโลก

1955_20110211132810.jpg ธุรกิจไทยจะก้าวอย่างไรในยุค AEC
ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2554

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) จะทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจ มีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกแบบเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) ด้วยตลาดที่มีขนาดประชากรกว่า 580 ล้านคน มากกว่าทั้งสหภาพยุโรป มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถึงแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับเพียงเกาหลีใต้ แต่เป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันคิดเป็นอันดับสองของโลก

 

ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจริงในปี 2015 อาจจะยังไม่สามารถเทียบเคียงกับรูปแบบและภาพของสหภาพยุโรปที่มุ่งหวังไว้ในทันที เนื่องจากมีปัจจัยความสำเร็จแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างการทำงานที่สหภาพยุโรปมีการก่อตั้งองค์กรในรูปแบบองค์กรระหว่างประเทศเหนือรัฐมาตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวคือมี supra-national authority ที่มีอำนาจในการตัดสินใจแทนรัฐสมาชิก ในขณะที่โครงสร้างการทำงานของอาเซียนนั้นเป็นแบบ intergovernmental method ซึ่งรัฐแต่ละรัฐมีฐานะเท่าเทียมกันและทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย การตัดสินใจและการขับเคลื่อนองค์กรจึงเป็นไปได้ช้า

 

AEC เป็นมากกว่าเพียงการเปิดเสรีการค้าสินค้าและข้อตกลงการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน โดยครอบคลุมไปถึงเรื่องข้อตกลงการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น กฎเกณฑ์ด้านศุลกากร มาตรฐานคุณภาพสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีส่วนของความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การสร้างเครือข่ายของ SMEs ความร่วมมือด้านการวิจัย เป็นต้น

 

กลุ่มธุรกิจบริการจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในอนาคตอันใกล้จากการเปิดเสรีหลักๆ ใน 2 ส่วน ได้แก่ (1) การเปิดให้นักลงทุนอาเซียนมีสัดส่วนลงทุนถือหุ้นได้มากขึ้น แต่ธุรกิจไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะปัจจุบันสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติยังต่ำกว่าเพดานที่กำหนดไว้ การเปิดเพิ่มเติมจึงอาจไม่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยธุรกิจบริการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ร้านค้าปลีกอาหาร บริการบรรจุภัณฑ์ และโรงแรมและรีสอร์ทมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะมีสัดส่วนถือหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติในปัจจุบันสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ และ (2) การเอื้ออำนวยให้แรงงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจบริการสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในอาเซียนได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มให้แรงงานย้ายไปทำงานในสิงคโปร์และมาเลเซียมากขึ้นเพราะผลตอบแทนดีกว่า

 

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจไทยจะมีโอกาสลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ในขณะที่สิงคโปร์ เวียดนามและกัมพูชานั้นเปิดให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้มากอยู่แล้ว ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีธุรกิจที่มีโอกาสและอัตราการทำกำไรสูงต่างกันไป อาทิ ในสิงคโปร์จะเป็นธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น ตัวแทนจำหน่ายสินค้า และห้างสรรพสินค้า ในขณะที่ธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านซอฟท์แวร์อินเตอร์เน็ตมีโอกาสทำกำไรได้มากในมาเลเซีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้จะตกลงเปิดเสรีมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติควรศึกษากฎเกณฑ์อื่นๆ ภายในประเทศที่ต้องปฏิบัติตามซึ่งอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้การลงทุนจากต่างชาติไม่เพิ่มขึ้นแม้จะเปิดเสรีแล้ว ตัวอย่างเช่น เรื่องขนาดการลงทุนขั้นต่ำและรูปแบบการลงทุน เป็นต้น

 

การใช้แก่นความสามารถ (core competency) อย่างเต็มรูปแบบของธุรกิจไทยจะเป็นอาวุธสำคัญในการขยายและตักตวงโอกาสจากการกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันภายใต้ AEC ซึ่งจะเกิดกระแสการรวมศูนย์การผลิต การค้าบริการรูปแบบใหม่ๆ (non-tradables become tradables) เช่น บริการจัดงานแต่งงานที่เดิมเน้นเฉพาะลูกค้าในไทยเป็นหลักก็จะมีลูกค้าจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น รวมถึงการกระจายตัวของประชากรอาเซียนซึ่งจะกลายเป็นอีกตลาดในท้องถิ่น (ASEAN expatriate class) ในขณะที่มีกระแสตลาด (market trend) ต่างๆ ที่น่าจับตามองในอาเซียน ได้แก่ ตลาดจากพฤติกรรมของคนอาเซียน เช่น ความนิยมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค เป็นต้น ตลาดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ และการเติบโตของชนชั้นกลางในกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงตลาดจากจุดเด่นของแต่ละประเทศ เช่น อินโดนีเซียมีจำนวนประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก เป็นต้น

 

ทั้งนี้ AEC จะเอื้ออำนวยให้ทุกธุรกิจสามารถเข้าถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ (critical mass of consumer) ในภูมิภาคได้ เพียงแต่ธุรกิจไทยต้องก้าวออกไปนอกประเทศมากขึ้น โดยใช้แก่นความสามารถที่มีให้เต็มรูปแบบเพื่อครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้มาก เช่น การใช้ความถนัดในธุรกิจแปรรูปอาหารจับตลาดมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล เป็นต้น ตลาดอาเซียนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ไทยยังได้เปรียบในการสร้างความเข้มแข็งก่อนการรวมตลาดจะก้าวไปสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้นเช่น ASEAN+3 ซึ่งจะต้องเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นต่อไป

 
 สมัครสมาชิก เพื่อดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ