Grexit (Greece Exit): การออกจากกลุ่มยูโรโซนของกรีซ
คำว่า “Grexit” นี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 โดยนาย วิลเล็ม บุยเตอร์ (Willem Buiter) และนาย อีบราฮิม ราห์บารี (Ebrahim Rahbari) หัวหน้านักวิเคราะห์ของสถาบันการเงิน ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) โดยคำว่า “Grexit” ย่อมาจาก Greece Exit หรือความเป็นไปได้ในการออกจากกลุ่มยูโรโซนของกรีซ ซึ่งหมายถึง การยกเลิกการใช้สกุลเงินยูโรในกรีซ แล้วกลับไปใช้สกุลเงินเดิมซึ่งก็คือ ดรัคมา (Drachma) โดยกรีซนั้นมีการใช้ดรัคมาเป็นเงินสกุลหลักของประเทศจนถึงปี ค.ศ. 2001 สองปีหลังจากการก่อตั้งสหภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของยุโรป (Economic and Monetary Union of the European Union) และการประกาศใช้เงินยูโรเป็นครั้งแรก ซึ่งคำๆนี้เริ่มมีการถูกใช้อย่างแพร่ในระยะหลังเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานภาพทางการเมืองและสังคมของกรีซ ทำให้ผู้คนหยิบยกประเด็นการยกเลิกใช้สกุลเงินยูโรแล้วหันกลับไปใช้สกุลเงิน ดรัคมา แทนมาโต้เถียงกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ทว่าการออกจากกลุ่มยูโรโซนนี้ไม่ได้หมายความว่ากรีซต้องออกจากสหภาพยุโรปแต่อย่างใด
นนทกร เทิดทูลทวีเดช
เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2015
“After spending almost six months failing to reach an agreement on an aid bailout, Greece’s creditors say they have prepared a detailed scenario for a so-called ‘Grexit’, should the country leave the euro single currency.” ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters)
|
Grexit คืออะไร?
คำว่า “Grexit” นี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 โดยนาย วิลเล็ม บุยเตอร์ (Willem Buiter) และนาย อีบราฮิม ราห์บารี (Ebrahim Rahbari) หัวหน้านักวิเคราะห์ของสถาบันการเงิน ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) โดยคำว่า “Grexit” ย่อมาจาก Greece Exit หรือความเป็นไปได้ในการออกจากกลุ่มยูโรโซนของกรีซ ซึ่งหมายถึง การยกเลิกการใช้สกุลเงินยูโรในกรีซ แล้วกลับไปใช้สกุลเงินเดิมซึ่งก็คือ ดรัคมา (Drachma) โดยกรีซนั้นมีการใช้ดรัคมาเป็นเงินสกุลหลักของประเทศจนถึงปี ค.ศ. 2001 สองปีหลังจากการก่อตั้งสหภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของยุโรป (Economic and Monetary Union of the European Union) และการประกาศใช้เงินยูโรเป็นครั้งแรก ซึ่งคำๆนี้เริ่มมีการถูกใช้อย่างแพร่ในระยะหลังเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานภาพทางการเมืองและสังคมของกรีซ ทำให้ผู้คนหยิบยกประเด็นการยกเลิกใช้สกุลเงินยูโรแล้วหันกลับไปใช้สกุลเงิน ดรัคมา แทนมาโต้เถียงกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ทว่าการออกจากกลุ่มยูโรโซนนี้ไม่ได้หมายความว่ากรีซต้องออกจากสหภาพยุโรปแต่อย่างใด
วิกฤติหนี้กรีซเริ่มก่อตัวเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว แต่กระแสของการออกจากกลุ่มยูโรโซนเริ่มมารุนแรงขึ้นในระยะหลัง โดยความเสี่ยงของ Grexit เพิ่มสูงขึ้น เมื่อการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้ (Troika) และรัฐบาลของนาย อเลกซิส ซิปรัส (Alexis Tsipras) ไม่ประสบผลสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสถานการณ์แย่ลงไปอีกเมื่อกรีซทำประชามติไม่ยอมรับเงื่อนไขเงินช่วยเหลือรอบใหม่ และการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจ จำกัดเงินช่วยเหลือสภาพคล่องฉุกเฉิน (Emergency Liquidity Assistance หรือ ELA) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา และเมื่อ ELA ถูกจำกัดวงเงินและเงินอัดฉีดรอบใหม่มาไม่ถึง กรีซจึงขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จึงทำให้กรีซจำเป็นต้องประกาศมาตรการควบคุมการเงิน (Capital Controls) อย่างเช่น ห้ามถอนเงินเกิน 60 ยูโรต่อวัน และห้ามโอนเงินต่างประเทศ เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่องของธนาคารเอกชน และหยุดการแห่ถอนเงินของประชาชน (Bank run) โดยมาตรการควบคุมการเงินของกรีซ นั้นส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศหยุดชะงัก ซึ่งในขณะที่เขียนบทความนี้การเจรจาระหว่างเจ้าหนี้และรัฐบาลกรีซได้ประสบผลสำเร็จแล้ว แต่กระนั้นก็ตามแม้ว่าการเจรจาช่วยเหลือครั้งนี้จะบรรลุข้อตกลงแต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ความเสี่ยงของ Grexit จะหมดไป เพราะความไม่แน่นอนของตัวแปรทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมกรีซจะยังคงมีอยู่
จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจกรีซ หากต้องออกจากยูโรโซนจริง?
หลังจากที่กรีซเปลี่ยนมาใช้เงินยูโรทำให้ ECB ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงินให้กลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซน มีอำนาจในการกำหนดนโยบายการเงินกรีซแทนธนาคารกลางกรีซ (Bank of Greece) ในทันที โดยตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าขณะนี้กรีซขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ทางออกหนึ่งที่รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้คือการยกเลิกใช้เงินยูโร และกลับไปใช้สกุลเงินที่ธนาคารกลางของกรีซสามารถกำหนดสภาพคล่องได้เอง เนื่องจากสภาพคล่องนั้นมีความสำคัญอย่างมากหากรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้าได้ รัฐบาลกรีซอาจจะต้องออกใบยอมรับสภาพหนี้ (IOU) มาอย่างไม่มีทางเลือกในระหว่างการเปลี่ยนถ่ายระบบการเงินจากยูโรไปดรัคมา เพื่อที่จะจ่ายเงินเดือน สวัสดิการข้าราชการ และภาระผูกพันอื่นๆ เพราะว่าการผลิตเงินมาเป็นจำนวนมากนั้นใช้เวลา แต่มีความเป็นไปได้สูงว่ามูลค่าของ IOU ต่อเงินยูโรจะลดลงอย่างมากเพราะว่าการขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลและความสำคัญของเงินยูโรในตลาดโลก การค้าขายระหว่างประเทศจะยังคงใช้เงินยูโร ซึ่งจะทำให้ผู้คนและเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในที่นั่งลำบากอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าหลังจากกรีซยกเลิกการใช้เงินยูโรเรียบร้อยแล้วนั้น กรีซจำเป็นต้องพิมพ์เงินดรัคมาออกมาอย่างมหาศาลเพื่อชำระหนี้ ซึ่งในระยะสั้นผลเสียที่ร้ายแรงจะตามมาหลายอย่าง อย่างแรก คือ ปรากฏการณ์เงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) ดังเช่น เหตุการณ์ในประเทศรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1992 ที่เงินเฟ้อเกิดมาจากระบอบการบริหารที่ผิดพลาด อย่างที่สองคือ การอ่อนค่าของค่าเงินอย่างฉับพลันทำให้หนี้กรีซแพงขึ้น ซึ่งอาจแปลว่ากรีซอาจผิดชำระหนี้ไปเรื่อยๆเหมือนหลายประเทศในอดีตเช่น ซิมบับเว ในปี ค.ศ. 2001 อย่างที่สามคือราคาที่แพงขึ้นของสินค้านำเข้าเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และอย่างสุดท้าย คือ การไม่ยอมรับเงินสกุลใหม่ของกรีซของร้านค้าเนื่องจากการขาดความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการรักษามูลค่าของค่าเงินใหม่ (Store of Value) อย่างไรก็ตาม การกลับมาใช้เงินดรัคมาอาจจะส่งผลดีในระยะยาวต่อเศรษฐกิจกรีซได้ เพราะว่าการที่ค่าเงินอ่อนจะทำให้สินค้าส่งออกของกรีซมีราคาถูก ส่งผลให้การส่งออกมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อการนำเข้าลดลงและการส่งออกเป็นไปได้ด้วยดี เงินทุนสำรองสะสมของกรีซจะมีมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทางออกของกรีซในระยะยาวเพื่อชำระหนี้สาธารณะอันมหาศาลได้
Grexit ส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศยูโรโซนมากน้อยแค่ไหน?
ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อยุโรปจะมีค่อนข้างจำกัด สิ่งที่น่ากังวลคือผลกระทบด้านจิตวิทยามากกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปจะอยู่ในวงแคบเนื่องจากเหตุผล 4 ประการดังนี้ เหตุผลประการแรกคือ ความพร้อมโดยรวมของ ECB ในการรับมือ ECB ออกมาประกาศว่า ยุโรปจะทำทุกวิถีทางในการรักษาความมั่นคงของค่าเงินยูโรจากผลกระทบของ Grexit ซึ่งสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและผู้บริโภค โดยเครื่องมือของ ECB มีการเตรียมความพร้อมมาตั้งต่อปี ค.ศ. 2012 มาตรการรองรับหลักอย่างแรกคือ การอัดฉีดสภาพคล่อง หรือ Quantitative Easing (QE) ซึ่งคือการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งของเอกชนและรัฐบาลของประเทศสมาชิกในวงเงิน 60 ล้านยูโรต่อเดือน อย่างที่สองคือ Outright Monetary Transactions (OMT) หรือเครื่องมือในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ถึง 3 ปีในตลาดรองเพื่อลดอัตราตอบแทน (Yield) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้การที่ยุโรปสามารถช่วยเหลือ ไอร์แลนด์และโปรตุเกส จากวิกฤติการเงินอย่างประสบความสำเร็จพิสูจน์ให้เห็นว่าโปรแกรมรับมือของ ECB นั้นมีประสิทธิภาพมากพอ
เหตุผลประการที่สองคือ การที่สัดส่วนหนี้กรีซส่วนใหญ่ไม่ได้มีเจ้าหนี้อยู่ที่ภาคเอกชน ผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ต่อภาคเอกชนจึงมีน้อยเพราะว่าหนี้กรีซที่ไปรวมตัวกันอยู่ที่ภาครัฐ (Official Sector) แทน ซึ่งหากดูในรูปที่ 1 หนี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีเจ้าหนี้เป็นภาครัฐบาลยูโรโซนกว่า 61% โดยธนาคารต่างชาติทั่วโลกถือหนี้กรีซเพียงแค่ 1% เทียบกับปี ค.ศ. 2011 ที่หนี้สาธารณะกรีซถือโดยธนาคารเอกชนของยุโรปถึง 10%
เหตุผลประการที่สาม คือ ขนาดที่เล็กของเศรษฐกิจกรีซ ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของยุโรปไม่มีความเกี่ยวโยงกับกรีซมากนัก เศรษฐกิจกรีซมีขนาดเพียงประมาณ 2% ของเศรษฐกิจยุโรปซึ่งมีความสำคัญค่อนข้างน้อย รวมทั้งการค้าขายระหว่างกรีซกับยุโรปยกเว้นไซปรัสที่มีมูลค่าไม่มาก โดยการส่งออกไปกรีซคิดเป็นแค่ประมาณ 0.5% ของการส่งออกของกลุ่มประเทศยูโรโซน เหตุผลสุดท้าย คือ ความพร้อมโดยรวมของเศรษฐกิจยุโรปในการรับมือต่อวิกฤติของประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะล้มตามกรีซเช่น อิตาลี สเปน หรือโปรตุเกส จีดีพีของประเทศเหล่านี้เริ่มส่งสัญญาณที่ดีต่อผู้บริโภค การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ของประเทศเหล่านี้เป็นบวก ดังที่รูปที่ 2 ได้แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสเปนและอิตาลีกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี เหตุผลทั้ง 4 ที่ได้กล่าวไปแล้วแสดงให้เห็นว่า แม้การออกจากการใช้ยูโรเป็นเงินสกุลหลักของกรีซจะส่งผลกระทบมากแต่ยุโรปและประเทศสมาชิกก็พร้อมรับมือเพื่อที่จะจำกัดความไม่แน่นอนให้อยู่ในวงแคบ
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผลกระทบที่น่ากังวลต่อยุโรปน่าจะให้น้ำหนักไปที่เรื่องจิตวิทยามากกว่า หากกรีซตัดสินใจออกจากยูโรโซนจริงๆ คาดว่าปัจจัยต่างๆ เช่น ความพึงพอใจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสกุลเงินยูโรและสหภาพยุโรปจะลดลง ตลาดหุ้นจะมีความปั่นป่วน ผู้คนอาจขายสินทรัพย์ยูโรทิ้งแล้วหนีไปหาสกุลเงินที่มีความมั่นคงกว่าเช่น เยน และ ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดการแข็งค่าของค่าเงินอื่นเทียบกับยูโรได้ ภาวการณ์ขาดแคลนสินเชื่ออย่างรุนแรง (Credit Crunch หรือ Credit Squeeze) จะเกิดขึ้นในหลายประเทศเพราะว่าธนาคารต่างๆจะมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของผู้กู้ยืมซึ่งจะส่งผลไปถึงความสามารถในการชำระเงินกู้ยืมได้ รวมทั้งในอนาคตการต่อต้านการช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาด้านการเงินอาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีกรีซ ซึ่งภาระความช่วยเหลือตกไปอยู่ที่ประชาชนในประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเช่น เยอรมนี นอกเหนือไปจากนี้ในประวัติศาสตร์กว่า 16 ปีของสหภาพทางการเงิน ไม่เคยมีประเทศไหนเคยออกจากการเป็นสมาชิกมาก่อน สนธิสัญญาของกลุ่มยูโรโซนไม่มีกลไกและวิธีการทางกฎหมายในการขับประเทศสมาชิกออกจากกลุ่มเพราะเป็นที่เข้าใจกันว่า ความเป็นสมาชิกของยูโรโซนนั้นไม่สามารถยกเลิกได้ ซึ่งหากในท้ายที่สุดแล้ว Grexit เกิดขึ้นจริงๆ นอกจากผลกระทบทางจิตวิทยาจะทำให้ความน่าเชื่อถือของสหภาพการเงินและเงินยูโรลดลงแล้ว ผู้คนอาจมองว่ายูโรโซนเป็นแค่พื้นที่ที่มีการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ (Fixed Exchange Rate Regime) ไม่ใช่สหภาพการเงินที่แข็งแกร่งอีกต่อไป
วิกฤติกรีซนี้จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง?
ผลกระทบโดยตรงของ Grexit ต่อเศรษฐกิจไทยนั้นมีจำกัด ความเกี่ยวโยงทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างไทยและกรีซมีไม่มาก การลงทุนระหว่างประเทศมีเพียงเล็กน้อย จากข้อมูลปี ค.ศ. 2014 การส่งออกไปกรีซคิดเป็นเพียงประมาณ 0.06% ของการส่งออกไทย กรีซนำเข้าจากไทยเพียง 0.21% ของการนำเข้าทั้งหมด นักท่องเที่ยวกรีซมาประเทศไทย 18,000 คน จากทั้งหมด 24 ล้านคนหรือคิดเป็นเพียง 0.07% ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามูลค่าการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศมีน้อยเกินกว่าที่ Grexit จะส่งผลกระทบรุนแรงโดยตรงได้มการท่องเที่ยว (Department of Tourism)
ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยควรเฝ้าติดตาม น่าจะเป็นผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจยุโรปมากกว่า เนื่องจากยุโรปถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยไทยส่งออกไปยุโรปกว่า 9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งวิกฤติหนี้กรีซรอบนี้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ยังเปราะบาง และความผันผวนของเงินยูโรเนื่องจากความไม่แน่นอนในตลาดการเงิน รวมถึงมาตรการ QE ของ ECB ที่จะกดดันให้ค่าเงินยูโรอ่อนตัวลง การอ่อนค่าของเงินยูโรนี้จะทำให้บาทไทยแข็งค่าและกระทบการส่งออกเนื่องจากสินค้าไทยจะมีราคาสูงขึ้น นอกเหนือไปจากนี้ผลกระทบทางจิตวิทยาของนักลงทุนจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความปั่นป่วน นักลงทุนไทยควรเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นหลักทั่วโลก
โดยสรุปแล้วความเป็นไปได้สำหรับ Grexit หรือการออกจากกลุ่มยูโรโซนของกรีซจะยังคงอยู่ต่อไปแม้ว่าการเจรจาจะประสบผลสำเร็จแล้ว ซึ่งหาก Grexit เกิดขึ้นจริงๆ มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจกรีซจะหยุดชะงักและหดตัวในระยะสั้นตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ผลกระทบของกรีซต่อประเทศไทยจะมีอยู่ในวงจำกัดเพราะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยตรงมีน้อย อย่างไรก็ตามแม้ว่า ECB จะมีความพร้อมทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติในการรับมือกับ Grexit ธุรกิจไทยก็ยังควรที่จะเฝ้าระวังผลกระทบทางอ้อมจากยุโรปเพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับมืออย่างเหมาะสมต่อไป