SHARE
SCB EIC ARTICLE
16 กรกฏาคม 2015

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแบบปริมาณลูกโซ่ (Gross Domestic Product-Chain Volume Measures)

สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ควรทราบในเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) คือ ผลรวมของมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง คำว่า “ขั้นสุดท้าย” หมายความว่าไม่รวมมูลค่าของวัตถุดิบและปัจจัยอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ เช่น การผลิตขนมปัง เราจะนับมูลค่าของขนมปังที่ทำเสร็จแล้วเท่านั้น ไม่นับรวมแป้ง และเครื่องมือที่ใช้ในการทำขนมปัง เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ว GDP จะวัดเป็นรายไตรมาสหรือรายปี ตัวอย่างเช่น GDP ของไทยในปี 2557 เท่ากับ 13.1 ล้านล้านบาท หมายความว่าในปี 2557 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่าการผลิตสินค้าทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการรวมทั้งสิ้น 13.1 ล้านล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ นอกเหนือจากการเป็นตัวชี้วัดมูลค่าการผลิตดังกล่าวแล้ว GDP ยังสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดรายได้ของคนในประเทศ รวมไปถึงรายจ่ายในการซื้อสินค้าและบริการของคนในประเทศได้อีกด้วย

โดย: ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2015

 

94487905.jpg 

 

“สศช. ได้ริเริ่มโครงการปรับปรุงวิธีการประมวลผลรายได้ประชาชาติมาตั้งแต่ปี 2548 โดยปรับปรุงทั้งด้านการเพิ่มเติมความครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น การปรับปรุงเครื่องชี้วัด และการเปลี่ยนวิธีการคํานวณรายได้ประชาชาติที่แท้จริง จากวิธีปีฐานคงที่ซึ่งใช้ราคาปี 2531 เป็นปีฐานในอนุกรมเก่า เป็นการวัดแบบปริมาณลูกโซ่ (Chain Volume Measures: CVM) ในอนุกรมใหม่”

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

 

ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ GDP

สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ควรทราบในเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) คือ ผลรวมของมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง คำว่า “ขั้นสุดท้าย” หมายความว่าไม่รวมมูลค่าของวัตถุดิบและปัจจัยอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ เช่น การผลิตขนมปัง เราจะนับมูลค่าของขนมปังที่ทำเสร็จแล้วเท่านั้น ไม่นับรวมแป้ง และเครื่องมือที่ใช้ในการทำขนมปัง เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ว GDP จะวัดเป็นรายไตรมาสหรือรายปี ตัวอย่างเช่น GDP ของไทยในปี 2557 เท่ากับ 13.1 ล้านล้านบาท หมายความว่าในปี 2557 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่าการผลิตสินค้าทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการรวมทั้งสิ้น 13.1 ล้านล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ นอกเหนือจากการเป็นตัวชี้วัดมูลค่าการผลิตดังกล่าวแล้ว GDP ยังสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดรายได้ของคนในประเทศ รวมไปถึงรายจ่ายในการซื้อสินค้าและบริการของคนในประเทศได้อีกด้วย

 

ในการวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปี 2557 เราวัดโดยใช้ GDP ราคาคงที่ โดยคำนวณจากปริมาณสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นได้ในปีนั้น ๆ คูณกับราคาสินค้าและบริการในปี 2531 ทำให้ตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้นเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับผลของราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เราเรียก GDP ราคาคงที่นี้ว่า GDP ที่แท้จริง (Real GDP) โดยเราใช้อัตราการเปลี่ยนแปลงของ Real GDP ในการวัดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวมีข้อเสียคือ การใช้ราคาสินค้าและบริการในปี 2531 เป็นฐานในการคำนวณนั้นอาจไม่เหมาะสมกับโครงสร้างของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2531 ราคาของโทรศัพท์มือถือโนเกียอยู่ที่ราว 1 แสนบาท ซึ่งแตกต่างจากราคาโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ราคาไม่เกิน 3 หมื่นบาทและยังมีคุณสมบัติเป็น Smart phone อีกด้วย ดังนั้น การคำนวณ Real GDP จากราคาที่สูงในปี 2531 อาจทำให้มีมูลค่าสูง (หรือต่ำ) กว่าความเป็นจริงได้หากปีที่คำนวณ Real GDP อยู่ห่างจากปีฐานมาก

 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแบบปริมาณลูกโซ่ หรือ GDP-Chain Volume Measures (GDP-CVM) คืออะไร?

GDP-CVM คือ การคำนวณ Real GDP อีกวิธีหนึ่งซึ่งปัจจุบันนิยมใช้อย่างแพร่หลายในประเทศพัฒนาแล้ว นั่นคือการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายด้วยราคาเฉลี่ยของปีก่อนหน้า เพื่อหา “ปริมาณ” การผลิตสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้น ๆ โดยทำเป็นดัชนีปริมาณที่ใช้ราคาปีก่อนหน้าถ่วงน้ำหนัก1 ซึ่งการคำนวณโดยวิธีนี้เป็นการเปลี่ยนปีฐานราคาสินค้าและบริการทุก ๆ ปี ทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจในแต่ละปีมีความทันสมัยเนื่องจากห่างจากปัจจุบันเพียง 1 ปีเท่านั้น และทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความถูกต้องมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ฐานราคาที่เปลี่ยนแปลงทุกปี ทำให้เราไม่สามารถเปรียบเทียบตัวเลขการเติบโตของ GDP ในแต่ละปีได้ ดังนั้น จึงต้องมีการนำดัชนีปริมาณในแต่ละปีมาเชื่อมโยงกันให้เป็นข้อมูลอนุกรมชุดเดียวกันจึงจะสามารถเปรียบเทียบการเติบโตในแต่ละปีได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราเรียกวิธีการนี้ว่า วิธีปริมาณลูกโซ่2 (Chain Volume measures: CVM) ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เริ่มต้นเผยแพร่ GDP-CVM รายไตรมาสอย่างเป็นทางการในการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 2558 ในเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา แทนการใช้ Real GDP แบบเดิม

 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ GDP ที่ สศช. ได้จัดทำขึ้นใหม่มีอะไรบ้าง?

นอกจาก สศช. ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณ Real GDP ใหม่ด้วยวิธี CVM แล้ว ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล GDP ที่คำนวณจากราคาประจำปี (Nominal GDP) ด้วยเช่นเดียวกัน โดยสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับข้อมูล GDP ใหม่มีดังนี้

 

ประการแรก คือ มูลค่าของ GDP ณ ราคาประจำปี เพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูล GDP ชุดเก่ามีมูลค่าของ GDP ณ ราคาประจำปี ในปี 2557 อยู่ที่ระดับ 12.1 ล้านล้านบาท แต่สำหรับ GDP ณ ราคาประจำปี ชุดใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 13.1 ล้านล้านบาท ในปีเดียวกัน ส่งผลให้ให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 5,445 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 6,038 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ทั้งนี้ เนื่องจาก สศช. ได้มีการเพิ่มเติมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้มีความครบถ้วนมากขึ้น เช่น บริการสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-Banks) บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ องค์กรไม่แสวงหากำไร บริการด้านหอพัก ประปาเอกชน และบริการด้านการขนส่ง อาทิ รถตู้เอกชน จักรยานยนต์รับจ้าง เครื่องบินเช่าเหมาลำ บริการจัดส่งสินค้า บริการโทรทัศน์ทางสายเคเบิล บริการถ่ายทอดสัญญาณทางดาวเทียม และบริการระบบสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น2  

 

ประการที่สอง มูลค่าของ GDP ที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราส่วนที่เทียบต่อ GDP ลดลงทั้งหมด ตัวอย่างเช่น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2557 จากเดิมที่อยู่ระดับ 85.9% ของ GDP ชุดเก่า ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 79.4% ของ GDP ชุดใหม่ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงจาก 46.2% เหลือ 42.8% ในเดือนมีนาคม 2558 รวมไปถึงดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2557 ที่เกินดุลลดลงจาก 3.5% เหลือ 3.3% ของ GDP3 ตามลำดับ สัดส่วนที่ลดลงดังกล่าวทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนดูดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าครัวเรือนมีภาระหนี้ลดลงแต่อย่างใด ในส่วนของหนี้สาธารณะก็เช่นเดียวกัน

 

ประการที่สาม สัดส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดย GDP ภาคบริการเพิ่มสูงขึ้นจาก 56% ของ GDP ชุดเดิม มาอยู่ที่ 62% ของ GDP ชุดใหม่ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมีสัดส่วนลดลง (รูปที่ 1)

 

รูปที่ 1: สัดส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง
 

1.jpg


ที่มา: การวิเคราะห์ของ EIC จากข้อมูลของ สศช.

 

ประการที่สี่ อัตราการเติบโตของ GDP-CVM มีความผันผวนน้อยกว่า Real GDP แบบเดิม โดยอัตราการเติบโตของ GDP-CVM นั้นต่างกับ Real GDP แบบเดิม แต่ทิศทางการเคลื่อนไหวเป็นไปในทางเดียวกัน และมีความผันผวนลดลงเล็กน้อยส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนภาคบริการที่เพิ่มสูงขึ้น และภาคอุตสาหกรรมมีขนาดเล็กลง (รูปที่ 2)

 

รูปที่ 2: อัตราการเติบโตของ GDP-CVM มีทิศทางการเคลื่อนไหวเป็นไปในทางเดียวกันกับ Real GDP แบบเก่า
 

2.jpg


ที่มา: การวิเคราะห์ของ EIC จากข้อมูลของ สศช.

 

ข้อควรระวังในการใช้ GDP-CVM แทน Real GDP แบบเดิมมีอะไรบ้าง?

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ GDP-CVM ไม่สามารถนำแต่ละองค์ประกอบของ GDP มาบวกกันให้เท่ากับตัวเลข GDP-CVM โดยรวมได้ (Non-additive property) ตัวอย่างเช่น หากเราบวก GDP ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการเข้าด้วยกันแล้วจะไม่เท่ากับ GDP-CVM รวม ทั้งนี้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการคำนวณ GDP-CVM เกิดจากการสร้างดัชนีปริมาณขึ้นมาในแต่ละปีและนำมาเชื่อมโยงเป็นดัชนีลูกโซ่ จึงจำเป็นต้องทำกระบวนการดังกล่าวในทุก ๆ องค์ประกอบของ GDP ซึ่งจะได้ดัชนีปริมาณลูกโซ่ของทุก ๆ องค์ประกอบ หลังจากนั้นจึงคำนวณกลับจากเลขดัชนีไปเป็นมูลค่า GDP ที่มีหน่วยเป็นบาท จะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวทำให้ไม่สามารถนำแต่ละองค์ประกอบมาบวกกันให้เท่ากับ GDP โดยรวมได้ อย่างไรก็ตาม หากใช้ GDP ณ ราคาปัจจุบันจะสามารถบวกกันได้ตามปกติ เนื่องจากไม่ได้ผ่านการคำนวณเป็นดัชนีเหมือน GDP-CVM

 

นอกจากนี้ การมีคุณสมบัติ Non-additive ทำให้ไม่สามารถหาแหล่งที่มาของการเติบโตของ GDP แบ่งแยกเป็นองค์ประกอบได้ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ GDP-CVM ที่เติบโต 3% ในไตรมาสแรกของปี 2558 นั้นไม่สามารถแบ่งว่าการบริโภค การลงทุน และการส่งออก เป็นสัดส่วนเท่าไรในการเติบโต 3% นี้ ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลต่อการพยากรณ์ GDP ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่พยากรณ์แบบแยกองค์ประกอบของ GDP แล้วนำมาประมวลผลว่า GDP จะเติบโตได้กี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ผู้ใช้ตัวเลข GDP-CVM อาจต้องมีสมมติฐานหรือวิธีการทางสถิติโดยใช้วิจารณญาณของผู้ใช้ข้อมูลนั้นเอง ซึ่งอาจทำให้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมีความคลาดเคลื่อนกันได้

 

โดยสรุปแล้ว การเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณ Real GDP ทำให้เราได้ค่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้นและมีความเป็นมาตรฐานสากลทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ GDP-CVM ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูล GDP-CVM จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 


 

1 คำนวณจากสูตรดัชนีปริมาณของ Laspeyres นั่นคือ โดยที่ P คือราคาสินค้า, Q คือ ปริมาณสินค้าที่ผลิต, n คือ ปีที่คำนวณ, n-1 คือ ปีก่อนหน้าของปีที่คำนวณ ซึ่งเป็นปีฐานในการคำนวณ GDP-CVM ของปีที่ n

2 หากผู้อ่านสนใจการคำนวณอย่างละเอียดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nesdb.go.th ข้อมูลย้อนหลังผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ รายไตรมาสแบบปริมาณลูกโซ่ (QGDP-CVM) อนุกรม พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๕๗ ของ สศช.

3 จากแถลงข่าวของ สศช. เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2558 และแนวโน้มปี 2558 วันที่ 18 พฤษภาคม 2558

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ